ในชีวิตเรามักจะเจอเหตุการณ์อะไรบางอย่างที่ทำให้เราเติบโตแบบก้าวกระโดด สำหรับผม ถ้าพูดถึงเรื่องงาน ผมนึกออกอยู่ 2 เรื่องที่ทำให้ผมสามารถพัฒนาความรู้ความสามารถและเติบโตในอาชีพการงานได้มากพอสมควร อย่างแรกคือการรู้จัก Balanced Scorecard และอย่างที่สองคือ รู้จัก OKRs ก็เลยอยากจะขอเล่าให้ฟังว่า ผมรู้จัก OKRs ได้อย่างไร
สำหรับ Balanced Scorecard ที่ผมได้รู้จักนั้น เริ่มมาจากตอนที่ผมยังไม่ได้เป็นอาจารย์และทำงานอยู่ที่การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ซึ่ง ณ เวลานั้นยังไม่ได้เป็นบริษัทมหาชน ผมได้ทำงานอยู่ฝ่ายแผนธุรกิจ ของ ปตท. ก๊าซธรรมชาติ ตอนนั้น ปตท. เริ่มมีแนวคิดอยากศึกษาเรื่อง Balanced Scorecard ซึ่งเป็นระบบการวัดผลองค์กรระบบหนึ่งที่กำลังได้รับความนิยมมากในขณะนั้น ผมซึ่งเพิ่งจบปริญญาโททางด้านวิศวรกรรมเคมีมาใหม่ ๆ และกำลังเรียน MBA อยู่ที่ธรรมศาสตร์ จึงได้รับ Assignment ให้ศึกษาเรื่องนี้ ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ทำให้ผมรู้จักเรื่องเกี่ยวกับการวัดผลองค์กรในภาพรวม
หลังจากเรียนจบ MBA ผมก็ลาออกจาก ปตท. เพื่อไปเรียนต่อปริญญาเอกที่สก็อตแลนด์ ซึ่งหลักสูตรของเขามีแต่การทำวิจัย และต้องส่งข้อเสนองานวิจัยไปให้อาจารย์เขาดูก่อน และหัวข้อที่ผมส่งก็คือเรื่อง Balanced Scorecard นี่แหละครับ ผมเรียนจบปริญญาเอกด้วยหัวข้อเกี่ยวกับ Balanced Scorecard และได้ทำงานวิจัย เขียนหนังสือ สอนหนังสือ ฝึกอบรม ในหัวข้อนี้มาตั้งแต่เริ่มเป็นอาจารย์ใหม่ ๆ จนถึงปัจจุบัน
ที่เล่าเรื่อง Balanced Scorecard มา ก็เพราะว่า Balanced Scorecard นี่แหละครับที่นำผมมารู้จักกับ OKRs เนื่องจากผมทำงานวิจัยเรื่องเกี่ยวกับการวัดผลองค์กรมาตลอด ผมก็มักจะสืบค้นว่าในองค์กรชั้นนำนั้นเขาใช้ระบบการวัดผลอะไรกันบ้าง นอกจาก Balanced Scorecard ที่พอจะทราบอยู่บ้างแล้ว ผมก็ไปสะดุดตอนที่ได้เข้าไปอ่านหนังสือเกี่ยวกับ Google เกือบทุกเล่ม ที่พบว่า Google ได้ใช้ระบบที่เรียกกันว่า Objectives and Key Results หรือ OKRs
หลังจากกว้านหาหนังสือเกี่ยวกับ Google เท่าที่จะหาได้ ณ ขณะนั้น ไล่ดู Clip เกี่ยวกับ OKRs ที่หาได้เกือบทุก Clip ผมก็เริ่มพบว่า OKRs เป็นแนวคิดที่น่าสนใจเลยทีเดียว และเป็นแนวคิดที่มีความแตกต่างจาก Balanced Scorecard หรือ KPIs ที่เรารู้จักกันพอสมควร จำได้ว่าหนังสือเล่มแรก ๆ ที่ผมได้อ่านเกี่ยวกับ OKRs คือหนังสือที่ชื่อว่า Objectives and Key Results ที่เขียนโดย Paul R. Niven และ Ben Lamorte ที่ออกมาในปี 2016 ซึ่งอ่านแล้วรู้สึกสนใจเป็นอย่างมาก
หลังจากนั้น ผมก็ได้เขียนหนังสือชื่อว่าพัฒนาองค์กรและชีวิตด้วยแนวคิด OKRs ตีพิมพ์ในปี 2018 ซึ่ง ณ ปัจจุบันยังเป็นหนังสือที่ขายดีที่สุดในบรรดาหนังสือทุกเล่มที่ผมเคยเขียน และในปีเดียวกันนั้นเอง John Doerr ผู้ที่นำเอา OKRs มาใช้ที่ Google ก็ได้ออกหนังสือเกี่ยวกับ OKR ที่ชื่อว่า Measure What Matters และหลังจากนั้น ผมก็เริ่มเห็นองค์กรใหญ่ในประเทศไทยเริ่มประกาศว่าจะนำเอาแนวคิดที่คล้าย ๆ OKRs มาใช้ จนทำให้หลายองค์กรเริ่มสนใจแนวคิดนี้เพิ่มมากขึ้น
ตั้งแต่ปี 2018 เป็นต้นมา จนมาถึงปัจจุบัน OKRs ได้ถูกนำมาใช้ในองค์กรไทยหลากหลายองค์กรมาก มีตั้งแต่กลุ่ม Startup SMEs องค์กรขนาดใหญ่ทั้งที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและไม่อยู่ รวมถึงหน่วยงานราชการ และองค์กรที่ไม่มุ่งแสวงหาผลกำไรต่าง ๆ ผมโชคดีที่ได้มีโอกาสได้ไปบรรยาย ทำงานที่ปรึกษา สอนหนังสือที่มหาวิทยาลัยทั้งระดับปริญญาตรีและโท รวมถึงทำงานวิจัยเกี่ยวกับ OKRs มาต่อเนื่อง จึงทำให้เห็นว่าเครื่องมือนี้ หากเราเข้าใจมันได้ดีพอแล้ว มันจะสร้างความสำเร็จให้กับองค์กรและพนักงานได้อย่างมาก จึงเป็นที่มาของการเขียนบทความเกี่ยวกับ OKRs และหวังว่า OKRs จะนำพามาซึ่งความสำเร็จและความสุขให้กับทุกคน
ติดตามผลงานอื่น ๆ ได้ทาง Page Nopadol’s Story หรือ Nopadol’s Story Podcast ใน Podbean Soundcloud Apple Podcast Spotify YouTube หรือ Blockdit
No comment yet, add your voice below!