ในฐานะที่ผมเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย ได้เจอนักศึกษาชั้นปีที่ 4 ที่กำลังจะจบการศึกษาอยู่เรื่อย ๆ คำถามยอดฮิตคำถามหนึ่งที่ผมมักจะได้รับคือ “อาจารย์ครับ ผมเรียนจบแล้ว ไปทำงานที่ไหนดี”
จริง ๆ ก็คงเดาได้ว่าคำตอบนี้คงไม่ได้มีคำตอบที่ถูกที่สุดเพียงคำตอบเดียว และจะให้คำตอบได้ดีก็คงต้องถามกลับถึงเรื่องเป้าหมายชีวิต ความชอบ และหลาย ๆ เรื่อง แต่ถ้าจะสรุปรวม ๆ ทางเลือกและข้อดีข้อเสียมีดังต่อไปนี้
1. ทำงานเป็นพนักงานประจำในองค์กร
ต้องบอกว่าจากประสบการณ์ของผม อันนี้เป็นทางเลือกที่นักศึกษาเลือกมากที่สุด คือพอเรียนจบในสาขาของตัวเอง ก็มักจะเข้าไปสมัครงานเป็นพนักงานประจำในองค์กรที่เขาประกาศรับ
ข้อดีของทางเลือกนี้คือ ความเสี่ยงค่อนข้างน้อย คือถ้าองค์กรรับเราเข้ามา รายได้เราจะได้ค่อนข้างแน่นอน สิ้นเดือนก็รับเงินเดือนไป ถามว่าโอกาสโดนให้ออกมีไหม ก็มี แต่ก็ไม่เยอะมาก เพราะถ้าเขาจะลดคน โดยปกติก็คงไม่มารับคนเพิ่ม
แต่ข้อเสียของทางเลือกนี้คือบางทีเราอาจจะไม่ได้ทำอะไรอย่างที่เราอยากทำซะทีเดียว ยิ่งเข้าไปใหม่ ๆ ส่วนใหญ่ก็มักจะถูกให้ทำงานตามสั่ง ซึ่งอาจจะไม่ค่อยถูกใจเรา และโอกาสที่เราจะได้รายได้เพิ่มขึ้นมาก ๆ ก็อาจจะน้อยหน่อย เพราะแต่ละปีเขาจะขึ้นเงินเดือนให้ก็ไม่มากนัก ทางเลือกที่จะได้รายได้เพิ่มก็คือการย้ายงาน แต่ทำบ่อยก็อาจจะไม่ง่ายนัก เนื่องจากประสบการณ์เราก็น้อย โดยเฉพาะในช่วงแรก ๆ การย้ายงานก็อาจจะไม่ได้ช่วยทำให้รายได้เราเพิ่มขึ้นสักเท่าไรนัก
ข้อแนะนำหากเลือกทางเลือกนี้ คือเรื่องเงินเดือนอาจจะเป็นเรื่องรอง ให้มองว่านี่คือโรงเรียนของเราอีกโรงเรียนหนึ่ง แต่ที่ดีกว่าโรงเรียนทั่วไปก็คือ ปกติเราไปเรียนเราต้องจ่ายเงิน แต่ที่ทำงาน เราได้เรียนรู้งาน แล้วแถมได้เงินทุกเดือนด้วย วางแผนอนาคตให้ดีว่าอยากทำอะไร แล้วลองไปทำงานในองค์กรที่ทำสิ่งนั้นหรือใกล้เคียงกับสิ่งที่เราอยากทำ
แต่ถ้ายังไม่รู้ว่าอยากทำอะไร ก็ลองทำไปก่อนไม่เสียหาย ขอแค่อย่าเกลียดก็พอ แล้วเดี๋ยวเราจะค่อย ๆ เห็นทางของเราต่อไป ไม่ต้องรีบ
2. ทำงานเป็นฟรีแลนซ์
คำว่าฟรีแลนซ์ก็คือการทำงานแบบอิสระ รับงานจากคนอื่น ๆ อันนี้อาจจะเหมาะกับบางวิชาชีพ เช่น ถ้าจบสถาปนิก แต่ไม่อยากทำงานในบริษัทสถาปนิก เราก็อาจจะออกมารับงานออกแบบส่วนตัวเองได้
ข้อดีของแบบนี้ที่อาจจะถูกใจวัยรุ่นคือเรามีอิสระในการทำงานเต็มที่ อยากตื่นกี่โมง อยากทำงานถึงกี่โมง อยากหยุดงาน เอาที่เราสบายใจ การเพิ่มขึ้นของรายได้ ก็ขึ้นอยู่กับฝีมือและความขยันของเรา ไม่ต้องมานั่งลุ้นว่าปีนี้จะได้เงินเดือนขึ้นกี่เปอร์เซ็น จะได้โบนัสกี่เดือน เหมือนทำงานบริษัท
แต่ข้อเสียก็คือ ส่วนใหญ่แล้ว ยิ่งเราไม่มีประสบการณ์ การออกมารับงานเองอาจจะทำได้ยาก คนยังไม่รู้จักหรือเชื่อมือเรา และในบางวิชาชีพอาจจะทำได้ลำบาก เช่น สมมุติว่าจบวิศวกรมา เราจะมาเป็นวิศวกรฟรีแลนซ์ อาจจะยากหน่อย (ไม่ได้แปลว่าทำไม่ได้ แต่อาจจะเป็นบทบาทของที่ปรึกษา ซึ่งเด็กจบใหม่ก็ยากที่จะได้ลูกค้า) ที่สำคัญรายได้จะไม่ค่อยแน่นอน ถ้าเดือนไหนไม่มีลูกค้าเลย ก็แปลว่ารายได้เราจะเป็นศูนย์ทันที
ข้อแนะนำของทางเลือกนี้คือ ถ้าอยากทำจริง ๆ ทำไปได้เลย ถือว่าเป็นการเรียนรู้อีกรูปแบบหนึ่ง แต่ต้องยอมรับความจริงได้ว่า รายได้อาจจะไม่มีหรือมีน้อยจนไม่พอนะ ถ้ามีคนสนับสนุนทางการเงินเราอยู่ เช่น คุณพ่อคุณแม่ ลองปรึกษาท่านสักนิด ถ้าท่านพร้อมสนับสนุนตรงนี้ ก็ลุยเลย เพราะถ้าทำแล้ว มันเหมือนจะไปได้ยาก ทางเลือกของงานประจำยังรอเราอยู่เสมอ เพราะเราอายุยังน้อย
3. มาเป็นผู้ประกอบการเอง
ทางเลือกนี้ต่างจากฟรีแลนซ์ตรงที่ ฟรีแลนซ์เราออกมารับงานของเราคนเดียว ตามที่มีคนจ้าง แต่ถ้าเป็นผู้ประกอบการคือเราตั้งธุรกิจขึ้นมาเป็นเรื่องเป็นราวเลย ยกตัวอย่างเช่น การจับมือกับเพื่อนทำสตาร์ทอัพ หรือ SMEs ต่าง ๆ
ข้อดีของทางเลือกนี้คือ เราจะได้ประสบการณ์ไปเต็ม ๆ เกี่ยวกับการทำธุรกิจ เพราะการเป็นผู้ประกอบการเราจะต้องมีความรู้รอบด้าน และหากประสบความสำเร็จมันก็จะได้ผลตอบแทนมหาศาลมากกว่างานประจำหรือฟรีแลนซ์
แต่ข้อเสียก็คือโอกาสที่จะเจ๊งแล้วไปไม่รอดก็มีสูง อย่างสตาร์ทอัพก็ว่ากันว่า 90% มักจะไปไม่รอด หรือแม้แต่การเป็น SMEs ก็ตาม อีกอย่างที่ทำให้ทางเลือกนี้ทำได้ยากก็คือการหาเงินลงทุนขั้นต้น เพราะธุรกิจส่วนใหญ่มักจะต้องใช้เงินลงทุนในตอนเริ่มต้น นอกจากนี้แต่ละเดือนยังมีรายจ่ายประจำอยู่เรื่อย ๆ เช่น ค่าจ้างพนักงานที่มาทำงานให้เรา
ข้อแนะนำสำหรับคนที่สนใจเลือกทางเลือกนี้คือ ถ้าเป็นไปได้ ลองเริ่มจากธุรกิจที่ใช้เงินลงทุนน้อย ๆ ก่อน อย่าเพิ่งกู้หนี้ยืมสินมาเป็นจำนวนมากมาลงทุน หรืออีกทางคือลองนำเอาโครงการที่อยากลงทุนไปนำเสนอกับนักลงทุนก่อน ถึงแม้ว่าจะไม่ง่าย หรือเขาไม่ให้เงินลงทุน แต่อย่างน้อย เราก็จะได้ทราบว่าจุดอ่อนที่เราอาจจะมองข้ามไปคืออะไร
ก็อย่างที่บอกว่า คงไม่มีทางเลือกใดดีกว่าทางเลือกใด มันขึ้นกับบริบท สถานการณ์ ของแต่ละคนที่แตกต่างกันออกไป แต่ไม่ว่าจะเลือกทางเลือกใด สิ่งหนึ่งที่เราควรทำคือพยายามเรียนรู้หาประสบการณ์จากทางเลือกนั้นให้ได้มากที่สุด
ติดตามผลงานอื่น ๆ ได้ทาง Page Nopadol’s Story หรือ Nopadol’s Story Podcast ใน Podbean Soundcloud Apple Podcast Spotify YouTube หรือ Blockdit
No comment yet, add your voice below!