ข้อความนี้ก็เคยได้ยินอยู่เรื่อย ๆ ครับ และต้องบอกว่าหลายครั้งก็มีความเป็นจริงอยู่บางส่วน ที่ว่าการเรียนจากผู้ทำได้จริง เป็นสิ่งที่ดี
แต่การเรียนจากผู้ทำได้จริง มันไม่จำเป็นต้องมาแทนการเรียนทฤษฎีนี่ครับ ทำไมเราต้องเลือกด้วยล่ะครับ ว่าจะเลือกเรียนจากผู้ทำได้จริง “หรือ” เรียนทฤษฎี ทำไมไม่คิดว่า เราจะเรียนจากผู้ทำได้จริง และ เรียนทฤษฎีไปพร้อม ๆ กัน
แน่นอนครับ การได้เรียนจากประสบการณ์ของผู้ทำได้สำเร็จเป็นสิ่งที่ล้ำค่ามาก แต่การเรียนในลักษณะนี้ มีข้อพึงระวังหนึ่งอย่างครับ
ประสบการณ์ที่ท่านเหล่านั้นนำมา share นั้น บางทีมันมีบริบทของตัวท่านเหล่านั้นเป็นองค์ประกอบอยู่มาก
บางคนขายเสื้อก็รวยได้ ขายรถก็รวยได้ แต่ทำไมเราก็ทำแบบเขา เรารวยไม่ได้ แถมขาดทุนอีก
เพราะเขามีความชอบความสนใจ หรือมีเหตุการณ์บางอย่างสนับสนุน ลองอ่านหนังสือเรื่อง Outliers ของ Malcolm Gladwell ดู แล้วจะเห็นภาพครับ
คราวนี้เวลาเขามาเล่าประสบการณ์ เขาก็เล่าตามที่เกิดขึ้นจริงนั่นแหละครับ ถ้าเราสามารถรับมา แล้วเลือกใช้ได้ มันก็เกิดประโยชน์ แต่ถ้าเราจะรับมาทั้งหมด แล้ว copy ตาม อันนี้ก็อาจจะไม่ work ก็ได้
แล้วทฤษฎีคืออะไรล่ะครับ มันก็มาจากการสังเกต เก็บข้อมูล จากประสบการณ์จริงเหล่านี้แหละครับ และก็กลันออกมาเป็นแนวคิด ทฤษฏี ที่นำไปปรับใช้ได้ในสถานการณ์ต่าง ๆ
เหมือนกับที่ Prof. Clayton Christensen แห่ง Harvard Business School เขียนไว้ในหนังสือ How will you measure your life? ว่าทำไมเราต้องมาเริ่มลองผิดลองถูก แล้วค่อยเก็บประสบการณ์ จนกว่าจะรู้ทางเลือกที่เหมาะสมก็ใช้เวลาตั้งมากมาย เสียเงินเสียทองจำนวนไม่น้อย
สู้เราเรียนรู้จากความผิดพลาดของคนอื่น ที่เขียนไว้เป็นทฤษฎีให้เราอ่านแล้ว มันจะไม่ดีกว่าหรือ
ประเด็นก็คือว่าถ้าผู้เรียนพยายามเอาทฤษฎีไปปรับใช้ เพื่อตอบโจทย์ปัญหาของเราเอง ผมว่าสิ่งนี้แหละครับ ที่สำคัญที่สุด
เวลามีคนกล่าวถึง ทฤษฏี กับ การปฏิบัติเมื่อไร ผมนึกถึงคำพูดของ Kurt Lewin ปรมาจารย์ทางด้านการศึกษาทางจิตวิทยาทุกทีครับ
“There is nothing so practical as a good theory.”
คิดว่าจริงไหมครับ
อ่านบทความอื่น ๆ ได้ที่ www.NopadolStory.com หรือเข้าร่วมกลุ่ม Line@ ได้ที่ https://line.me/R/ti/p/%40nopadolrompho
No comment yet, add your voice below!