องค์ประกอบของ OKRs

แน่นอนคำว่า OKRs มาจากคำสองคำคือคำว่า Objectives ที่แปลว่าวัตถุประสงค์ และคำว่า Key Results ที่แปลว่าผลลัพธ์หลัก ดังนั้น องค์ประกอบของ OKRs ก็คือ 2 สิ่งนี้ ซึ่งทำหน้าที่แตกต่างกัน

เริ่มจากวัตถุประสงค์ก่อน วัตถุประสงค์คือจุดมุ่งหมายหลักที่เราจะอยากจะได้ มักจะไม่ใช่การเอาสิ่งที่เราทำเป็นประจำอยู่แล้ว เช่นงานประจำทั่วไปมาตั้งเป็นวัตถุประสงค์ แต่มักจะเป็นอะไรที่ท้าทายและเราอยากได้มาก ๆ วัตถุประสงค์เป็นการตอบคำว่า “ทำไม” เราถึงอยากทำสิ่งนี้ จะว่าไปแล้ว วัตถุประสงค์ก็ทำหน้าที่เหมือนกับวิสัยทัศน์ หรือ Vision ขององค์กรนั่นแหละ แต่จะอยู่ในระยะเวลาที่สั้นกว่า โดยปกติก็จะไม่เกิน 1 ปี และบางทีก็เป็นแค่ 1 ไตรมาสเท่านั้น

โดยปกติวัตถุประสงค์จะไม่มีตัวเลข แต่จะเป็นประโยคที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับเรา และไม่ต้องกลัวว่าไม่มีตัวเลข เราจะรู้ได้อย่างไร เพราะนั่นคือหน้าที่ของผลลัพธ์หลัก และในเวลาใดเวลาหนึ่งเรามักจะมีวัตถุประสงค์ไม่เกิน 3-5 ข้อ

ผลลัพธ์หลัก ก็คือตัววัดผลของวัตถุประสงค์ที่มีค่าเป้าหมายชัดเจน ซึ่งจะทำหน้าที่บอกว่าเมื่อไรเราถึงจะบอกได้ว่าเราบรรลุวัตถุประสงค์ของเราแล้ว ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราตั้งวัตถุประสงค์ว่า “เป็นบริษัทที่มีนวัตกรรมระดับโลก” ผลลัพธ์หลักก็อาจจะเป็น “มียอดขายที่เกิดจากนวัตกรรมมากกว่า xx ล้านบาทต่อปี” อะไรทำนองนี้ และโดยปกติในแต่ละวัตถุประสงค์ เราจะมีผลลัพธ์หลักไม่เกิน 3-5 เรื่องเช่นเดียวกัน

เรามีแต่วัตถุประสงค์ไม่ได้หรือ ไม่มีผลลัพธ์หลักได้ไหม คำตอบคือ ถ้ามีแต่วัตถุประสงค์ เราจะไม่มีความชัดเจน และถ้าปล่อยให้แต่ละคนตีความกันเอาเอง ก็อาจจะตีความไปได้คนละอย่าง เช่น ถ้าเรามีวัตถุประสงค์เพียงแค่ “เป็นบริษัทที่มีนวัตกรรมระดับโลก” บางคนอาจจะตีความว่าต้องมียอดขายจากนวัตกรรมมากกว่า xx บาท แต่อีกคนก็อาจจะมองไปเรื่องของจำนวนคนใช้งานมากกว่ายอดขาย บางคนก็อาจจะมองไปเพียงแค่ได้รับรางวัลในระดับนานาชาติ ก็ถือว่ามีนวัตกรมระดับโลกแล้ว

เมื่อวัตถุประสงค์อย่างเดียวมันไม่ชัดเจน การทำงานมันก็ไม่ชัดเจนตามไปด้วย และอาจจะเกิดการถกเถียง หรืออาจจะต่างคนต่างทำ ซึ่งก็คงไม่เป็นผลดีกับองค์กร แต่พอมีผลลัพธ์หลัก สมมุติว่า การจะบอกว่า บริษัทมีนวัตกรรมระดับโลกนั้น ผลลัพธ์หลักคือ มียอดขายที่เกิดจากนวัตกรรมมากกว่า xx ล้านบาทต่อปี แบบนี้มันจะชัดเจนมาก คนทำงานจะทราบทันทีว่าเราควรทำอะไร เพื่อจะทำให้เราบรรลุวัตถุประสงค์นั้น

แล้วทำไมเราต้องมีวัตถุประสงค์ด้วย มีแต่ผลลัพธ์หลักอย่างเดียวไม่ได้หรือ คำตอบคือ ถ้าเรามีแต่ผลลัพธ์หลักอย่างเดียว จะทำให้เราขาดเหตุผลว่าเราจะทำผลลัพธ์หลักนั้นไปเพื่ออะไร ยกตัวอย่างเช่น ถ้าผมบอกว่า ผลลัพธ์หลักคือ “มียอดขายที่เกิดจากนวัตกรรมมากกว่า xx ล้านบาทต่อปี” “มีจำนวนคนใช้ผลิตภัณฑ์ใหม่มากกว่า xx ล้านคนต่อปี” มันก็ชัดเจนว่า เราต้องทำให้ได้ตัวเลขเท่านี้ แต่มันก็คลุมเครือว่า แล้วเราจะทำไปทำไม แต่ถ้าบอกว่า ที่เราอยากได้ตัวเลขเท่านั้น เพราะว่า เรามีวัตถุประสงค์ที่จะเป็น “บริษัทที่มีนวัตกรรมระดับโลก” คราวนี้มันจะเข้าใจได้เลยว่า ตัวเลขเหล่านั้นจะบ่งชี้ว่าเรามีนวัตกรรมระดับโลกแล้วหรือยัง

เอาคร่าว ๆ ประมาณนี้ก่อน เดี๋ยวจะเล่าให้ฟังอย่างละเอียดว่า การสร้างวัตถุประสงค์และผลลัพธ์หลักจะต้องทำอย่างไร และมีอะไรต้องหลีกเลี่ยงบ้างนะครับ

ติดตามผลงานอื่น ๆ ได้ทาง Page Nopadol’s Story หรือ Nopadol’s Story Podcast ใน Podbean Soundcloud Apple Podcast Spotify YouTube หรือ Blockdit

Recommended Posts

1 Comment

  1. ขอบคุณครับ


Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *