อย่างที่ได้ทราบกันแล้วว่าผลลัพธ์หลักนั้นจะต้องมีค่าเป้าหมายที่มีความชัดเจน แต่ถามว่าแล้วเราควรจะตั้งค่าเป้าหมายไว้ที่เท่าไรดี เรามาเรียนรู้ เทคนิคการตั้งค่าเป้าหมายในผลลัพธ์หลักของ OKRs กันครับ แต่ก่อนอื่น เราคงต้องเริ่มจากการทำความเข้าใจลักษณะของ OKRs ที่มีอยู่ 2 ประเภทได้แก่
1. OKRs ที่ต้องทำให้ได้ (Committed OKRs)
OKRs ประเภทนี้มักจะเกี่ยวข้องกับเรื่องที่สำคัญมาก ๆ ที่เราอยากจะโฟกัส และควรจะต้องทำให้สำเร็จ 100% ตามเป้าหมายที่เราตั้งไว้ เช่น ถ้าเราสัญญากับลูกค้ารายสำคัญว่าเราจะต้องส่งสินค้าให้ได้ 1 ล้านชิ้นภายในสิ้นปีนี้ เราอาจจะตั้งเรื่องนี้เป็น OKRs โดยผลลัพธ์หลักคือ “ส่งสินค้าให้ลูกค้าได้ 1 ล้านชิ้นภายในสิ้นปี” และเราคาดหมายด้วยว่าเราจะต้องทำเรื่องนี้ให้สำเร็จ 100% เพราะเรื่องนี้สำคัญมาก ๆ ถ้าไม่สำเร็จอาจจะเกิดความเสียหาย
2. OKRs ที่มีความท้าทาย (Aspirational OKRs)
OKRs ประเภทนี้จะเน้นการตั้งเป้าหมายแบบท้าทาย บางครั้งจะถูกเรียกว่า Moonshot OKRs คือตั้งเป้าหมายให้ถึงดวงจันทร์อะไรทำนองนั้นเลย หลักการตั้งเป้าหมายแบบนี้คือเราต้องตั้งให้ท้าทาย ซึ่งก็อาจจะมีคำถามคือแล้วแค่ไหนถึงจะเรียกว่าท้าทาย ก็คงไม่มีคำตอบที่ถูกหรือผิดเพียงคำตอบเดียวหรอกครับ แต่หนังสือบางเล่มและความคิดเห็นของผมคือ เอาเป็นว่าให้โอกาสที่จะสำเร็จได้สัก 50% ไม่มากกว่าหรือน้อยกว่า น่าจะกำลังดี เพราะถ้าตั้งเป้าหมายแล้วคิดว่าสำเร็จแน่ ๆ เราก็จะทำไม่เต็มที่ ตั้งแบบนี้ไม่ต้องตั้งก็ได้ เพราะสำเร็จอยู่แล้ว แต่ในทางกลับกัน ถ้าเราตั้งเป้าหมายแล้วมันยากเกินไป โอกาสสำเร็จน้อยมาก เราก็อาจจะหมดกำลังใจ และไม่อยากจะทำเลย ดังนั้นอะไรที่อยู่ประมาณ 50-50 น่าจะเป็นอันที่กำลังได้ลุ้นและทำให้มีกำลังใจอยากจะทำ
แล้วจะเป็นอะไรไหม ถ้าตั้งไปคิดว่ายากแล้ว แต่มันง่ายเกินไป หรือคิดว่าง่ายแต่ดันยากเกินไป เรื่องนี้เป็นเรื่องปกติครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในครั้งแรก ๆ ที่เราเริ่มทำ OKRs เนื่องจากเราก็ยังไม่ทราบ และแถม OKRs บางตัวอาจจะเป็นเรื่องใหม่ที่เราไม่เคยทำด้วยซ้ำ แต่ไม่เป็นไรครับ ตั้งไปก่อน ถ้ามันง่ายไป ก็ปรับให้มันยากขึ้นในรอบถัดไปก็ได้ หรือบางทีอยากจะปรับเลยก็ยังได้เลย แต่ขออย่างเดียวการปรับนั้น เราไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อจะทำให้ถึงเป้าหมายนะครับ เพราะอย่าลืมว่า OKRs ไม่ใช่เครื่องมือที่ใช้ในการประเมินผลพนักงาน จะทำถึงหรือไม่ถึง ไม่ใช่ประเด็นว่าใครจะได้ประเมินผลดีหรือไม่ดีเลยครับ
ดังนั้นการปรับเป้าหมายจึงทำในกรณีที่เราคิดว่าเป้าหมายนั้นมันไม่เหมาะสม โดยสรุปเราควรตั้งเป้าหมายในสิ่งที่เราอยากได้ ไม่ใช่สิ่งที่เราทำได้อยู่แล้ว
ลองนำไปใช้ในการตั้งเป้าหมายในผลลัพธ์หลัก สำหรับ OKRs ของท่านกันดูนะครับ
ติดตามผลงานอื่น ๆ ได้ทาง Page Nopadol’s Story หรือ Nopadol’s Story Podcast ใน Podbean Soundcloud Apple Podcast Spotify YouTube หรือ Blockdit
No comment yet, add your voice below!