สิ่งที่ได้รับจากการทำ Podcast ครบ 100 ตอน

บทความนี้เขียนขึ้น เมื่อผมได้ทำ Podcast ในช่อง Nopadol’s Story ครบ 100 ตอนครับ แต่ก่อนอื่นขอเล่าให้ฟังก่อนว่า ทำไมอยู่ดี ๆ จึงลุกขึ้นมาทำ Podcast

ผมเคยได้ยินเรื่อง Podcast มาสักระยะแล้วล่ะครับ จริง ๆ ได้รู้จักจากการอ่านหนังสือหลาย ๆ เล่ม เขาก็แนะนำว่า ให้ทำ Podcast และก็พอจะเข้าใจว่ามันก็คล้าย ๆ ช่องวิทยุนั่นแหละ คือมีคนมาอัดเสียง แล้วปล่อยเสียงออกมาเป็นตอน ๆ แต่ก็ไม่ได้สนใจอะไร และก็คิดว่าคนไทยส่วนใหญ่ก็คงจะไม่ค่อยฟัง

ต่อมาก็เห็นคุณรวิศ เจ้าของบริษัทศรีจันทร์และ Page Mission to the moon ได้ share ว่าทำ Podcast ช่อง Mission to the moon ก็อีกนั่นแหละ กดผ่านไป ไม่ได้สนใจอะไร จนกระทั่งคุณบอย วิสูตร ก็ลุกขึ้นมาทำ Podcast ช่อง Boy’s Thought และคุณบอยก็มาชวนใน Page ของแกว่า มาทำ Podcast กันเถอะ เมืองไทยยังไม่ค่อยมีคนทำสักเท่าไร

ผมก็เลย ลองกดเข้าไปฟัง เริ่มจากของคุณบอยก่อนเลยในตอนแรก ฟังเสร็จแล้ว เฮ้ย มันสนุกดีแฮะ ได้ความรู้ด้วย ต้องเล่าให้ฟังอีกว่า ผมเป็นคนชอบฟังหนังสือเสียง (Audio book) อยู่แล้ว เวลารถติด ๆ ผมว่ามันได้ความรู้ดี แต่ Audio book ส่วนใหญ่มันเป็นภาษาอังกฤษ พอมาฟัง Podcast ที่คนไทยพูด ยิ่งชอบ หลังจากนั้นก็เข้าไปฟังของคุณรวิศ คราวนี้ยิ่งชอบหนักเลย เหมือนบทความที่คุณรวิศเขียนแหละครับ ได้ความรู้ และมันเพลินอีกต่างหาก

เอาล่ะครับ คราวนี้ ก็เลยคิดเลยว่า งั้นทำบ้างดีกว่า และส่วนตัว ผมมักจะคิดแล้วทำเลย เพราะถ้าเอาแต่ “จะ” ทำ คงไม่ได้ทำสักที ว่าแล้ว ก็เปิดคอมพิวเตอร์ Search หา Program อัดเสียงในคอมพิวเตอร์นั่นแหละ และก็เริ่มพูดเลย เสร็จแล้ว ก็แปลงเสียงให้อยู่ในรูป File MP3 และก็ Load ลง Application Podcast ซึ่งตอนนั้นได้อ่าน Post ของคุณบอย ก็เลยเห็นว่า Podbean เป็น App ที่เหมาะกับการทำ Podcast มากกว่า Soundcloud ซึ่งเขาใช้ฟังเพลงกันมากกว่า

ว่าแล้วก็ load file เข้า Podbean ทันที แล้วก็ load เข้า Soundcloud ด้วย เอามันทั้งสองที่นี่แหละ และก็ Post บอกเพื่อน ๆ ใน Facebook เลยว่าทำ Podcast แล้วนะ ชื่อ Nopadol’s Story ซึ่งเป็นชื่อเดียวกับ Blog นี้แหละครับ เพราะทำ Blog นี้มาก่อนหน้านี้แล้ว อยากให้ชื่อมันเหมือนกัน

หลังจากนั้นเวลาก็ผ่านไป จนมาถึงตอนนี้ ผมได้ทำ Podcast ครบ 100 ตอน ทำทุกวัน วันละตอน ติดกัน 100 วัน ไม่ได้มีเว้นเลย คือ Post ทุกวัน ส่วนใหญ่จะเป็นตอนเช้า (สำหรับ Podbean) และตอนเย็น (สำหรับ Soundcloud)

เกริ่นมาซะนาน ขอเข้าเรื่องเลยครับ หลังจากทำมาสักพักหนึ่ง ผมก็พบว่า เฮ้ยมีคนติดตามด้วยอ่ะ ตอนแรกคิดว่าคงไม่ค่อยมีคนสนใจมั้ง ปรากฏว่า มีมากขึ้นเรื่อย ๆ ถามว่าเยอะสุด ๆ ไหม ถ้าเทียบกับ Podcast ระดับ Top ของประเทศ ยังไม่ถึงขนาดนั้นครับ แต่ถ้าในมุมมองของผมเอง ตอนนี้ถ้านับทุกช่องทาง มันเกิน 3,000 คนเข้าแล้ว ยอด Play ก็เกือบจะเป็น 2 แสนครั้งอีกต่างหาก บอกตรง ๆ ว่าแปลกใจเลยล่ะครับ

อันดับ Podcast ใน Podbean

วันก่อน ลองเข้าไปดู Ranking ของ Podcast ซึ่ง Nopadol’s Story ผมเลือกว่าเป็น Podcast ทางด้าน Business ผมเข้าไปดูใน Podbean นะครับ เพราะเป็นช่องทางหลัก ที่ผม Promote บ่อย ๆ เจอภาพนี้ ยิ่งดีใจและแปลกใจไปพร้อม ๆ กัน

คือเขาเขียน Heading ว่า Popular Podcasts แล้ว เจอ Nopadol’s Story ติดอันดับอยู่อีก แต่ที่ปลื้มมากขึ้นไปอีกคือ Ranking นี้ มันรวมหมดทั้งโลกนะครับ ไม่ได้เฉพาะในไทย (หรือผมเข้าใจผิดหว่า 555) ก็ไม่เห็นตรงไหนบอกว่าเฉพาะไทยนี่ มันอยู่ใน Ranking เลย และเห็น Podcast ต่างชาติขึ้นมาทั้งนั้น (ยกเว้น Mission to the moon นะครับ อยู่ติดกันเลย) เอ หรือว่า App นี้คนไม่ค่อยใช้กันนะ 555 แต่เอาเป็นว่าแค่นี้ก็เป็นกำลังใจแล้วล่ะครับ

ยังไม่พอครับ มีหลายคนเข้ามาเขียนให้กำลังใจตลอด ขอบคุณที่นำเอาเรื่องราวต่าง ๆ มาแบ่งปัน หลายคนบอกว่า พอฟัง Podcast แล้ว ทำให้เขามีกำลังใจ กลับมาทำตามฝัน บางคนบอกว่าชอบมาก เป็นประโยชน์กับการทำงาน แค่นี้ผมก็รู้สึกว่าการทำ Podcast ในครั้งนี้ มันคุ้มค่าแล้วล่ะครับ

ยังไม่สามารถเข้าเรื่องได้ซะที คือผมก็อยากจะมาสรุปว่า แล้วสิ่งที่ผมได้รับจากการทำ Podcast มีอะไรบ้าง โดยสรุปแล้ว ผมคิดว่าสิ่งที่ได้รับมี 8 ข้อดังต่อไปนี้ครับ

ข้อที่ 1 ได้ความรู้เพิ่มมากขึ้น

คือกว่าจะทำ Podcast ได้ตอนหนึ่งนี่ ผมต้องไปอ่านมานะครับ อ่านอย่างเดียวไม่พอ ต้องนั่งเขียนสรุป เพื่อให้มั่นใจว่า สิ่งที่เราพูดมันมีหลักฐานน่าเชื่อถือ และผมก็อ้างอิงที่มาตลอด หรือถ้าเป็นประสบการณ์ผมเอง ผมก็มักจะบอกว่าอันนี้มาจากตัวผมนะ มันใช้แล้ว work แต่ก็ไม่ได้การันตีว่า ทุกคนจะนำไปใช้แล้วจะ work หมดนะ อะไรแบบนี้ แต่การที่ผมได้อ่านมากขึ้น (จากเดิมที่ก็ชอบอ่านอยู่แล้ว) ก็ยิ่งทำให้ผมได้ความรู้มากขึ้นครับ

ข้อที่ 2 ได้รู้จักคนเยอะขึ้น

เชื่อไหมครับ หลังจากทำ Podcast ทำให้ผมได้รู้จักกัลยาณมิตรต่าง ๆ เพิ่มขึ้น ไม่ได้เจอหน้ากันหรอกครับ เจอกันผ่าน Message ที่เขียนมาใน Podbean Soundcloud หรือใน Page Nopadol’s Story หรือในกลุ่ม Line@ ที่ผมตั้งไว้  บางคนก็มาให้กำลังใจ บางคนก็มีคำถามน่าสนใจมาถาม บางคนก็มาแบ่งปันบทความที่อ่านแล้วชอบมาให้ผมอ่านด้วย ต้องขอบคุณทุก ๆ คนมา ณ ที่นี้ด้วยครับ

ข้อที่ 3 ได้เข้าใจแนวโน้ม (Trend) ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

จากที่ผมได้อ่านมากขึ้น และได้ศึกษาจากคำถามที่หลาย ๆ คนถามเข้ามาใน Podcast นี่แหละครับ ทำให้ผมพอจะทราบว่า เออ เรื่องนี้คนสนใจกันเยอะนะ แน่นอนมันอาจจะบอกไม่ได้ 100% หรอกครับ แต่มันก็พอจะเห็นประเด็น ซึ่งทำให้ผมสามารถเข้าไปอ่านเพิ่มเติมได้อีกในเรื่องนั้น ๆ เพื่อจะได้นำมาแบ่งปันกับทุกคนได้ต่อไป

ข้อที่ 4 ได้แนวคิดใหม่ ๆ มากขึ้น

ทำ Podcast ไม่ใช่ได้แต่ความรู้นะครับ หลาย ๆ ครั้ง ผมได้ Idea หลาย ๆ อย่างจากการอ่านและการตอบคำถามของผู้ที่เขียนมาถามนี่แหละครับ และก็ได้มีโอกาสนำเอา Idea เหล่านั้นไปต่อยอดในหลาย ๆ เรื่องได้อีกมากมาย รวมถึงได้นำมาเล่าให้กับท่านอื่น ๆ ฟังด้วยครับ

ข้อที่ 5 ได้พัฒนาทักษะการพูด

ถึงแม้ว่าผมจะโชคดีที่มีอาชีพเป็นอาจารย์ ที่ต้องพูดอยู่เกือบทุกวัน ในการสอนและการฝึกอบรม รวมถึงในเวทีต่าง ๆ แต่การทำ Podcast ทำให้ผมได้ฝึกฝนทักษะการพูดในอีกรูปแบบหนึ่งได้ดีขึ้นไปอีก การที่เราต้องเรียบเรียงความคิด เพื่อนำมาพูดให้กับคนกว่า 3,000 คนฟัง ในทุก ๆ วัน มันต้องใช้ทักษะพอสมควร ซึ่งต้องขอบคุณผู้ฟังทุกท่านอีกครั้งด้วยครับ นี่คือเวทีพูดที่ใหญ่ที่สุดสำหรับผมแล้วครับ นอกจากจะได้ทักษะแล้ว ผมก็คิดว่าสิ่งที่ผมพูดไปก็น่าจะช่วยให้ผู้ฟังสามารถนำไปปรับใช้ประโยชน์ได้ไม่มากก็น้อยนะครับ

ข้อที่ 6 ทำให้ผลงานเขียนเพิ่มขึ้น

ข้อนี้ดูน่าแปลกใจ เพราะมาทำ Podcast น่าจะต้องใช้เวลาเยอะขึ้น เวลาเขียนน่าจะน้อยลง ต้องขอบอกว่ากลับกันเลยครับ ยิ่งพูด Podcast ยิ่งต้องอ่านมากขึ้น และแค่อ่านไม่พอ ผมต้องเขียนสรุปอีกต่างหาก และที่เขียนสรุปนี่แหละครับ ที่กลายร่างมาเป็นบทความ เอาง่าย ๆ บทความนี้ ก็มาจาก Podcast Nopadol’s Story Episode ที่ 100 นี่แหละครับ ที่ผมนำมาเขียนเป็นบทความด้วย ยิ่งพูด ยิ่งเขียนได้เยอะขึ้นครับ

ข้อที่ 7 ทำให้รู้จักการจัดการเวลาได้ดีขึ้น

การทำ Podcast มันจะใช้เวลาเพิ่มขึ้นอีกวันละประมาณ 1 – 2 ชั่วโมงเลยครับ เพราะแค่พูดอย่างเดียวก็ 30 นาทีแล้ว ก่อนพูดผมก็ต้องอ่าน ก็ราว ๆ 30 นาที (อันนี้แล้วแต่บทความ) และก็นำมาเขียนสรุปอีกสัก 30 นาที (บางทีก็ทำเป็นบทความเลย) คราวนี้ จะทำอย่างไร ให้มันทำได้ทุกวัน ก็ต้องบอกว่า ก็คงต้องพยายามจัดการเวลาให้มันดีขึ้น ผมแทบจะไม่ปล่อยให้ตัวเองนั่งรออะไรเฉย ๆ เลยครับ เช่น จะไปรอรับลูกกลับบ้าน ก็ติดบทความไปอ่าน อะไรแบบนี้ มี Idea อะไรต้องรีบจด แล้วรีบมาเขียน งานประจำก็มีมากมาย (แล้วยังแถมไปเรียน Online อีกต่างหาก) แต่ผมก็สามารถทำได้มาครบ 100 ตอนแล้ว ผมเชื่อว่าการทำ Podcast นี่แหละครับ เป็นเครื่องมือที่ทำให้ผมสามารถจัดการเวลาได้ดีขึ้นไปอีก

ข้อที่ 8 ได้ตกผลึกความคิด

เวลาผมทำ Podcast ก็มักจะมีหลาย ๆ ท่านถามคำถามมา เชื่อไหมครับ บางคำถาม ผมต้องกลับมานั่งคิดเลยครับว่า เอ ผมจะตอบอย่างไรดี มันเหมือนกับทำให้ผมได้มาตกผลึกความคิด เช่น บางท่านถามว่า ทำไมผมทำงานได้เยอะแยะ ทั้ง ๆ ที่ดูเหมือนกับเวลามันก็ไม่ค่อยจะมี ต้องบอกว่าไม่เคยคิดว่า เราทำอย่างไรนะ แต่พอมีคนถาม เลยต้องมานั่งคิด และมันก็เลยเหมือนกับได้ตกผลึกความคิด ซึ่งปกติผมก็ไม่ค่อยได้ทำสักเท่าไร (การเขียนบทความเรื่องนี้ก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างเช่นกันครับ)

นั่นคือสิ่งที่ผมได้รับจากการทำ Podcast แต่เหนือสิ่งอื่นใด สิ่งที่ผมดีใจมาก ๆ และคิดว่าน่าจะเป็นสิ่งที่ผมได้รับมากที่สุดคือ เมื่อก่อน เวลาผมอ่านหนังสือ อ่านบทความ ฟังหนังสือ ผมก็จะได้ประโยชน์กับแค่ตัวผมเอง หรืออย่างมากก็ได้แค่ไปเล่าให้กับคนใกล้ชิดฟังว่า อันนี้มัน work นะ ลองทำแบบนี้ดูสิ แต่ตอนนี้ นอกจากผมและคนใกล้ชิดจะได้ประโยชน์จากการอ่านหนังสือและจากประสบการณ์ของผมแล้ว ยังมีคนอีกหลายพันคนน่าจะได้ประโยชน์ไปพร้อม ๆ กันด้วย

ผมจึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า Podcast Nopadol’s Story น่าจะเป็นประโยชน์ให้กับทุกท่านไม่มากก็น้อย มีคนถามว่าจะเลิกทำเมื่อไร ต้องบอกว่า ยังไม่มีความคิดนั้นเลยครับ ถ้าใครเห็นว่าเป็นประโยชน์ก็ฝากติดตามหรือฝาก share ให้กับคนที่น่าจะได้รับประโยชน์ด้วยแล้วกันนะครับ

ช่องทางผ่าน App Podbean: https://nopadolstory.podbean.com

ช่องทางผ่าน App Soundcloud: https://soundcloud.com/nopadol-rompho

ขอบพระคุณทุกท่านอีกครั้งที่ติดตามครับ

อ่านบทความอื่น ๆ ได้ที่ www.NopadolStory.com หรือเข้าร่วมกลุ่ม Line@ ได้ที่ https://line.me/R/ti/p/%40nopadolrompho หรือฟัง Podcast Nopadol’s Story ได้ที่ https://nopadolstory.podbean.com/

 

Recommended Posts

No comment yet, add your voice below!


Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *