หลักการให้คะแนน OKRs

ก่อนอื่นเราต้องมาทำความเข้าใจกันก่อนนะครับว่า หลักการให้คะแนน OKRs นั้น ไม่ได้ทำเพื่อนำไปใช้ประเมินผลเพื่อขึ้นเงินเดือนหรือแจกโบนัสให้กับพนักงานแต่อย่างใด และก็ไม่ได้นำไปใช้เพื่อที่จะเอามาเปรียบเทียบกันว่า ใครเก่งกว่าใคร เนื่องจากโดยปกติแล้ว OKRs ของแต่ละคนก็มีความแตกต่างกันอยู่แล้ว ค่าเป้าหมายที่แต่ละคนตั้งก็มีความยากง่ายต่างกัน ดังนั้นการนำมาเปรียบเทียบกันจึงทำไม่ได้ และไม่สมควรทำเป็นอย่างยิ่ง

คำถามคือแล้วเราจะให้คะแนน OKRs กันไปทำไม คำตอบคือเราให้คะแนนเพื่อที่จะทำให้เราได้เรียนรู้จากผลลัพธ์ของ OKRs ที่ผ่านมาว่าเราทำได้ดีหรือไม่ดีเมื่อเทียบกับเป้าหมาย และที่สำคัญจะเป็นตัวสะท้อนว่าเราตั้ง OKRs ได้ท้าทายมากแค่ไหนด้วย

ระบบการให้คะแนน OKRs มีหลายระบบครับ แต่ต้องยอมรับว่าระบบที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือการให้คะแนนที่ Google ใช้ คือเขาจะให้คะแนนผลลัพธ์หลักแต่ละตัวใน Scale 0-1 โดย 0 มีความหมายว่าเราล้มเหลวโดยสิ้นเชิงในการทำตามผลลัพธ์หลักข้อนั้น และ 1 มีความหมายว่าเราทำได้ตามเป้าหมายหรือมากกว่าเป้าหมายที่ได้ตั้งไว้

ผมยกตัวอย่างเป็นตัวเลขง่าย ๆ ก่อนนะครับว่า สมมุติผมตั้งวัตถุประสงค์ไว้ว่า “เป็นบริษัทที่ดีที่สุดในประเทศไทย” โดยมีผลลัพธ์หลักข้อเดียวคือ “มีส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มขึ้นจาก 20% เป็น 50%” และพอปลายปี (หรืออาจจะปลายไตรมาสก็ได้ แล้วแต่ว่าตอนนี้เราทำ OKRs รายปีหรือรายไตรมาสอยู่) ถ้าส่วนแบ่งตลาดยังอยู่ที่ 20% หรือต่ำกว่า แบบนี้แปลว่าเราทำอะไรไม่ได้เลย ก็ให้คะแนนผลลัพธ์หลักข้อนี้เป็น 0 แต่ถ้าเราทำได้ 60% เราก็บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ เราก็ให้คะแนนตัวเองเป็น 1 (ไม่มีการให้คะแนนเกิน 1 นะครับ) แต่ถ้าเราทำได้ 35% อันนี้แปลว่าค่าคะแนนจะอยู่ระหว่าง 0-1 ซึ่งตรงนี้ เราใช้การตัดสินใจเราได้ครับ

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราจะมองในมุมของการพัฒนา การเพิ่มขึ้นที่เราต้องการคือ 30% (จาก 20% เป็น 50%) แต่เราทำได้จริง 15% (จาก 20% มาเป็น 35%) แบบนี้เราก็สามารถให้คะแนนตัวเอง 0.5 เพราะว่าเราทำได้ประมาณครึ่งเดียวของที่เราทำได้ แบบนี้ก็ได้ แต่ถ้าเราไปมองที่ผลลัพธ์สุดท้าย คือเราตั้งเป้าหมายไว้ 50% สุดท้ายเราทำได้ 35% แปลว่าเราทำได้ 35/50 = 0.7 เราจะให้คะแนนตัวเองแบบนี้ก็ได้

สำหรับผลลัพธ์หลักที่เป็นแบบอิงความสำเร็จของกิจกรรม (Activity-based Key Results) นั้น อาจจะไม่มีตัวเลขที่จะนำมาคำนวณได้ตรง ๆ แบบนี้ เช่น ถ้าวัตถุประสงค์คือ “ให้บริการคุณภาพระดับโลกกับลูกค้า” ผลลัพธ์หลักคือ “สร้าง Application ให้บริการลูกค้าเสร็จสิ้น” แบบนี้ ตอนปลายปีหรือปลายไตรมาส เราก็ต้องมาดูว่าเราสร้าง Application นี้เสร็จแล้วหรือยัง ถ้าเสร็จแล้ว ก็ให้คะแนนตัวเองเป็น 1 ถ้ายังไม่ได้ทำอะไรเลยก็ให้คะแนนตัวเองเป็น 0 แต่ถ้าอยู่ระหว่างทาง อันนี้เราต้องประมาณการว่า ใกล้เสร็จมากแค่ไหน เช่นถ้าคิดว่าน่าจะสักประมาณ 70% และมีหลักฐานมาประกอบ ก็ให้คะแนนตัวเองเป็น 0.7 ก็ได้ ตรงนี้เราก็ไม่จำเป็นต้องมานั่งเถียงกันนะครับว่า 0.7 หรือ 0.8 เพราะมันไม่ได้ส่งผลอะไร เราแค่ประมาณการความสำเร็จเท่านั้น

ได้คะแนนของผลลัพธ์หลักแต่ละข้อเสร็จแล้ว เอาไปทำอะไรต่อ บางคนเขาก็อาจจะเอาคะแนนของผลลัพธ์หลักในแต่ละข้อมาหาค่าเฉลี่ย เพื่อคำนวณคะแนนของวัตถุประสงค์ของผลลัพธ์หลักนั้น ๆ เช่น วัตถุประสงค์ข้อหนึ่งมีผลลัพธ์หลัก 3 ข้อ ข้อแรกได้คะแนน 0.6 ข้อที่ 2 ได้คะแนน 0.7 ข้อที่ 3 ได้คะแนน 0.8 ก็เอาตัวเลขนี้บวกกันหาร 3 ก็จะได้ค่าเฉลี่ยคะแนนความสำเร็จของวัตถุประสงค์ข้อนั้นเท่ากับ (0.6+0.7+0.8)/3 = 0.7 แต่บางคนก็ไม่ได้เอามาหาค่าเฉลี่ยแบบนี้สำหรับวัตถุประสงค์นะครับ อันนี้แล้วแต่ได้เลย ไม่ได้มีอะไรถูกผิด

วัตถุประสงค์ที่แท้จริงของการให้คะแนนผลลัพธ์หลักเหล่านี้ อย่างที่บอกคือเราไม่ได้เอามาประเมินผล แต่เอามาเพื่อที่จะเรียนรู้ครับ ถามว่าเรียนรู้ว่าอะไร อย่างแรกเรียนรู้ว่า เราได้ทำผลลัพธ์หลักแต่ละข้อได้สำเร็จมากน้อยเพียงใด ถ้าไม่สำเร็จ อะไรคืออุปสรรคที่เราควรบริหารจัดการ ถ้าสำเร็จอะไรคือสิ่งที่เราทำได้ดี

ประการที่สองที่จะได้เรียนรู้คือ เป้าหมายที่เราตั้งไว้ในผลลัพธ์หลักนั้นท้าทายมากน้อยเพียงใด Google ได้ให้แนวทางง่าย ๆ ไว้อย่างหนึ่งว่า เป้าหมายที่ท้าทายเหมาะกับความสามารถเรา เราทำเต็มที่แล้ว เรามักจะได้คะแนนอยู่ในช่วง 0.6-0.7 ตรงนี้ทำความเข้าใจดี ๆ นะครับ ผมไม่ได้หมายความว่าให้ทำไปจนแค่ 60-70% แล้วหยุด เพื่อจะได้อยู่ในช่วงที่ Google แนะนำ เราควรทำเต็มที่ครับ ถ้าได้ 100% หรือได้คะแนน 1 ก็ดีครับ ยังไงก็ดีกว่า 60-70% อยู่แล้ว แต่ก็อาจจะเป็นสัญญาณบอกตัวเราว่า เราเก่งกว่าเป้าหมายนั้นแล้ว เราควรขยับเป้าหมายให้ท้าทายขึ้นไปอีก

ถ้าจะเปรียบเทียบก็คงคล้าย ๆ กับนักกีฬา ถ้าเราแข่งกีฬากับคู่แข่งคนใดแล้วเราชนะเขาเกม 0 แบบนี้ก็เรียกว่าเราสำเร็จใช่ไหมครับ แต่ถ้าเราอยากจะพัฒนาตัวเราให้เก่งขึ้นไปอีก เราก็ควรจะเปลี่ยนคู่แข่ง ลองเปลี่ยนเวทีที่เข้มข้นขึ้นเช่น ไปแข่งกีฬาแห่งชาติดู ถ้าเรายังได้เหรียญทองอีก ก็ลองไปแข่งซีเกมส์ ถ้ายังชนะอีก ลองเอเชี่ยนเกมส์ หรือถ้ายังชนะอีก ก็ยังมีโอลิมปิกเกมส์ อะไรทำนองนี้

แนวทางการพัฒนาตัวเองในลักษณะนี้ ส่วนตัวผมก็นำไปใช้นะครับ อย่างเช่น เรื่องงานวิจัย ใครที่นักวิจัยก็น่าจะพอทราบดีว่า ปกติเราทำงานวิจัยเสร็จแล้ว เรามักจะต้องหาที่เผยแพร่งานวิจัย ซึ่งมันก็มีลำดับขั้นความยากง่าย ตอนผมมาเป็นอาจารย์ใหม่ ๆ ผมก็เริ่มจากที่ที่ไม่ยากมากนักก่อน เช่น เป็นวารสารภายในประเทศ ขนาดที่ตัวเองคิดว่าไม่น่ายากมาก แต่ส่งไปโดยปฏิเสธก็มีนะครับ แต่เมื่อเราพยายามมากขึ้น เอาข้อคิดเห็นของผู้ประเมินบทความมาอ่าน มาปรับปรุง มาถึงจุดหนึ่งก็อาจจะเรียกได้ว่า ส่งไปส่วนใหญ่ก็จะรับตีพิมพ์

ผมจะหยุดที่ตรงนั้นก็ได้ครับ ก็คงได้ตีพิมพ์มากขึ้น แต่เราจะไม่ได้พัฒนาฝีมือของเรา เมื่ออัตราความสำเร็จในการส่งบทความของผมในวารสารนี้มันเกือบจะเป็น 100% แล้ว ผมก็จะเริ่มขยับตัวเองไปในที่ที่ยากกว่า คือเปลี่ยนไปส่ง International Journal คือวารสารต่างประเทศ ซึ่งเขาก็มี Ranking เหมือนกัน

ที่ที่ได้รับความนิยมก็คือการจัดอันดับเป็น 4 กลุ่ม เรียกกันง่าย ๆ ว่า Q1-Q4 โดย Q4 ก็อาจจะง่ายสุด (ซึ่งก็ไม่เสมอไป) ส่วน Q1 ก็ยากสุด เพราะมักจะเต็มไปด้วยวารสารที่มีคุณภาพสูง ๆ ผลงานวิจัยจะได้รับการตอบรับก็มีการแข่งขันกันสูง แถมคู่แข่งเราก็ระดับสุดยอดของโลกในสาขานั้น ๆ

ผมก็เริ่มส่งไปวารสาร Q4 ก่อนครับ ใหม่ ๆ ก็ถูกปฏิเสธมา ภาษาอังกฤษเราก็ใช่ว่าจะเป็นภาษาพ่อแม่ของเรา ต้องหาคนมา Edit แต่โดนปฏิเสธบ่อย ๆ พร้อมทั้งข้อคิดเห็น เราก็นำกลับมาพัฒนา จนถึงจุดหนึ่งเราจะเก่งขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง คราวนี้ส่งไปในวารสารใน Q4 เราก็จะเริ่มได้รับตอบรับมากขึ้นเรื่อย ๆ

ถึงจุดนี้ก็เหมือนเดิมครับ ถ้าผมพอใจแค่นี้ ผมก็คงได้ตีพิมพ์ในวารสารระดับนี้จำนวนไม่น้อย แต่ฝีมือคงไม่ได้พัฒนาไปไหนอีก (ถ้าเป็นคะแนน OKRs ก็คงประมาณว่าได้ 1 ตามเป้าหมายตลอดเวลา) ผมก็มักจะเตือนตัวเองว่าถึงเวลาที่ต้องขยับชั้นขึ้นไปแล้ว ไม่ต้องมีใครมาบอกเราหรอกครับ เราบอกตัวเองนี่แหละ

ผมก็เริ่มไต่อันดับไป Q3 เมื่อเราทำได้ดี ก็ขึ้นไป Q2 และมาถึงปัจจุบันก็เริ่มเข้าไปสู่ระดับ Q1 ซึ่งตอนนี้ก็ยังถูกปฏิเสธมากกว่าตอบรับอยู่เลยนะครับ สำหรับระดับนี้

แต่นี่แหละครับคือตัวอย่างแนวคิดของการใช้คะแนน OKRs เพื่อมาท้าทายความสามารถเราครับ เราลองนำเอาแนวคิดนี้ไปใช้กับการทำงานของเราดูนะครับ ผมเชื่อมั่นว่าแนวคิดนี้จะพาให้เราเก่งขึ้นไปได้เรื่อย ๆ เลยล่ะครับ

ติดตามผลงานอื่น ๆ ได้ทาง Page Nopadol’s Story หรือ Nopadol’s Story Podcast ใน Podbean Soundcloud Apple Podcast Spotify YouTube หรือ Blockdit

Recommended Posts

No comment yet, add your voice below!


Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *