ทำไมการลดน้ำหนักมันถึงยากกว่าการวิ่ง

ช่วงปีใหม่คนมักจะตั้งสิ่งที่เรียกว่า New Year Resolution หรือปณิธานว่าเราจะทำอะไรดี ๆ ในชีวิตในปีที่จะถึงกันอย่างคึกคัก แต่ก็อย่างที่หลาย ๆ ท่านทราบครับ คือ ผลสุดท้าย สิ่งที่เราตั้งเป้าหมายไว้ ก็จะค่อย ๆ หายไป อันนี้ไม่ได้หมายถึงทุกคน แต่เอาเป็นว่าจำนวนไม่น้อยแหละที่เป็นแบบนี้ จะเร็ว จะช้าเท่านั้น

แต่บทความนี้ ไม่ได้มาเขียนว่า ทำไม คนถึงตั้งเป้าหมายแล้ว ทำไม่ได้ เพราะเข้าใจว่ามีหลายบทความเขียนเรื่องพวกนี้อยู่แล้ว เช่น เราไม่ได้มีการติดตามสม่ำเสมอ หรือ เราไม่ได้ทำเป็นนิสัย มันก็เลยอยู่ไม่นาน เผลอ ๆ คนตั้งเป้าหมายเองก็ทราบครับว่า ทำไมเขาถึงทำไม่สำเร็จ

แต่บทความนี้ อยากจะนำเสนอในอีกรูปแบบหนึ่งครับ…

คือปีที่ผ่านมา ผมมีข้อสังเกตอย่างหนึ่งว่า เป้าหมายที่ผมตั้งไว้ปีที่แล้ว ทุกข้อบรรลุผลหมด ยกเว้น ข้อเดียว คือ “การลดน้ำหนัก” และต้องบอกว่า นี่ไม่ใช่ปีแรกที่มีปรากฏการณ์อย่างนี้ มันเกิดแบบนี้มาหลายปีแล้ว

ทำไม ทำไม และ ทำไม

ก็การลดน้ำหนักมันก็เป็นเป้าหมายอีกข้อหนึ่ง และในเมื่อทุกข้อเราทำได้ ทำไมมันจะมีแค่ข้อนี้ ข้อเดียวที่มันจะทำไม่ได้ ผมว่ามันถึงเวลาที่จะวิเคราะห์กันแล้วครับ ผมขอเปรียบเทียบ เป้าหมายเรื่องการวิ่ง ที่ผมไม่เคยตั้งมาก่อนเลย เพิ่งตั้งมาปีที่แล้ว แต่ก็ทำสำเร็จเลย กับ การลดน้ำหนัก ที่ผมตั้งมานานหลายปีแล้ว และไม่ค่อยจะสำเร็จเลย

หลังจากนั่งตกผลึกเรื่องนี้มา ผมได้เหตุผลดังต่อไปนี้ครับ

1. การลดน้ำหนัก เป็นการ “เลิก” ไม่ใช่การ “ทำ”

ผมมีข้อสังเกตถึงความแตกต่างของเป้าหมายข้ออื่น ๆ ที่ผมทำสำเร็จ กับ เรื่องการลดน้ำหนัก คือ ข้ออื่น ๆ มันคือ “การทำ” และเรื่องลดน้ำหนักมันเป็น “การเลิก” ครับ

ยกตัวอย่างนะครับ ผมตั้งเป้าหมายว่าจะ “่วิ่งให้ได้ 1,000 กิโลเมตรต่อปี” จะเห็นว่า มันเริ่มต้นมาคือ เรายังไม่ได้วิ่งเลยสักกิโลเมตรเดียว เราจึงต้องหาทางเริ่มที่จะวิ่งใช่ไหมครับ และเมื่อวิ่งติด ๆ กัน ต่อไป ก็กลายเป็นนิสัย เมื่อเป็นนิสัย มันก็วิ่งได้เร็ว ได้ง่ายขึ้น แต่การลดน้ำหนัก ส่วนใหญ่ มันจะต้องลดการกินลง อันนี้ยากกว่า เพราะการกินมันเป็นนิสัยไปแล้ว คือถ้าไม่ใช่นิสัย เราก็คงไม่น้ำหนักเกินหรอก จริงไหมครับ

คราวนี้ การสร้างนิสัย กับ การเลิกนิสัย อันไหนมันง่ายกว่ากัน…

สำหรับผมนะครับ ผมว่า สร้างนิสัยง่ายกว่า คือไม่ใช่ว่าทำได้ง่าย ๆ นะครับ มันต้องใช้แรงพอสมควรในช่วงแรก ๆ แต่ถ้าผ่านช่วงนั้น มันจะไม่ลำบากมาก ซึ่งช่วงที่ต้องผ่าน มันอาจจะไม่นาน แต่เมื่อมันเป็นนิสัยแล้ว จะให้เลิก อันนี้ ไม่ง่ายแล้ว

ผมขอเปรียบเทียบให้เห็นครับ เช่น การที่รถอยู่นิ่ง ๆ (นิสัยเดิม) แล้วเราอยากให้มันขยับ (นิสัยใหม่) เราก็ต้องใช้แรงเข็นในตอนเริ่มแรก ซึ่งจะต้องใช้พลังพอสมควร แต่เมื่อล้อมันเริ่มขยับ รถเริ่มวิ่งไปแล้ว เราจะสังเกตว่า เราไม่ต้องใช้แรงอะไรมากมายเลย นี่คือตัวอย่างของการสร้างนิสัย

แต่ถ้ารถที่เราเข็นแล้ว มันเริ่มวิ่งเร็วขึ้นเรื่อย ๆ แล้ว เราอยากจะให้มันหยุด (เลิกนิสัยเดิม) คราวนี้ จะเห็นว่า ถ้าเราไปยืนขวางแล้วพยายามเอามือดันรถที่มันแล่นมาแล้ว มันยากกว่าเข็นตอนแรกเยอะเลย นี่ ถ้ารถมันมาเร็ว ๆ มาก ๆ (นิสัยเดิมมันมี momentum สุด ๆ ) แล้วเราเอาตัวไปขวางเพื่อจะหยุดรถอันนี้ อันตรายต่อชีวิตเลย ว่าไหมครับ

นั่นแหละครับ ที่ผมคิดว่า ทำไมเป้าหมายเรื่องการลดน้ำหนัก (เลิกนิสัยการกิน) มันถึงยากกว่าเป้าหมายเรื่องการวิ่ง (สร้างนิสัยการออกกำลังกาย)

2. การวัดน้ำหนักบางครั้งมันไม่เห็นความก้าวหน้า

ข้อสังเกตข้อที่ 2 ที่ผมค้นพบคือ เวลาเราตั้งเป้าหมาย ส่วนหนึ่งที่จะนำเราไปสู่เป้าหมายที่สำเร็จคือการวัดผลเพื่อทำให้เห็นความก้าวหน้าครับ

จริง ๆ ทั้งเรื่องการลดน้ำหนัก กับ การวิ่ง ที่ผมยกมาเป็นตัวอย่างผมก็มีค่าเป้าหมายชัดเจน และระหว่างทางก็มีการวัดผลชัดเจน

เพียงแต่ว่า …

การวิ่ง เราจะเห็นแต่ความก้าวหน้า มันไม่มีการถอยหลังครับ ไม่ว่าเราจะวิ่งหรือไม่วิ่ง มันมีแต่จะไปข้างหน้าเข้าสู่จุดหมายเสมอ เช่น ผมตั้งเป้าหมายว่าจะวิ่งให้ได้ปีละ 1,000 กิโลเมตร วันนี้วิ่งได้ 5 กิโลเมตร พรุ่งนี้วิ่งอีก 5 กิโลเมตร มันก็รวมเป็น 10 กิโลเมตร จะเห็นว่าเวลาเราวัดผล เราจะเห็นแต่ความก้าวหน้า ซึ่งมันเป็นกำลังใจอย่างหนึ่ง

หรือถ้าวันไหนเราไม่วิ่ง มันก็ไม่ได้ทำให้ระยะทางที่เราวิ่งไปแล้วในวันก่อน ๆ มันหายไปใช่ไหมครับ

แต่เรื่องการลดน้ำหนักมันไม่ใช่แบบนั้นครับ

เราอาจจะตั้งเป้าว่าจะลดน้ำหนักให้ได้ 10 กิโลกรัม วันนี้ลดลง 1 กิโลกรัม ดีใจ ๆ มีความก้าวหน้า แต่ผ่านไป 1 สัปดาห์ ไอ้ที่ลดลง 1 กิโลกรัม หายไปแล้ว เพราะเผลอไปกิน กลายเป็นแทนที่จะลด กลับเพิ่มอีก 1 กิโลกรัมด้วยซ้ำ

นี่แหละครับ การลดน้ำหนักมันจึงไม่ค่อยเห็นความก้าวหน้า บางทีลดได้แล้ว เดี๋ยวมันก็กลับมาใหม่อีก ผ่านไป 6 เดือน ขึ้น ๆ ลง ๆ จนหมดแรง ไม่เหมือนกับวิ่ง จะมาก จะน้อย จะไม่วิ่ง ระยะทางการวิ่งก็มีแต่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ กำลังใจมันผิดกันครับ

3. การลดน้ำหนัก มีช่วงเวลาที่ต้อง ทรมาน นานกว่า

เราลองมาเปรียบเทียบกันครับ เวลาเราจะ “เปลี่ยนนิสัย” จากคนไม่เคยวิ่ง ให้วิ่งให้ได้ 1,000 กิโลเมตรต่อปี หรือคนที่กินบ่อย ๆ เยอะ ๆ ให้งดอาหารเพื่อลดน้ำหนัก สิ่งที่มีคล้าย ๆ กัน คือ เราต้อง “ฝืนใจ” ทำในสิ่งที่ตอนแรกเราไม่ชอบ

เอาวิ่งก่อน คนที่ไม่เคยวิ่ง แล้ววันหนึ่งจะต้องออกมาวิ่ง มันก็ไม่สนุกหรอกครับ บอกได้เลย เพียงแต่ว่า ระยะเวลาที่ไม่สนุก มันแค่ 1 ชั่วโมงเอง (และเผลอ ๆ น้อยกว่านั้นด้วย เพราะพอเริ่มวิ่งไป มันจะยิ่งรู้สึกดีขึ้นด้วยซ้ำ อันนี้เป็นวิทยาศาสตร์สมองที่มันจะหลั่งสารสร้างความสุข เวลาเราออกกำลังกาย) และหลังจากนั้น พอเราวิ่งเสร็จ ก็จบกัน อยากทำอะไรที่ตัวเองอยากทำก็ทำไปสิ่งครับ เราบรรลุเป้าหมายแล้ว พูดง่าย ๆ ถ้าจะทรมานก็แค่ 1 ชั่วโมง (สมมุติว่าวิ่ง 1 ชั่วโมงนะครับ)

คราวนี้มาดูการลดน้ำหนักบ้าง สิ่งที่เราควรจะทำคือลดปริมาณอาหารลงใช่ไหมครับ ทรมานไหม แน่นอนทรมานดิ (ใครไม่ลด ไม่ทราบหรอก 555) เพียงแต่ไอ้ความทรมานแบบนี้ มันไม่ได้อยู่แค่ 1 ชั่วโมงเหมือนการวิ่งนี่ มันอยู่ตลอดระหว่างที่เราหิว นั่นอาจจะหมายถึงตลอดทั้งวันเลยก็ได้

นี่ไงครับ การลดน้ำหนักมันเลยยากกว่า เพราะเราต้องใช้พลังใจสูงมากและเป็นระยะเวลานานมาก ๆ อีกต่างหาก ถ้าจะเทียบกับการวิ่งก็เหมือนกับมาราธอนเลย คือ มันอาจจะต้องอดทนเป็นระยะเวลาหลายชั่วโมง และที่สำคัญคือมันต้องทำทุกวัน ลองนึกว่าเราต้องวิ่งมาราธอนทุกวัน เรายังไม่ไหวเลย ลดน้ำหนักมันมาแนวเดียวกันนี่แหละครับ

และแถมสมองเราก็ไม่เป็นใจด้วย ผมยังไม่ค่อยจะได้เห็นว่า ใครรู้สึกหิว แล้วมีึความสุข เหมือน วิ่งแล้วมีความสุข เพราะในดึกดำบรรพ์ สมองเราไม่ชอบความหิวครับ เพราะหิว มันหมายถึงภัยต่อชีวิต นี่แหละที่เป็นนิสัยทำให้มนุษย์มักจะกินเกินพอดี เพราะแต่ก่อนเราไม่รู้ว่าเมื่อไรจึงจะได้เจออาหารอีก เราจึงต้องกินเก็บไว้ แต่ตอนนี้ถึงแม้ว่าเราจะกินเมื่อไรก็ได้ แต่สัญชาตญาณเดิมยังอยู่ในยีนเราอยู่ครับ เราจึงกินประหนึ่งเหมือนกับว่า จะไม่มีอาหารให้เรากินอีก 1 สัปดาห์

4. การกินมีสิ่งยั่วยวนใจจำนวนมาก

เนื่องจากการกินคือ “การเลิก” แต่เรากำลังอยู่ในสังคมที่ อาหารมีทุกที่ หาง่ายขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ว่าร้านสะดวกซื้อ หรือ แม้กระทั่ง Social Media ที่กระหน่ำส่งรูปอาหารมาบ่อยเหลือเกิน พวกนี้แหละครับที่จะทำให้เราตบะแตกได้ง่าย

มันไม่เหมือนการวิ่ง ที่มันไม่ค่อยมีสิ่งยั่วยวนใจที่จะห้ามให้เราไม่วิ่ง หรือถ้ามี มันก็ไม่เยอะเท่าอาหารที่ยั่วยวนใจให้เรากินหรอกครับ นี่เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่สุดท้าย เราก็แพ้ใจตัวเองไปกินจนได้

เอาล่ะครับ อันนี้คือสิ่งที่ผมตกผลึกได้ว่ามันมีความแตกต่างกันระหว่างเป้าหมายเรื่องการลดน้ำหนัก กับ การวิ่ง แต่คำถามต่อไป คือ แล้วจะทำอย่างไรให้สำเร็จล่ะ ไม่งั้นสิ่งที่เขียนมันก็เป็นแค่ข้อแก้ตัว สำหรับคนที่ลดน้ำหนักไม่สำเร็จเท่านั้น

อันนี้เป็นความเห็นของผมนะครับ มันก็มาจากการวิเคราะห์ข้างต้นแหละครับ และตัวผมเองก็กำลังทดลองใช้อยู่เหมือนกัน (เอาไว้ได้ผลอย่างไร จะมา update ครับ)

1. ค่อย ๆ ชะลอการกินลง

อย่างที่เขียนไว้ตอนต้นครับ การลดน้ำหนักคือการเลิกไม่ใช่การทำ เหมือนรถที่วิ่งมาเร็ว ๆ เราอย่าเอาตัวไปขวางทาง แบบหักดิบ เพราะมันอันตราย แต่ค่อย ๆ ชะลอ ลดลงไปเรื่อย ๆ เหมือนค่อย ๆ แตะเบรครถเราไป เรายังกินอะไรได้อยู่บ้าง ไม่ต้องรู้สึกผิด แต่ค่อย ๆ ลดลง มันใช้เวลาครับ ไม่ใช่ว่าเดือนเดียวจะเอาให้หายไป 10 กิโลกรัม มันทั้งยากและอันตรายต่อสุขภาพ

2. วัดผลให้เห็นความก้าวหน้า

แทนที่เราจะวัดเฉพาะน้ำหนักเราอย่างเดียว เราลองวัดให้มันมีแต่ความก้าวหน้าดูสิครับ เช่น การวัดจำนวนวันที่น้ำหนักเราลดลงจากวันก่อนหน้านี้ วัดแบบนี้จะเห็นแต่ความก้าวหน้าไปเรื่อย ๆ ครับ พยายาม record ไว้ครับ วันไหนน้ำหนักมันขึ้นหรือมันไม่ลดลง มันก็เหมือนวันที่เราไม่ไปวิ่งแหละครับ คือ มันนับเป็น 0 แล้วตั้งเป้าหมายไว้ว่าวันที่น้ำหนักลงมันน่าจะเกินครึ่งหนึ่งของปี แบบนี้เราก็มีโอกาสที่น้ำหนักโดยรวมจะลดแล้วล่ะครับ (ผมทราบครับ คือนับเป็นวัน มันอาจจะไม่ได้หมายความว่า น้ำหนักจะลดลงเสมอไป เพราะถ้ามันขึ้นวันเดียว 3 กิโลกรัม แต่ละลง 2 วันวันละ 1 กิโลกรัม แบบนี้น้ำหนักก็ขึ้น แต่โดยภาพรวม เราคงไม่ทำน้ำหนักขึ้นมา เพื่อจะนับจำนวนวันที่ลดลงหรอกครับ ถ้าทำแบบนั้น เราก็คงไม่อยากลดน้ำหนักแล้วล่ะ) อันนี้อาจจะเป็นอีกวิธีที่จะสร้างแรงจูงใจให้เรา

3. ต้องเปลี่ยนความหิวเป็นความสุข

อันนี้ยากสุด ๆ ครับ เพราะผมเคยทำมาแล้ว แต่ถ้าทำได้ มันจะช่วยได้มากเลย (ช่วงที่ผมทำ น้ำหนักผมลดลงมากเลยครับ) คืุออย่างที่บอก เวลาวิ่ง สมองหลั่งสารความสุขมา คนถึงวิ่งแล้วไม่อึดอัด ทรมานมาก และสามารถทำได้ติดต่อกัน แต่เวลาหิว สมองมักจะสั่งให้กิน พอเราไม่ทำ มันก็ทรมาน

แต่ทำอย่างไรล่ะครับ ที่ทำให้ความหิวเป็นความสุข สิ่งที่ผมเคยทำ คือ ผมอ่านหนังสือเล่มหนึ่งครับ ชื่อ ยิ่งหิว ยิ่งสุขภาพดี จำได้เลยว่า ตอนนั้นเวลาหิวปุ๊บ ผมนึกถึงเรื่องนี้ปั๊บว่า เออนี่ไง สุขภาพเราเริ่มดีขึ้นแล้ว อีกจุดหนึ่งที่มันช่วยได้คือ ถ้าเราทนสักระยะหนึ่ง น้ำหนักเราเริ่มลด มันจะเริ่มมีคนสังเกตเห็น แล้วจะมาด้วยคำพูดว่า “ผอมลงป่ะเนี่ย” อะไรทำนองนี้ ซึ่งจะเป็นกำลังใจทำให้เราไปต่อ เราจะกลับมาใส่เสื้อผ้าที่เราใส่ไม่ได้มานานแล้ว อะไรแบบนี้

4. หลีกหนีสิ่งยั่วยวนใจในการกิน

ช่วงที่เรา Diet อย่างแรกที่เราควรทำคือลดการเข้าร้านสะดวกซื้อครับ มีคนกล่าวว่า เราแพ้สงครามการลดน้ำหนัก ตั้งแต่เราซื้อ Junk Food มาไว้ที่บ้านแล้ว เพราะพอมันมาอยู่ที่บ้าน ไม่ช้า ก็เร็ว เดี๋ยวเราก็กิน

หรือพยายามลด Social Media ลง โดยเฉพาะพวกรูปภาพที่เกี่ยวกับอาหาร เห็นแล้วยิ่งเกิดกิเลส และสุดท้าย เดี๋ยวเราก็พ่ายแพ้ และก็จัดเต็มทุกที

เขียนมาซะยาว เอาเป็นว่าเป็นความคิดเห็น ที่หวังว่าจะเป็นประโยชน์ก็แล้วกันนะครับ ส่วนตัวก็ทดลองอยู่เหมือนกัน เพราะอย่างที่เล่าให้ฟังคือ มันเป็นข้อสังเกตที่ผมค้นพบด้วยตัวเองว่า เป้าหมายเรื่องลดน้ำหนัก เป็นข้อเดียวที่ผมทำไม่ได้ แต่ถ้าปล่อยไปเรื่อย ๆ ผลมันก็จะเหมือนเดิม ถ้าเราอยากได้สิ่งที่ไม่เคยได้ เราก็ต้องทำให้สิ่งที่ไม่เคยทำ

ผมเชื่ออย่างนั้นครับ เป็นกำลังใจให้ทุกคนที่กำลังลดน้ำหนักแล้วกันครับ

อ่านบทความอื่น ๆ ได้ที่ www.NopadolStory.com หรือเข้าร่วมกลุ่ม Line@ ได้ที่ https://line.me/R/ti/p/%40nopadolrompho หรือฟัง Podcast Nopadol’s Story ได้ที่ https://nopadolstory.podbean.com/

Recommended Posts

No comment yet, add your voice below!


Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *