ผมว่าเกือบทุกคนน่าจะรู้จักคำว่า “Grade Point Average” หรือเรียกย่อ ๆ ว่า GPA นะครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่กำลังเรียนอยู่ ยิ่งน่าจะรู้จักดีเข้าไปใหญ่
ในฐานะอาจารย์ผู้สอนในระดับมหาวิทยาลัย ผมก็เห็นว่านักศึกษาเกือบทุกคน ก็สนใจเรื่องนี้ สังเกตได้จากคำถาม ประมาณว่า “อาจารย์ตัดเกรดอย่างไร” “คะแนนเท่านี้ มีลุ้น A ไหม” “อาจารย์ตัด F ที่เท่าไร” ซึ่งเป็นคำถามที่เจออยู่เรื่อย ๆ ครับ
คราวนี้ ผมลองมานั่งนึกดูว่า เอ จริง ๆ แล้ว สิ่งที่เราให้ความสำคัญ มักจะเป็นสิ่งที่เราทำได้ดี ดังนั้น สิ่งที่เราให้ความสำคัญ จึงควรเป็นสิ่งที่ “สำคัญ” จริง ๆ แล้ว GPA มันสำคัญจริง ๆ หรือ หรือมองลึกไปอีกระดับหนึ่งคือ เอ แล้ว “เราวัด GPA กันไปทำไม”
อ้าว บางคน อาจจะอยากจะบอกว่า อาจารย์ไม่รู้เหรอ ก็เราวัด GPA ไปเพื่อบอกระดับความรู้ของเราในเรื่องนั้น ๆ ไง ถ้าเรารู้เยอะ Grade มันก็ดี และ GPA มันก็สูงไง
อันนั้นผมทราบครับ แต่ผมยังมีคำถามต่ออีกว่า สุดท้ายแล้ว ถ้า GPA มันวัดความรู้ ซึ่งแปลว่าคนที่มี GPA สูงจะรู้เยอะกว่าคนที่มี GPA ต่ำ และถ้าเราเชื่อว่าความรู้น่าจะนำไปสู่ความสำเร็จ ดังนั้น คนที่มี GPA สูง ๆ ก็น่าจะประสบความสำเร็จมากกว่าคนที่มี GPA ต่ำ ๆ เสมอ จริงไหม
พอมาถึงตรงนี้ หลายคนอาจจะส่ายหน้าว่า “ไม่จริง” เพราะคงเห็นหลักฐานมาไม่น้อยว่า GPA หลายครั้งมันไม่เกี่ยวกับความสำเร็จ
อาจจะเป็นเพราะว่า จริง ๆ แล้ว “ความสำเร็จ” มันมาจากหลายปัจจัย นอกเหนือจาก “ความรู้” ซึ่งเราตั้งสมมุติฐานว่าวัดจาก GPA แต่มากยิ่งไปกว่านั้น ผมว่าถ้า GPA มันวัด “ความรู้” จริง ๆ แล้วล่ะก็ มันก็วัด “ความรู้ในขณะเวลาที่ทดสอบ” เท่านั้น มันไม่ได้วัดความรู้เรื่องนั้น ตลอดเวลา
พูดง่าย ๆ ว่า GPA มันเป็นตัววัด “ความรู้ในอดีต” มากกว่า เอาง่าย ๆ ผมเรียนจบปริญญาตรี วิศวกรรมเคมีมา ได้เกียรตินิยมอันดับ 2 ถ้า GPA จะวัดระดับความรู้ทางด้านวิศวกรรมเคมี ก็วัดความรู้ของผมเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว เพราะตอนนี้ ใครเอาสมการทางวิศวกรรมเคมี มาให้ผมอ่าน ผมรับรองว่าผมไม่รู้เรื่องเลย ทั้ง ๆ ที่ GPA ผมก็ยังเท่าเดิม
พูดง่าย ๆ ว่า GPA มันมี “อายุ” ของมัน ยิ่งนาน ตัววัดนี้ ก็ยิ่งล้าสมัย นั่นเป็นสาเหตุว่า เมื่อเวลาผ่านไปนานเท่าไร เรามีอายุมากขึ้นมากเท่าไร เวลาเราสมัครงาน GPA มันจะมีผลน้อยลงเท่านั้น
ดังนั้น ผมจึงมักจะไม่ค่อยเห็นด้วย ที่ตำแหน่งงานหลาย ๆ ตำแหน่ง ยังมีข้อกำหนดเรื่อง GPA อยู่ว่าต้องได้ไม่ต่ำกว่า เท่านั้น เท่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตำแหน่งบางตำแหน่ง คนที่สมัครมา อายุ 40 กว่าปีแล้ว GPA แทบไม่ได้บอกอะไรในสถานะปัจจุบันเขาเลย กลายเป็นว่า การที่ตอนเขาจบปริญญาตรี เขาได้ GPA ต่ำ แต่ปริญญาโท เอก เขาทำได้ดีขึ้น ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน กลับไม่สามารถสมัครตำแหน่งงานนั้นได้ เพราะตกเกณฑ์ GPA ขั้นต่ำในระดับปริญญาตรี ซะงั้น!
สำหรับผมแล้ว นอกจาก GPA มันจะบอกเพียงแค่ความรู้ในอดีตแล้ว ผมยังมองอีกว่า GPA มันบอก “ระดับความชอบ” ในเรื่องนั้น ๆ ด้วย
การที่เราได้เกรดไม่ดีในวิชาใดวิชาหนึ่ง (หรือหลาย ๆ วิชา) มันสะท้อนให้เห็นว่า เรา “ไม่ชอบ” ในวิชานั้น ๆ มากกว่า ดังนั้นสำหรับผม ผมไม่ได้มองว่าคนที่ได้ GPA ต่ำกว่าเพื่อน เป็นคนที่ฉลาดน้อยกว่าเพื่อน ผมมองว่าเขาแค่ไม่ชอบเรื่องนั้น ในขณะที่เพื่อนเขาชอบมากกว่า ก็เท่านั้น
ดังนั้น สำหรับผม GPA มันเป็นตัววัดที่บอกถึงความหลากหลายในความชอบของเรา ถ้าเรามองมันดี ๆ เราจะพบว่า มันมีบางเรื่องที่เราชอบ และทำได้ดี บางเรื่องที่เราไม่ชอบ เราก็เลยทำได้ไม่ดีนัก
และผมเชื่อว่า คนที่ประสบความสำเร็จ ไม่จำเป็นจะต้องเป็นคนที่ทำได้ดีในทุกเรื่อง แต่เป็นคนที่ทำได้ดีมาก ๆ ในเรื่องที่เขาชอบต่างหาก
ใครกำลังเรียนอยู่ หรือ เพิ่งจบการศึกษา ลองกลับไปมอง Transcript ของตัวเองอีกครั้งนะครับ และอาจจะค้นพบตัวเราเองจาก Transcript นั้นก็ได้ครับ
อ่านบทความอื่น ๆ ได้ที่ www.NopadolStory.com หรือเข้าร่วมกลุ่ม Line@ ได้ที่ https://line.me/R/ti/p/%40nopadolrompho
2 Comments
กด like บทความยังไงคะอาจารย์
มันมีปุ่มกด share มั้งครับ ไม่แน่ใจว่ามี like หรือเปล่าครับ ขอบคุณครับ 🙂