หลังจากที่ผมได้มีโอกาสบรรยายและเป็นที่ปรึกษาในการทำ OKRs หลายองค์กร ในฐานะอาจารย์มหาวิทยาลัยและนักวิจัย ผมก็มีคำถามว่า OKRs สามารถช่วยแก้ปัญหาองค์กรได้จริง ๆ หรือเปล่า ก็เลยได้เริ่มขอทุนวิจัยและดำเนินงานวิจัยโดยใช้ระยะเวลา 2 ปี ในการไปสัมภาษณ์ผู้บริหารและพนักงานจำนวน 295 ท่าน จาก 54 องค์กรที่ได้ใช้ OKRs โดยแบ่งเป็นองค์กรขนาดใหญ่ 26 องค์กร และเป็น Startup 28 องค์กร
จากผลงานวิจัยพบว่า OKRs ช่วยแก้ปัญหาที่เกี่ยวกับการวัดผลองค์กรได้ 5 ประการดังต่อไปนี้
1. OKRs ช่วยสร้างการยอมรับในเรื่องการวัดผลของพนักงานมากขึ้น
ก่อนที่ใช้ OKRs นั้น พนักงานหลายคนถูกวัดผลและไม่ค่อยมีความสุขมากนักเนื่องจาก การวัดผลนั้นมักจะเป็นการบังคับมาจากระดับบน หลายครั้งตัววัดผลที่ใช้วัดนั้น ในมุมมองของพนักงานก็อาจจะไม่ใช่ตัววัดที่ดีนัก หรือไม่สะท้อนถึงความสามารถของเขาที่แท้จริง การปรับเปลี่ยนตัววัดก็ทำได้ค่อนข้างยากเนื่องจากองค์กรก็มักจะมองว่าพนักงานอยากจะเปลี่ยนเพราะว่าต้องการทำงานที่ง่าย ๆ สบาย ๆ มากกว่าจะทำงานที่ตอบโจทย์องค์กร
แต่หลังจากองค์กรนำเอา OKRs มาใช้ ความรู้สึกของพนักงานที่มีต่อการวัดผลในรูปแบบของ OKRs เปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากพนักงานมีอิสระในการสร้างตัววัดผลจาก OKRs ได้มากขึ้นกว่าเดิม สามารถเลือกทำสิ่งที่สะท้อนความเป็นตัวตนของตัวเองได้มากขึ้น จึงทำให้พนักงานชอบการวัดผลในรูปแบบของ OKRs มากกว่าในรูปแบบเดิม ๆ ที่เคยทำ
2. OKRs ช่วยสร้างความเชื่อมโยงระหว่างการวัดผลกับกลยุทธ์ได้ดีขึ้น
ถึงแม้ว่า OKRs จะไม่ใช่เครื่องมือที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อขับเคลื่อนกับกลยุทธ์โดยตรง แต่แนวทางการใช้ OKRs ที่เน้นการสร้างความเชื่อมโยงทั้งในแนวตั้งคือระหว่าง OKRs ระดับบนกับระดับล่าง และในแนวนอนคือระหว่าง OKRs ของทีมงานที่แตกต่างกัน ทำให้คนที่ใช้ OKRs เห็นได้อย่างชัดเจนว่าสิ่งที่ทำอยู่นั้นตอบโจทย์องค์กรอย่างไร
และเนื่องจาก OKRs จะโฟกัสในบางเรื่องที่สำคัญมาก ๆ เท่านั้น ซึ่งเรื่องเหล่านั้นก็มักจะตอบโจทย์กลยุทธ์ที่วางไว้ จึงทำให้ OKRs เป็นเครื่องมือที่ทำให้เห็นความเชื่อมโยงกับเรื่องกลยุทธ์ได้ชัดเจนกว่าระบบเดิม ๆ ที่หลายองค์กรมักจะมีตัววัดเต็มไปหมด ซึ่งหลายครั้งไม่สามารถตอบได้ว่าที่วัดนั้นเกี่ยวกับกลยุทธ์อย่างไร
3. OKRs ช่วยให้พนักงานตั้งเป้าหมายที่ท้าทายมากขึ้น
