โลกการทำงาน 2 โลก

คิดว่าหลายคนที่เป็นหัวหน้าอาจจะมีปัญหาในเรื่องนี้ คือจะทำอย่างไรจะจูงใจให้ลูกน้องเราอยากทำงาน เพราะถ้าทำตรงนี้ได้ ที่เหลือก็ไม่ยากแล้ว

พอมาถึงตรงนี้ คนส่วนใหญ่ก็มักจะคิดว่า ก็เพิ่มเงินเดือนสิ หรือให้โบนัสเยอะ ๆ แต่ก็อีกนั่นแหละคือองค์กรส่วนใหญ่ก็มักจะมีข้อจำกัดในเรื่องการเงิน หรือเชื่อไหมครับว่า หลายครั้ง ถึงแม้ว่าเราจะจ้างใครบางคนด้วยค่าจ้างที่แพงมาก โบนัสก็ไม่น้อย แรงจูงใจบางทีมันก็ไม่เห็นจะเยอะเหมือนค่าจ้างเลย

แล้วจะทำอย่างไรดี

ก่อนที่จะตอบคำถามนี้ เราต้องรู้จักโลก 2 โลกก่อน จากงานของ Dan Ariely Professor จาก Duke University เขาเรียกโลก 2 โลกนี้ว่า Market Norms ซึ่งผมขอเรียกว่าโลกของการตลาด กับ Social Norm ซึ่งผมขอเรียกว่าโลกของสังคม

มันต่างกันอย่างไร

โลกของการตลาด มันคือโลกที่มันใช้การแลกเปลี่ยนกันระหว่างเงินหรือสิ่งที่จับต้องได้ เช่น ถ้าเธอทำอันนี้ให้ฉัน เดี๋ยวฉันจะให้เงินเธอ

ดังนั้นระบบการขึ้นเงินเดือน การให้โบนัส มันจะเข้าข่ายว่าตอนนี้เราอยู่ในโลกของการตลาดอยู่ คือมีการแลกเปลี่ยน ยื่นหมู ยื่นแมวกัน

ส่วนโลกของสังคมนั้น มันคือโลกที่ใช้การเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เช่น วันนี้เราช่วยทำงานนี้ให้นะ แล้วพอมีโอกาสวันหลังเพื่อนเราก็เอื้อเฟื้อช่วยงานเราบ้าง (แต่ไม่ได้มานั่งนับกันนะครับว่าใครช่วยกี่ที ดังนั้นอีกฝ่ายต้องช่วยกลับให้ครบ ถ้าเป็นแบบนั้น มันจะกลายเป็นโลกของการตลาดไป)

เอาล่ะ พอจะรู้จักโลก 2 โลกนี้แล้ว คราวนี้ปัญหาคือ เราต้องไม่ให้โลก 2 โลกนี้มาปะปนกัน เพราะถ้าปนกันเมื่อไร มันจะเกิดปัญหาขึ้นทันที

James Hayman และ Dan Ariely ซึ่งเป็นนักวิจัยทางด้าน Behavioral Economics ได้ทำการทดลองหนึ่ง โดยให้ผู้เข้าร่วมการทดลองใช้เมาส์ลากวงกลมที่อยู่ในหน้าจอคอมพิวเตอร์ไปใส่ในกล่องสี่เหลี่ยม หรือเรียกง่าย ๆ ว่ามันเป็นงานที่ค่อนข้างน่าเบื่อเลยแหละ

โดยให้ทำแบบนี้ 3 นาที แล้วนับว่าจะทำได้สักกี่อัน (คือเอาวงกลมไปใส่ในสี่เหลี่ยมได้กี่อัน)

ผู้เข้าร่วมการทดลองจะถูกแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรกให้ทำแบบนี้เฉย ๆ ไม่ได้ผลตอบแทนอะไรใด ๆ ทั้งสิ้น กลุ่มที่ 2 จะให้เงิน 4 เหรียญต่อจำนวนชิ้นที่ทำได้ และกลุ่มที่ 3 ได้เงินแค่ 10 เซ็นต์ต่อจำนวนชิ้นที่ทำได้ โดยที่คนในแต่ละกลุ่มก็ไม่ทราบว่าคนในกลุ่มอื่นจะได้อะไรบ้าง

ผลปรากฏว่า กลุ่มที่ได้เงิน 4 เหรียญต่อชิ้นที่ทำได้ สามารถทำได้ 159 ชิ้นใน 3 นาที ส่วนกลุ่มที่ได้แค่ 10 เซ็นต์ ทำได้เพียง 101 ชิ้นใน 3 นาที ซึ่งตรงนี้ก็ไม่มีอะไรแปลก เพราะยิ่งได้เงินเยอะ ก็น่าจะจูงใจมาก จริงไหมครับ

ถ้าอย่างนั้นลองเดาเอาว่า กลุ่มที่ไม่ได้เงินเลย ก็น่าจะไม่มีแรงจูงใจ และทำได้น้อยมาก ๆ ใช่ไหมครับ…

ผิดครับ กลุ่มที่ไม่ได้เงินเลย กลับทำได้สูงถึง 168 ชิ้นใน 3 นาที

เกิดอะไรขึ้น มีอะไรผิดพลาดหรือเปล่า

ไม่มีครับ เหตุผลที่กลุ่มที่ไม่ได้เงิน แต่กลับทำได้เยอะกว่า เพราะเขาอยู่ในโลกของสังคม ไม่ใช่โลกของการตลาดครับ แปลว่า เขามีแรงจูงใจที่จะทำ เพราะเขาอยากช่วยเหลือนักวิจัย แต่พอเขาได้เงินแค่ 10 เซ็นต์ คนจะเข้ามาอยู่ในโลกของการตลาด เขาจะเริ่มคิดว่า อะไรกัน เวลาเขามีค่านะ ให้เงินเขาแค่ 10 เซ็นต์เองเหรอ

หรือแม้กระทั่ง 4 เหรียญ มันก็ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้แรงจูงใจที่เกิดจากโลกการตลาด มาชดเชยแรงจูงใจที่ได้จากโลกของสังคม

เห็นไหมครับว่า บางโอกาส เงินนี่แหละครับ กลับกลายเป็นสิ่งที่ลดแรงจูงใจคนลงได้

ดังนั้นหากเราเป็นหัวหน้างาน ลองคิดดูดี ๆ นะครับว่า จังหวะไหนควรให้เงิน จังหวะไหนไม่ควร ถ้าให้แบบสุ่มสี่สุ่มห้า บางทีแทนที่จะได้ผลดี มันกลับจะสร้างผลเสียด้วยซ้ำไป

อ่านบทความอื่น ๆ ได้ที่ www.NopadolStory.com หรือ Twitter Nopadol’s Story หรือฟัง Podcast Nopadol’s Story ได้ที่ https://nopadolstory.podbean.com/

Recommended Posts

No comment yet, add your voice below!


Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *