สถานการณ์ที่เรา (ไม่) ควรเริ่มเป็นคนแรก

ผมอ่านหนังสือเรื่อง When ที่แต่งขึ้นโดย Daniel Pink มันมีประเด็นที่น่าสนใจคือ เวลาที่เราเริ่มต้น มันมีผลอย่างยิ่งกับผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น เข้าทำนองที่ว่า เริ่มต้นดี มีชัยไปกว่าครึ่ง อะไรทำนองนั้น หนังสือเล่มนี้จึงแนะนำว่า เราควร หรือ ไม่ควร เริ่มต้นทำอะไรเป็นคนแรก เอาเป็นว่า ลองไปดูกันเลยดีกว่าครับ

สถานการณ์ที่เราควรเริ่มต้นเป็นคนแรก

1. ถ้าเราสมัครรับเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นการเลือกอะไรก็ตามที่มีเบอร์ให้ Vote งานวิจัยพบว่าคนที่ได้เบอร์ 1 จะได้เปรียบเบอร์อื่น ๆ เสมอ น่าแปลกใจ แต่งานวิจัยยืนยันแบบนั้นจริง ๆ ครับ อาจจะเป็นเพราะเบอร์ที่ 1 เป็นเบอร์ที่จำง่าย และสำหรับคนที่ไม่รู้จะเลือกใคร เขาอาจจะเลือกเอาที่จำง่าย ๆ ก็เป็นไปได้ก็ได้ครับ

2. เมื่อเราไม่ได้เป็นทางเลือกที่จะถูกเลือกอยู่แล้ว เช่น เราต้องนำเสนองานแข่งกับบริษัทที่เคยได้งานแบบนี้มาก่อนแล้ว ถ้าเราได้เริ่มนำเสนอก่อน จะทำให้คนตัดสินใจเขาได้เห็นมุมมองใหม่ ๆ จากเรา ซึ่งอาจจะทำให้เราได้เปรียบ

3. ถ้าเรามีคู่แข่งจำนวนไม่มากนัก (คือไม่เกิน 5 ราย) การได้นำเสนอก่อนจะมีโอกาสทำให้คนจำเราได้ง่ายกว่า รายอื่น ๆ

4. ถ้าเราต้องสัมภาษณ์งานแข่งกับคนอื่น ๆ ที่เก่งกว่า มีงานวิจัยที่ศึกษาการรับนักศึกษา MBA ใน 9,000 คนพบว่ากรรมการมักจะคิดว่ากลุ่มผู้เข้าสัมภาษณ์กลุ่มเล็ก ๆ จะเป็นตัวแทนที่ดีของประชากรทั้งหมด ดังนั้น ถ้าเขาเริ่มเห็นว่านักศึกษากลุ่มที่เขาสัมภาษณ์แรก ๆ เป็นคนเก่ง เขาจะเริ่มที่จะเข้มขึ้นในการสัมภาษณ์คนหลัง ๆ คือพยายามหาจุดอ่อนให้ได้ ดังนั้นคนแรก ๆ จึงได้เปรียบ เพราะปกติกรรมการเขาให้คะแนนไปแล้ว เขามักจะไม่กลับไปแก้ หรือเผลอ ๆ อาจจะตัดสินใจรับไปแล้วด้วยซ้ำ เขาจะมาเข้มตอนหลัง ๆ แทน ยิ่งพื้นที่รับมันจำกัด คนหลัง ๆ จึงเสียเปรียบมาก

แต่มันไม่ใช่ทุกสถานการณ์นะครับที่เราควรเริ่มเป็นคนแรก ยังมีสถานการณ์ที่เราไม่ควรเริ่มเป็นคนแรกเช่นกัน ลองมาดูกันทีละข้อเลยครับ

1. ถ้าเราเป็นคนที่เขามักจะเลือกอยู่แล้ว เช่น เราเป็นบริษัทที่เคยรับงานอยู่เป็นประจำ เหตุผลคือ พอตอนหลัง ๆ กรรมการมักจะล้า แล้วเมื่อเขาล้า เขามักจะตัดสินใจเลือกทางเลือกที่เขาคุ้นเคยอยู่แล้ว เราจึงมีโอกาสมากกว่า เวลาเราอยู่หลัง ๆ

2. เมื่อมีผู้เข้าแข่งขันเป็นจำนวนมาก ๆ (แต่อาจจะไม่ได้มีความสามารถแตกต่างกันมากนัก) โดยเฉพาะการอยู่อันดับสุดท้าย มีงานวิจัยที่เก็บการแข่งขันกว่า 1,500 กรณีพบว่า 90% ของคนที่แสดงหลังสุดจะได้เข้ารอบ เพราะช่วงแรก ๆ กรรมการจะตั้ง Standard ไว้สูง แต่ต่อมาเขามักจะลด Standard ลง นอกจากนี้คนที่แสดงทีหลังมักจะสามารถปรับการนำเสนอของตัวเองได้ เพราะเขาเห็นว่า กรรมการชอบอะไร ไม่ชอบอะไร

3. เมื่อเราต้องเข้าแข่งขันในกรณีที่เราไม่มีข้อมูลมากนัก เช่น เราไม่รู้ว่ากรรมการชอบอะไร ไม่ชอบอะไร ควรทำอะไร ไม่ควรทำอะไร แบบนี้ เราไม่ควรเริ่มเป็นคนแรกอย่างยิ่ง เริ่มหลัง ๆ จะได้เรียนรู้ได้

4. เมื่อเราแข่งขันกับคนที่ไม่เก่งมากนัก การที่ได้แสดงคนสุดท้าย จะทำให้เราสามารถนำเสนอให้เห็นความแตกต่างได้อย่างชัดเจน

น่าจะพอได้ประโยชน์นะครับ ลองนำไปใช้กันดูครับ

อ่านบทความอื่น ๆ ได้ที่ www.NopadolStory.com หรือเข้าร่วมกลุ่ม Line@ ได้ที่ https://line.me/R/ti/p/%40nopadolrompho หรือฟัง Podcast Nopadol’s Story ได้ที่ https://nopadolstory.podbean.com/

Recommended Posts

No comment yet, add your voice below!


Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *