ก่อนอื่นสำหรับท่านที่ไม่คุ้นเคย OKRs ย่อมาจากคำว่า Objectives and Key Results เป็นระบบการตั้งเป้าหมายที่โฟกัสในเรื่องที่สำคัญที่บริษัทระดับโลกอย่าง Google และอีกหลายแห่งนำมาใช้
หลายองค์กรในไทยก็นำมาใช้ แต่ก็มีความหลากหลาย บางแห่งก็เอาไปใช้แล้วแยกแยะไม่ออกว่ามันต่างอย่างไรกับตัววัดเดิม ๆ ที่เรามักจะเรียกว่า KPIs
ตรงนั้นขอไม่แตะแล้วกันนะครับ เพราะเคยเขียนถึงไปแล้ว เอาเป็นว่า ถ้าเอาไปใช้เหมือนเดิม มันก็ได้ผลเหมือนเดิมนั่นแหละ
แต่ที่อยากจะพูดถึงคือสมมุติว่าเราเอาไปใช้แบบไม่ได้ซ้ำเดิม แต่พอนำไปช้แล้ว คนไม่ค่อยสนใจ พูดง่าย ๆ ว่าไม่สามารถจูงใจพนักงานได้เลย คำถามคือจะทำอย่างไรดี หรือในอีกมุมมองหนึ่ง ตัวเราซึ่งเป็นพนักงานนี่แหละ เขียนแล้วก็เหมือนทำการบ้านส่งครู เขาให้เขียนก็เขียนไป อยากจะเลิกทำซะด้วยซ้ำ เราจะทำอย่างไรดี
เพื่อตอบคำถามนี้ เรามาวิเคราะห์กันที่รากของปัญหาก่อน เวลาที่เรารู้สึกอึดอัดใจกับการทำอะไรสักอย่าง มันมักจะมีอยู่ 2 สาเหตุหลักคือ ทำไม่เป็น กับ ไม่อยากทำ
ถ้าทำไม่เป็น อันนี้แก้ง่ายกว่าครับ ถ้าเป็นผู้บริหาร รีบหาคนมาสอนเขาเลยครับ และเรื่อง OKRs ไม่ใช่เรื่องยากที่จะทำให้ทุกคนเข้าใจได้ ถ้าเป็นพนักงาน ก็รีบหาความรู้ หรือถามผู้รู้เลยครับว่า OKRs คืออะไร ทำอย่างไร
แต่อันที่ยากกว่าคือรู้แหละว่า OKRs คืออะไร เขียนอย่างไร แต่ไม่อยากทำ น่าเบื่อ ยิ่ง OKRs จะไม่ได้ผูกโยงกับการประเมินผลพนักงาน เพื่อขึ้นเงินเดือน ยิ่งทำให้คนรู้สึกว่า ทำไปก็เท่านั้น เรื่องอะไรจะทำ เหนื่อยเปล่าอะไรประมาณนั้น
อันนี้ผมขอเสนอแนวทางการแก้ปัญหา 3 แนวทาง ไม่จำเป็นต้องเลือกนะครับ ทำพร้อม ๆ กันได้จะดีมาก ทั้งในมุมของผู้บริหารและในมุมของพนักงานนะครับ
1. ให้พนักงานเลือกทำ OKRs ในงานที่เขาสนใจ
อันนี้จะแก้ปัญหาเขาได้อย่างตรงจุดสุด ๆ ครับ คือถ้าผู้บริหารไปบังคับว่าเขาต้องทำเรื่องนั้นนะ เรื่องนี้นะ ถ้ามันไม่ใช่สิ่งที่เขาอยากทำ มันก็จบตรงนั้นครับ เขาก็เขียนตามที่ผู้บริหารสั่งแหละ
ในฐานะของผู้บริหารเราต้องเปิดกว้างให้เขาได้เลือกทำในสิ่งที่เขาอยากทำ มาถึงตรงนี้บางท่านอาจจะบอกว่า เปิดกว้างได้อย่างไร เราจ้างเขามา เขาก็ต้องทำงานตามที่เราสั่งให้เขาทำสิ ใช่ครับ แต่ถ้าจะสั่ง ก็อย่าเอามาใช้กับ OKRs เราจะตั้งเป็น KPIs ผูกกับการประเมินผลการทำงานของพนักงานไปเลยก็ได้ แต่ถ้าจะให้เป็น OKRs เราต้องไม่สั่งครับ
ในมุมของพนักงานบ้าง ถ้าผู้บริหารเปิดโอกาสให้เราตั้ง OKRs เองแล้ว เราต้องเลือกงานที่เราอยากทำครับ ใช่ครับ มันคงเลือกงานในฝันได้ไม่ทั้งหมดหรอก แต่พยายามคิดหน่อยครับว่าในตำแหน่งหน้าที่ของเรา เราอยากทำอะไรบ้าง ที่ทำแล้วเราชอบ เพราะอย่าลืมว่า OKRs มันไม่ได้ถูกนำมาใช้ประเมินผลการปฏิบัติงานของเราโดยตรง ถ้าเราไปเลือกสิ่งที่เราไม่ชอบทำ เราจะยิ่งไม่อยากทำมากยิ่งขึ้น ตรงนี้เราต้องเลือกสิ่งที่เราชอบ เพราะมันจะเป็นรางวัลให้กับการทำ OKRs ของเราเลย
2. พัฒนาความสามารถของพนักงานในเรื่องนั้นให้ดีขึ้น
ถ้าเราเลือกสิ่งที่เราชอบได้แล้ว ผมแนะนำให้ลองหาทางพัฒนาตัวเราให้เก่งในเรื่องนั้นให้สุด ๆ เลยครับ ถ้าเป็นผู้บริหารก็พยายามหาคอร์สมาสอนให้เขาทำเรื่องนั้นได้ดี ถ้าในมุมของพนักงาน ก็ลองเสาะหาหนทางที่จะทำสิ่งนั้นให้ดีสุด ๆ
หรือเชื่อไหมครับ ถึงแม้ว่าเราจะไม่ได้ชอบเรื่องนั้นมากนัก แต่เราเลือกมาแล้วว่าจะเป็น OKRs ของเรา ลองพัฒนาทักษะของตัวเองในเรื่องนั้นดู เวลาที่เราเก่งเรื่องไหน เราจะเริ่มชอบเรื่องนั้นเองแหละครับ
3. เชื่อมโยงให้ได้ว่าสิ่งที่พนักงานทำนั้นมันทำให้ชีวิตใครดีขึ้น
บางอย่างในชีวิต ถึงแม้ว่าเราจะไม่ชอบเท่าไร เราจะไม่เก่งเท่าไร แต่เราก็ยังมีพลังทำสุดใจ เพราะเรารู้ว่าเราทำไปเพื่ออะไร
ลองนึกถึงภาพคุณพ่อคุณแม่ที่เลี้ยงลูกเล็ก ๆ ดูได้ครับ ถามว่าชอบไหมครับ ที่ต้องอดหลับอดนอนมากล่อมลูกตอนกลางคืน ไม่ชอบหรอกครับ เพราะเหนื่อยจะแย่อยู่แล้ว ถามว่าเราเก่งเรื่องเลี้ยงลูกไหมครับ ไม่เลยครับ ทุกคนเป็นพ่อแม่มือใหม่กันทั้งสิ้น แต่เชื่อว่าพ่อแม่ทุกคนน่าจะจำได้ว่าเราทำสิ่งนี้เป็นปี ๆ ได้ เพราะเรารู้ว่าเราทำให้ลูกเรามีความสุข
กลับมาที่งานครับ หาสิ่งนี้ให้เจอ แล้วเราจะทำงานได้อย่างมีแรงจูงใจเต็มที่ บางอาชีพอาจจะหาได้ไม่ยากนัก เช่นคุณหมอหรือพยาบาล ที่เห็นคนไข้ที่เขาดูแลอยู่ดีขึ้น บางอาชีพอาจจะยากหน่อยแต่ถ้าเราหาก็ไม่ยากเกินไปครับ ถ้าเรามีหน้าที่ผลิตสินค้า ลองนึกว่าใครเป็นคนใช้สินค้าเรา และเขามีความสุขแค่ไหนถ้าเขาได้ใช้สินค้านั้นที่มีคุณภาพ หรือแม้กระทั่งเราทำงานด้านสนับสนุน เช่น เราอยู่ฝ่ายบัญชี ลองนึกภาพให้ออกว่า การทำบัญชีเรานั้น มีส่วนช่วยทำให้บริษัทเราดีขึ้นได้อย่างไร เช่นทำให้บริษัทรู้ต้นทุน รู้ค่าใช้จ่าย ทำให้บริษัทอยู่รอด และทุกคนในบริษัทยังมีงานทำ
ยิ่งเป็น OKRs ซึ่งมันจะไม่ใช่เป็นงานประจำอยู่แล้ว เรายิ่งสามารถเลือกทำสิ่งใหม่ ๆ ที่ทำให้ชีวิตของคนอื่น ซึ่งอาจจะหมายถึงลูกค้า คู่ค้า หรือ พนักงานในองค์กรมีความสุขมากขึ้น แค่นี้เราก็จะมีแรงจูงใจในการทำ OKRs แล้ว
ในมุมผู้บริหารเอง บางทีเราอาจจะต้องแจ้งให้พนักงานทราบด้วยว่า OKRs ที่เขาทำนั้นมันช่วยเหลือใครในองค์กรได้บ้าง แค่นี้เขาก็จะมีแรงจูงใจในการทำงานมากขึ้นอีกทางหนึ่ง
ผมอยากให้ลองนำ 3 ข้อนี้ไปพิจารณาเทียบกับ OKRs ของตัวเองที่เขียนกันมานะครับ ขาดข้อไหนไป ก็ปรับเปลี่ยน เพิ่มเติม แล้วเราจะมีความสุขในการทำ OKRs และการทำงานของเราเลยล่ะครับ
ลองนำไปปรับใช้กันนะครับ
ติดตามผลงานอื่น ๆ ได้ทาง Page Nopadol’s Story หรือ Nopadol’s Story Podcast ใน Podbean Soundcloud Apple Podcast Spotify YouTube หรือ Blockdit
No comment yet, add your voice below!