อาจจะเป็นเพราะว่าผมเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยมั้งครับ เลยชอบเขียนถึงมหาวิทยาลัยอยู่เรื่อย ๆ ในระยะหลัง ๆ นี้ เรามักจะเห็นคนกล่าวว่า มหาวิทยาลัยกำลังจะแย่ เนื่องจากจำนวนคนเรียนน้อยลงเรื่อย ๆ แถมมหาวิทยาลัยก็มีเป็นจำนวนมาก หรือพูดง่าย ๆ ว่า Demand มันน้อยกว่า Supply ว่างั้นเถอะ
สิ่งที่ตามมาแน่นอนคือ ต่อไปคนที่เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยก็เตรียมตัวหางานใหม่ได้ เพราะมันไม่มีใครมาให้สอนแล้ว ใครจะมาจ้าง จริง ๆ คำกล่าวข้างต้นก็มีส่วนจริงอยู่มากทีเดียวครับ เรื่องที่ว่าจำนวนคนเรียนจะน้อยลงเรื่อย ๆ ก็ใช่ ส่วนตัวก็เริ่มเห็นปรากฏการณ์แบบนี้มาหลายปีแล้วเหมือนกัน โดยเฉพาะในระดับปริญญาโท ซึ่งผู้สมัครก็ลดลงทุกปี
แต่ผมเชื่อว่าในทุกวิกฤติมันมีโอกาสแฝงอยู่ครับ แปลว่า ใช่ครับ งานสอนมันจะลดลง เพียงแต่ว่า มันอาจจะเป็นข้อดีเหมือนกันนะครับ
อะไรนะ ไม่มีงานสอน ก็ตกงานสิ แล้วมันจะมีข้อดีอย่างไร อย่างนี้ครับ จริง ๆ แล้ว รายได้ของมหาวิทยาลัยมาจากทางไหนบ้าง เราต้องทราบตรงนี้ก่อน หลายคนก็อาจจะบอกว่าก็ค่าเล่าเรียนไง ใช่ครับ ค่าเล่าเรียนก็ใช่ แต่มันเป็นแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น มันยังมีอีกหลายส่วน อันนี้เราตั้งสมมุติฐานก่อนนะครับ ว่าเราจะไม่หวังว่าจะได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาล เนื่องจากแค่ตอนนี้รัฐบาลก็รับภาระในหลาย ๆ ด้านอยู่แล้ว
อ้าว แล้วรายได้จะมาจากไหนได้อีก ผมเอาตัวเลขของมหาวิทยาลัยระดับโลกอย่าง Harvard มาให้ดูครับ Harvard มีรายได้จากนักเรียน 21% ของรายได้ทั้งหมด แต่เชื่อไหมครับ ขนาดค่าเทอมแพง ๆ แบบนั้น รายได้จากนักเรียนยังไม่ใช่แหล่งรายได้ที่มากที่สุด ลองเดาได้ไหมครับ ที่มากกว่านั้นมาจากไหน
ใช่ครับ มาจากเงินบริจาคครับ ไม่ว่าจะเป็นศิษย์เก่าหรือองค์กรต่าง ๆ ตรงนี้มีจำนวนมากถึง 36% ของรายได้ทั้งหมดทีเดียว (ข้อมูลจาก https://finance.harvard.edu/financial-overview) นอกจากนี้ยังมีเงินจากการสนับสนุนในรูปแบบของ Sponsor อีก
มาถึงตรงนี้ หลายคนอาจจะตั้งคำถามว่า แล้วมหาวิทยาลัยไทย จะมีรายได้ส่วนนี้มากมายได้อย่างไร ก็ต้องบอกแบบนี้ครับว่า เราต้องมี Contribution หรือการสร้างประโยชน์ให้กับสังคมเช่นกัน ผมมองว่า การสอนหนังสือก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่เมื่อจำนวนนิสิตนักศึกษาเราลดลงแล้ว บทบาทของอาจารย์มหาวิทยาลัยจำเป็นต้องเปลี่ยนไปครับ
ใช่ครับ ผมกำลังพูดถึง “งานวิจัย” ซึ่งอาจารย์หลาย ๆ ท่านบ่นว่าไม่ได้ทำ เพราะไม่มีเวลาทำเพราะต้องสอนนั่นแหละครับ นี่แหละครับ ที่ผมกำลังบอกว่า วิกฤติที่มหาวิทยาลัยเจอ คือจำนวนผู้เรียนน้อยลงเรื่อย ๆ นั้น ประตูของโอกาสบานหนึ่งที่เปิดขึ้นก็คือ อาจารย์จะมีเวลามากขึ้นที่จะได้ทำงานวิจัย
และถ้ามองในภาพของประเทศ เรากำลังอยากจะเป็น Thailand 4.0 ใช่ไหมครับ เราจึงต้องการมันสมองในส่วนนี้อย่างมาก และอย่าเพิ่งไปหวังว่าเราจะต้องไปสร้างประชาชนทุกคนให้ก้าวไปถึงระดับนั้นให้ได้ ผมว่าเริ่มจากทรัพยากรที่เรามีอยู่ ก็คืออาจารย์มหาวิทยาลัยนั่นแหละครับ
คราวนี้ ถ้าเราสามารถทำวิจัยในทิศทางที่ประเทศต้องการ และในทิศทางที่อุตสาหกรรมต้องการได้ และเนื่องจากอาจารย์ก็จะมีงานสอนลดลงเรื่อย ๆ แล้วล่ะก็ มันก็น่าจะเป็นสถานการณ์ที่เรียกว่า Win-Win ทีเดียวนะครับ
ลองคิดดูสิครับว่า ถ้าตอนนี้ นิสิตนักศึกษามากขึ้นเรื่อย ๆ อาจารย์ต้องสอนเยอะขึ้นเรื่อย ๆ อาจารย์จะเอาเวลาที่ไหนไปทำวิจัย และถ้าไม่มีวิจัย โอกาสของ Thailand 4.0 มันก็ยากขึ้นไปอีกจริงไหมครับ
ขออย่างเดียวคือตัวอาจารย์เองนั่นแหละครับที่ต้องเตรียมตัวให้พร้อมในเรื่องนี้ เพราะถ้าไม่อยากตกงาน อาจารย์จำเป็นต้องมีความสามารถทางงานวิจัย เพราะงานสอนมันจะไม่มีมากเหมือนเดิมแล้ว และหากมหาวิทยาลัยสามารถทำวิจัยตอบโจทย์สังคมได้ รายได้ทางนี้ ไม่ว่าจะมาในเชิงรายได้จากการทำการวิจัย เงินบริจาค หรือเงินจากผู้สนับสนุนมันก็จะเข้ามา ทดแทนรายได้ที่ได้จากการสอนที่จะหายไป
ผมมองแบบนี้นะครับ เตรียมตัวกันให้ดีกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่กำลังจะมาถึงในไม่ช้านี้ครับ
อ่านบทความอื่น ๆ ได้ที่ www.NopadolStory.com หรือเข้าร่วมกลุ่ม Line@ ได้ที่ https://line.me/R/ti/p/%40nopadolrompho
No comment yet, add your voice below!