ลองจินตนาการว่าท่านเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านบัญชีมาก ๆ แล้ววันหนึ่งท่านไปบรรยายเรื่องที่ท่านเชี่ยวชาญในองค์กรแห่งหนึ่ง
ปรากฏว่ามีคนถามหลักการบัญชีอันหนึ่งขึ้นมา ซึ่งเป็นหลักการที่ท่านไม่ได้มีความคุ้นเคย อาจจะเป็นเพราะว่าหลักการนี้เพิ่งออกมาใหม่ แต่ท่านไม่ได้ติดตาม หรือจากเหตุผลอื่น ๆ ก็ได้
คำถามคือท่านจะตอบเรื่องนี้ได้อย่างไร
ถ้าตอบแบบตรงไปตรงมาจริง ๆ คำตอบควรจะเป็นว่า ท่านไม่ได้คุ้นเคยกับเรื่องนี้เลย ขอให้เขาอธิบายเพิ่มมาหน่อย ก่อนที่ท่านอาจจะออกความคิดเห็นในเรื่องนี้ หรือไม่ก็อาจจะต้องขอเวลาท่านกลับไปศึกษาเพื่อหาคำตอบนี้มาตอบให้ในภายหลัง (หรือถ้าเจอกันครั้งเดียว ก็อาจจะขอ email ท่านผู้ถามไว้ เผื่อจะได้ตอบกลับไป)
แต่เชื่อไหมครับ ที่ผู้เชี่ยวชาญหลายท่านเลือกที่จะตอบว่า
“อันนี้ไม่ต้องทราบหรอกครับ เพราะมันไม่สำคัญเลย” โดยหาเหตุผลต่าง ๆ มาบอกว่าเรื่องนี้มันไม่สำคัญจริง ๆ
ใช่ครับ มันอาจจะเป็นคำถามที่นอกเรื่องนอกราว ไร้สาระ หรือไม่สำคัญจริง ๆ แต่หลาย ๆ คำถามถ้าพิจารณาดูดี ๆ แล้ว มันมีความเกี่ยวข้องอยู่ระดับหนึ่ง ไม่ถึงกับว่าไม่สำคัญเลย
เพียงแต่ว่า คนที่เป็นผู้เชี่ยวชาญท่านนั้นอาจจะรู้สึกอายที่ตอบคำถามลักษณะนี้ไม่ได้ ก็เลยพาลบอกว่าเรื่องนี้ไม่สำคัญ หรือเขาอาจจะรู้สึกว่ามันไม่สำคัญจริง ๆ เลย เพียงแค่เพราะว่า เขาคิดว่าเขารู้เรื่องที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่เขาเชี่ยวชาญทั้งหมดแล้ว ดังนั้นอะไรที่เขาตอบไม่ได้ ย่อมแปลว่าไม่สำคัญเสมอ
เอาเป็นว่า ระวังกับดักเรื่องนี้ให้ดีนะครับ สิ่งที่เราควรทำคือถามตัวเองดี ๆ ว่า มันไม่สำคัญจริงหรือ มันไม่มีประโยชน์ใด ๆ เลยจริงหรือ อย่าเพิ่งรีบตอบเข้าข้างตัวเองนะครับ เพราะมันหาเหตุผลง่ายมากครับถ้าเราจะอธิบายว่าสิ่งไหนไม่สำคัญ
ถ้าไตร่ตรองแล้ว รู้ก็ดีกว่าไม่รู้ ลองหาความรู้เพิ่มเติมในเรื่องนั้น แล้วเราจะเป็นคนที่เก่งขึ้นไปเรื่อย ๆ ในเรื่องนั้นเลยล่ะครับ
สำหรับผมคนที่เก่งมาก ๆ คือคนที่ผมได้ยินคำพูดว่า “ผมไม่รู้เรื่องนี้ ต้องขอความรู้เพิ่มเติมหน่อย” บ่อยครั้งมาก ๆ เลยล่ะครับ
ติดตามผลงานอื่น ๆ ได้ทาง Page Nopadol’s Story หรือ Nopadol’s Story Podcast ใน Podbean Soundcloud Apple Podcast Spotify YouTube หรือ Blockdit