ยิ่งเราทำอะไรเก่ง เราจะยิ่งชอบสิ่งนั้น

หลายคนคงเคยได้ยินคำพูดประมาณว่า “พยายามหาแพสชั่นของเราให้เจอ แล้วทำตามแพสชั่น แล้วเราจะประสบความสำเร็จ” อะไรทำนองนี้มาบ้างไม่มากก็น้อยใช่ไหมครับ

จริง ๆ แล้ว ถ้าเราเจองานที่เราลุ่มหลง แล้วเราได้ทำงานนั้น มีรายได้เลี้ยงตัวเองได้ มันก็คงเป็นสิ่งที่ยอดเยี่ยมแหละครับ เพียงแต่ปัญหาคือ งานแบบนั้นมันหาไม่ได้ง่าย ๆ น่ะสิครับ

ที่บอกว่าหาไม่ได้ง่าย ๆ มีหลายเหตุผลครับ เริ่มตั้งแต่ว่าเราก็ยังไม่รู้เลยว่าตัวเองชอบอะไร นึกเท่าไรก็นึกไม่ออก หรือ บางทีนึกออกก็จริง แต่ก็ไม่รู้ว่าเราจะทำรายได้จากสิ่งนั้นได้อย่างไร เช่น เราชอบเล่นเกมมาก แต่ก็ไม่รู้ว่าเราจะหาเงินจากการเล่นเกมได้อย่างไร จะเอาถึงกับว่า เล่นแข่งขันระดับโลก เราก็ไม่ได้เก่งขนาดนั้น

พอเราเจอปัญหานี้ มันก็เลยไม่ไปไหน งานเดิมก็น่าเบื่อ แต่จะให้ตามหาแพสชั่นตัวเองก็หาไม่เจอ หรือหาเจอ แต่ก็ไม่ทำรายได้ให้เราอะไรทำนองนี้

ถ้าท่านเป็นแบบนี้ มาลองอีกแบบหนึ่งครับ ลืมคำว่า “แพสชั่น” ไปก่อนเลย ไม่ต้องคิดว่าเรามีความลุ่มหลงเรื่องอะไร

กลับมาสังเกตตัวเราเองก่อนว่าเรามีความเก่งในงานใดบ้าง เวลาพูดคำว่า “เก่ง” ก็ไม่ได้แปลว่าต้องเป็นที่ 1 ของประเทศถึงขนาดนั้นนะครับ เอาแค่ว่าเราเก่งกว่าค่าเฉลี่ยของคนส่วนใหญ่ก็พอได้แล้ว

แล้วไม่ต้องมองไปไกลหรอกครับ เอาแค่ว่าตอนเราเรียนหนังสือ วิชาไหนที่เราได้ A เวลาทำงาน งานประเภทไหนที่เราทำแล้ว เราผ่านฉลุย ทำได้สบาย ๆ ผลลัพธ์เหนือคนอื่น ๆ อะไรแบบนี้

พอเราเจอสิ่งที่เราเก่ง คราวนี้แหละครับ ลองพัฒนาฝีมือทางด้านนี้ให้มันสุด ๆ ไปเลย มีคอร์สไหนให้เรียน ลงเรียนเลยครับ หาหนังสือมาอ่านก็ได้ หรือลองรับทำงานนั้นให้บ่อยที่สุดเท่าที่จะทำได้

ทำไปทำไม เราไม่ได้ชอบสิ่งนั้นสักหน่อย นี่แหละครับเคล็ดลับที่หลาย ๆ คนอาจจะมองข้าม คือ “งาน” ที่เราทำแล้วเราเก่ง อย่างแรกคือ มันเป็น “งาน” อยู่แล้ว แปลว่าสิ่งนั้นมันมีคุณค่ากับคนอื่นแน่ ๆ ไม่งั้นมันจะไม่เป็น “งาน” ที่เราต้องทำหรอก จริงไหมครับ

แปลความหมายอีกอย่างก็คือว่า งานนั้นมันสามารถสร้างรายได้ให้เราได้แน่ ๆ สำหรับพนักงานประจำที่เราได้เงินเดือนก็เพราะเราต้องทำสิ่งนี้นี่แหละ

คราวนี้ ถ้าเราเก่งเรื่องนี้มาก ๆ สิ่งที่จะตามมาคือ ผลการทำงานในเรื่องนั้นเราจะดีขึ้นมาก ๆ เมื่อผลงานเราดีขึ้นมาก ๆ คราวนี้โอกาสต่าง ๆ จะเริ่มตามมา เช่นหัวหน้าเขาจะประเมินผลการทำงานให้เราดี เงินเดือนเราก็จะได้ขึ้นเยอะกว่าคนอื่น หรือ โอกาสที่เราจะย้ายงานไปในตำแหน่งที่ต้องใช้ทักษะนั้นก็มีมากขึ้น เงินเดือนเราก็อาจจะได้เพิ่มมากขึ้น

หรือเราอาจจะไปเปิดคอร์สสอนเรื่องนั้นให้กับคนอื่น ๆ ได้อีก จะเขียนหนังสือก็ได้ หรืออาจจะเอาความรู้นั้นไปต่อยอดทำอะไรได้อีกเยอะแยะเลยครับ

ยกตัวอย่างเช่น สมมุติว่าเราเป็นพนักงานขาย จริง ๆ งานขายไม่ใช่แพสชั่นเราหรอก แต่ว่าเราก็ขายได้ดีกว่าเพื่อน ๆ ร่วมรุ่น คราวนี้เราพอรู้แล้วว่าเราเก่งเรื่องขาย เราก็จะเริ่มพัฒนาฝีมือตัวเองให้สุด ๆ ด้านนี้ เรียนคอร์สการขาย อ่านหนังสือ หรือหาโอกาสทำงานนี้ให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

แน่นอนครับ ทุนเดิมเราก็เก่งอยู่แล้ว แถมยังพัฒนาตัวเองให้เก่งขึ้นไปอีก ฝีมือการขายเราจึงไม่เป็นที่สองรองใครในบริษัทเลย คิดว่า แบบนี้เราจะได้เงินเดือนขึ้นไหมครับ หรือถ้าได้ขึ้นน้อย คิดว่าพนักงานขายมือทองแบบนี้จะหางานใหม่ยากไหมครับ

มาถึงจุดหนึ่งเรามีประสบการณ์มีทักษะพร้อม จะทำคอร์สสอนเรื่องขาย คนก็สนใจมาเรียน จะเขียนหนังสือคนก็อยากอ่าน หรือแม้กระทั่งจะออกมาต่อยอดทำธุรกิจ ทำของขายเองก็อาจจะยังได้

ที่น่าสนใจอยู่ตรงนี้ครับ พอเราขายแล้วประสบความสำเร็จแบบนี้ เชื่อไหมครับ “แพสชั่น” มันจะตามมาเอง กว่าจะรู้ตัว เราก็พบว่า เราน่ะชอบงานขายซะแล้ว ไม่ใช่ว่าเราชอบมันมาตั้งแต่เกิดนะครับ แต่เราชอบมัน เพราะทำได้ดีต่างหาก

ไม่ใช่เฉพาะงานขายนะครับ ลองคิดถึงงานประจำที่ท่านทำดูครับ งานที่ท่านรู้สึกว่าเบื่อ ๆ นั่นแหละ ลองคิดว่า ถ้าท่านทำงานนั้นได้ดีสุด ๆ จนกระทั่งมีคนขึ้นเงินเดือนให้ท่าน 2 เท่า หรือท่านนำเอาทักษะนั้นไปต่อยอดได้เงินเป็นแสนเป็นล้าน คำถามคือ ท่านคิดว่า ท่านยังจะเบื่องานนั้นเหมือนเดิมไหมครับ

เชื่อเถอะครับ ว่าส่วนใหญ่แล้ว ถ้าเราเก่งเรื่องนั้น ทำเงินจากเรื่องนั้นได้มาก ๆ เรามักจะชอบสิ่งนั้นเองแหละ แต่เอาล่ะ ถ้ามีบางคนบอกว่า ไม่ครับ ถึงผมจะเก่งเรื่องนี้ ทำเงินจากเรื่องนี้ได้เป็นสิบเท่า ผมก็ยังเบื่ออยู่ดี ถ้าเป็นแบบนี้จริง ๆ แนะนำให้ลองหางานใหม่ดูดีกว่าครับ เพราะทำแบบนี้ ทำไปก็ไม่มีทางที่จะมีความสุขได้เลย จริงไหมครับ

ติดตามผลงานอื่น ๆ ได้ทาง Page Nopadol’s Story หรือ Nopadol’s Story Podcast ใน Podbean Soundcloud Apple Podcast Spotify YouTube หรือ Blockdit

Recommended Posts

No comment yet, add your voice below!


Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *