วันก่อนได้มีโอกาสอ่านบทความของ Harvard Business Review ชื่อ How VC John Doerr Sets (and Achieves) Goals เขียนโดย Daniel McGinn เห็นว่าน่าสนใจ เลยเอาไปสรุปให้ฟังใน Podcast Nopadol’s Story และเห็นว่าน่าจะมีประโยชน์ เลยขอเขียนสรุปใน Blog นี้ด้วยเลยละกันครับ
ก่อนอื่นเท้าความสักนิดครับว่า John Doerr คือใคร
John Doerr คือผู้บริหารที่เคยได้ทำงานกับ Andy Grove ที่เป็น CEO ของบริษัท Intel ที่ได้เริ่มเอาระบบ OKRs มาใช้ หลังจากนั้น John Doerr ก็ออกมาตั้งบริษัทเป็น Venture Capitalist ที่ได้เอาเงินไปลงทุนใน Startup ต่าง ๆ ซึ่งรวมถึง Intuit Amazon Google Twitter และก็ได้เอาระบบ OKRs ไปใช้กับ Startup เหล่านี้ จนคนทั่วไปรู้จักระบบ OKRs นี้
John Doerr ยังได้เขียนหนังสือชื่อ Measure What Matters ออกมา เพื่อที่จะเล่าให้ฟังว่า OKRs คืออะไร แล้วเอาไปใช้อย่างไร เอาล่ะครับ พอจะรู้จัก John Doerr กันพอสมควรแล้ว มาดูคำถาม คำตอบ ในบทสัมภาษณ์ของ John Doerr จากบทความดังกล่าวดู ผมสรุปให้คร่าว ๆ แล้วกันนะครับ ไม่ได้แปลมาตรง ๆ
ทำไมถึงได้เขียนหนังสือเล่มนี้
John Doerr เล่าให้ฟังว่า เขาได้เข้ามาใน Silicon Valley ในยุค 1970s และได้ร่วมงานกับ Andy Grove ซึ่งสอนให้เขารู้จักกับ OKRs หลังจากนั้นเขาได้ลาออกไปในปี 1980 เพื่อเป็น Venture Capitalist ที่ได้เอาเงินไปลงทุนใน Startup อื่น ๆ และเขาได้เอาแนวคิด OKRs ไปใช้ในองค์กรเหล่านั้น และเห็นว่ามันเกิดประโยชน์ เขาเลยอยากเขียนหนังสือเพื่อเล่าเรื่องราวเหล่านี้ให้ฟัง
แล้ว OKRs ทำงานอย่างไร
OKRs คือ Objective and Key Results โดย Objective คือสิ่งที่เราต้องการทำให้สำเร็จ และ Key Results จะบอกว่าเราจะทำสิ่งนั้นได้อย่างไร โดย Objective นั้น จะมีอายุยาวกว่า (คือเรามักจะไม่เปลี่ยนบ่อย) และจะต้องเขียนให้สร้างแรงบันดาลใจ สำหรับ Key Results จะต้องท้าทาย และวัดผลได้ชัดเจน และมีเวลากำหนด และมีจำนวนไม่มากนัก
องค์กรอย่าง Google Intuit หรือ Gates Foundation ก็ต่างใช้ OKRs แล้วทำไม องค์กรอื่น ๆ จึงไม่ยอมใช้
John Doerr บอกว่า มันยากอยู่เหมือนกันสำหรับบางองค์กรที่จะเปลี่ยนวัฒนธรรม ที่จะยอมรับเรื่องความโปร่งใส และ ความรับผิดชอบ และหากองค์กรใหญ่ ๆ มาก ๆ การเปลี่ยนแปลงแบบนั้นต้องใช้เวลา John Doerr บอกว่าบางองค์กร เขาจะทำเป็น Pilot Project ก่อน และที่สำคัญ หากผู้บริหารไม่ได้มีความสนใจอย่างจริงจัง ก็อย่าเริ่มทำเลย
ตัวอย่างในหนังสือมักจะมีแต่ Startup แล้วองค์กรทั่วไปสามารถเอา OKRs ไปใช้ได้ไหม
John Doerr บอกว่าได้ โดยเขาได้ลงทุนใน Startup ที่ชื่อว่า BetterWorks ที่เป็นบริษัทที่ช่วยบริษัทอื่นในการทำ OKRs เขายกตัวอย่างองค์กรอย่าง BMW หรือ Schneider Electric ที่ก็ได้ใช้ OKRs หรือเคยได้ยินว่าบริษัทอย่าง Whole Foods ก็ใช้ OKRs เช่นกัน
ทำไม OKRs ถึงควรจะถูกแยกออกจากระบบการให้ผลตอบแทนและการเลื่อนตำแหน่ง
ในความคิดเห็นของ John Doerr นั้น การเอา OKRs ไปผูกติดกับเรื่องผลตอบแทน จะทำให้คนไม่กล้าตั้งเป้าหมายที่ท้าทาย ดังนั้นจึงไม่ควรเอา OKRs ไปผูกติดกับเรื่องผลตอบแทน
มีหลายองค์กรเลยที่ตั้งวัตถุประสงค์ระดับองค์กร แต่ไม่ถ่ายทอดลงไปในระดับบุคคล
John Doerr เห็นว่าการถ่ายทอดลงไปในระดับบุคคลสำคัญมาก John Doerr เล่าให้ฟังถึงประโยชน์ 5 ประการ ที่เรียกตัวย่อว่า FACTS ดังต่อไปนี้
F = Focus พนักงานจะทราบว่าเรื่องใดเป็นเรื่องที่สำคัญจริง ๆ
A = Alignment เป้าหมายของแต่ละคนจะสอดคล้องกับเป้าหมายขององค์กร
C = Commitment ทุกคนจะเห็น OKRs ของแต่ละคน ดังนั้นทุกคนจะมีความพยายามที่จะทำให้สำเร็จมากขึ้น
T = Tracking the progress OKRs จะทำให้ทุกคนเห็นความก้าวหน้าของงานที่ทำ
S = Stretching การตั้งเป้าหมายจะทำได้ท้าทาย
ตอนลงทุนใน Startup การใช้ OKRs ถือว่าเป็นปัจจัยที่ John Doerr ใช้พิจารณาว่าจะลงทุนใช่หรือไม่
John Doerr สนับสนุนเป็นอย่างยิ่งที่จะให้ Startup ที่เขาลงทุนใช้ OKRs แต่ก็ไม่ถึงกับบังคับให้ทำ
OKRs ต่างจากระบบ Agile อย่างไร
John Doerr บอกว่า Agile System เป็นระบบการทำงานในแต่ละวัน แต่ OKRs เหมือนเป็นระบบ Check In รายสัปดาห์มากกว่า
ได้ใช้ OKRs ในชีวิตประจำวันหรือไม่
John Doerr บอกว่า OKRs สามารถนำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้เช่นกัน เขายกตัวอย่าง OKRs ของเขา คือการมากินข้าวเย็นกับครอบครัวอย่างน้อย 20 วันต่อเดือน ซึ่งเขามักจะทำได้แค่ 70% คือประมาณ 14-15 วันเท่านั้น แต่เขายืนยันว่าเราสามารถนำมาใช้ได้
นี้คือบทสัมภาษณ์ของ John Doerr ที่เป็นคนที่ได้รับการยอมรับว่าเป็น Guru ทางด้าน OKRs คนหนึ่งเลยทีเดียว ก็เลยขออนุญาตนำมาสรุปให้อ่านดู เผื่อเป็นประโยชน์นะครับ
Credit บทสัมภาษณ์จาก Harvard Business Review เรื่อง How VC John Doerr Sets (and Achieves) Goals,
Credit รูปภาพจาก https://hbr.org/2018/05/how-vc-john-doerr-sets-and-achieves-goals (HBR STAFF/STEVE JENNINGS / STRINGER/GETTY IMAGES)
อ่านบทความอื่น ๆ ได้ที่ www.NopadolStory.com หรือเข้าร่วมกลุ่ม Line@ ได้ที่ https://line.me/R/ti/p/%40nopadolrompho หรือฟัง Podcast Nopadol’s Story ได้ที่ https://nopadolstory.podbean.com/
No comment yet, add your voice below!