เนื่องจาก OKRs จะไม่ได้ถูกนำไปโยงกับการประเมินผลการปฏิบัติงานของพนักงาน และไม่ได้เชื่อมโยงกับระบบการจ่ายผลตอบแทนทางการเงิน จึงทำให้พนักงานกล้าคิด กล้าทำอะไรใหม่ ๆ และกล้าที่จะตั้งเป้าหมายที่ท้าทายมากขึ้นกว่าระบบวัดผลเดิม ซึ่งมักจะถูกผูกโยงกับการประเมินผล และถ้าทำไม่ได้ถึงเป้าหมายก็จะไม่ได้ขึ้นเงินเดือน หรือไม่ได้โบนัส
และเนื่องจากการทำ OKRs มักจะเน้นให้พนักงานเลือกในสิ่งที่ตัวเองสนใจและอยากจะทำเป็นหลัก การตั้งเป้าหมายจึงเป็นสิ่งที่สร้างความสุขมากกว่าระบบเดิมที่เป้าหมายมักจะถูกตั้งมาจากระดับบน และบังคับให้พนักงานต้องทำตามอีกด้วย
4. OKRs ช่วยทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ในองค์กรมากขึ้น
การทำ OKRs นั้น เรามักจะเปิดโอกาสให้พนักงานได้คิดเอง ได้เลือกในสิ่งที่ตัวเองสนใจ แต่ช่วยตอบโจทย์องค์กร ดังนั้นโอกาสที่เราจะได้ความคิดสร้างสรรค์หรือนวัตกรรมใหม่ ๆ เกิดขึ้นในองค์กรจึงมีมากกว่าระบบเดิม ที่มักจะถูกคิดและสั่งมาจากระดับบริหารแต่เพียงอย่างเดียว
นอกเหนือจากนั้นการที่เราไม่ได้ผูกโยง OKRs เข้ากับการประเมินผลพนักงาน ก็จะทำให้พนักงานมีอิสระและกล้าคิดอะไรใหม่ ๆ โดยไม่ต้องกลัวความล้มเหลวอีกด้วย จึงไม่แปลกที่เราจะเห็นหลายองค์กรที่นำเอา OKRs ไปใช้มีสิ่งใหม่ ๆ ที่เป็นประโยชน์เกิดขึ้นในองค์กร
5. OKRs ช่วยให้เกิดความร่วมมือกันระหว่างพนักงานมากขึ้น
OKRs ไม่ใช่เครื่องมือที่จะใช้ในการจัดลำดับพนักงานว่าใครเก่งกว่าใคร ใครจะได้เงินเดือนขึ้นมากกว่าใคร ดังนั้นความร่วมมือในการทำ OKRs ของแต่ละทีมจะมีมากกว่าระบบเดิมที่หลายครั้งมีการนำเอาตัววัดผลมาเปรียบเทียบกัน และส่งผลต่อการประเมินผลหรือการจ่ายผลตอบแทน
นอกเหนือจากนี้ แรงกดดันในการที่จะต้องทำให้ได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ใน OKRs ก็ไม่มี หรือมีน้อยมาก ถ้าเทียบกับระบบวัดผลเดิม ๆ ความเครียดในการทำงานก็ลดน้อยลง ความร่วมมือช่วยเหลือกันในแต่ละฝ่ายก็มีแนวโน้มที่จะมีเพิ่มขึ้นอีกด้วย
นี่คือประโยชน์ 5 ข้อของการนำเอา OKRs ไปใช้ในองค์กร แน่นอนครับ ไม่ได้บอกว่าทุกองค์กรจะได้รับประโยชน์ทั้ง 5 ข้อนี้เหมือน ๆ กัน บางองค์กรอาจจะได้มาก บางองค์กรก็อาจจะได้น้อย และก็ไม่ได้จะสื่อว่าระบบการวัดผลเดิม ๆ เป็นระบบที่แย่เสมอไป บางองค์กรก็มีระบบการวัดผลที่ใช้งานได้ดีอยู่แล้วก็เป็นไปได้ เพียงแต่อยากจะสื่อสารว่าผลวิจัยที่ผมทำมีข้อสรุปออกมาว่าถ้าเราใช้ OKRs ได้ถูกวิธี OKRs จะเป็นประโยชน์ต่อองค์กรในหลายรูปแบบตามที่ได้เล่าให้ฟังครับ
ติดตามผลงานอื่น ๆ ได้ทาง Page Nopadol’s Story หรือ Nopadol’s Story Podcast ใน Podbean Soundcloud Apple Podcast Spotify YouTube หรือ Blockdit
No comment yet, add your voice below!