แนวทางการลงทุนแบบการปลูกต้นไม้ใหญ่

ก่อนอื่นต้องขอบอกแบบนี้ก่อนครับ ป้องกันการดราม่าที่อาจเกิดขึ้นได้ 555  ที่กำลังจะเขียนเรื่องแนวทางการลงทุนแบบนี้ ไม่ได้หมายความ แนวทางแบบอื่น ๆ ไม่ดี ไม่สำเร็จ แบบนี้ดีที่สุด สำเร็จแน่ ๆ นะครับ เพราะส่วนตัวผมเชื่อว่า มันไม่มีแนวทางการลงทุนไหน ที่ดีที่สุด สำหรับทุกคนครับ ผมว่าแต่ละคนมีลักษณะนิสัยที่แตกต่างกัน ดังนั้นแนวทางการลงทุนที่ดีสำหรับบางคน พอเราเอามาใช้ มันอาจจะไม่ดีสำหรับเราก็เป็นได้ครับ ไม่มีใครผิดหรือถูกหรอกครับ

ปกติแล้ว แนวทางการลงทุนหลัก ๆ ส่วนใหญ่มักจะแบ่งออกเป็น 2 ค่ายครับ คือ สาย Technical ดูกราฟ กับ สายพื้นฐาน ดูงบ ดูกิจการต่าง ๆ แต่บางคนก็มาแนวผสมผสานกันก็มี อันนี้ก็แล้วแต่แต่ละท่านจะเลือกครับ

แนวทางการลงทุนที่ผมจะเล่าให้ฟังนั้น จะว่าไปแล้ว มันก็เอียงมาทางสาย Fundamental หรือดูพื้นฐานเป็นหลักก็ว่าได้ครับ หลาย ๆ คนชอบเรียกนักลงทุนประเภทนี้ว่า VI เพียงแต่ก็อาจจะมีรายละเอียดที่แตกต่างกันออกไป

อีกนิดครับ ก่อนที่จะเริ่มเล่าให้ฟัง คือ หลายคนอาจจะถามว่า แล้วผมเป็นใครเนี่ย เซียนหุ้นพันล้านเหรอ ถึงได้มาแนะนำแนวทางการลงทุน คำตอบคือไม่ใช่เซียนหุ้นพันล้านครับ แต่ผมพบว่าแนวทางนี้ มันเหมาะกับการลงทุนของผม จากการดูผลตอบแทนที่ผ่านมา หลังจากได้ลองแล้วหลาย ๆ วิธี แต่เน้นอีกทีครับ มันเหมาะกับผม มันก็อาจจะไม่ได้เหมาะกับทุกท่านนะครับ เอาเป็นว่า มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความรู้กันดีกว่าครับ

ผมได้เริ่มลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ ตั้งแต่ปี 1997 ครับ ก็เรียกได้ว่านานมากทีเดียว (จริง ๆ ใกล้ ๆ ช่วงกับที่ท่าน ดร. นิเวศน์ ปรมาจารย์สาย VI ของไทย ได้เริ่มลงทุนนั่นแหละครับ ต่างกันนิดเดียวคือ ท่านมีเงินเยอะกว่าผมมากในตอนนั้น และ ในตอนนี้ครับ 555) หลังจากเริ่มลงทุนก็ล้มลุกคลุกคลานมาตลอด ผมใช้วิธีมาหลากหลาย และก็คิดว่าคล้าย ๆ กับนักลงทุน หรือจะเรียกให้ตรง คือ “นักเล่นหุ้น” ที่เพิ่งเริ่มเข้าตลาดมาเร็ว ๆ นี้แหละครับ

ระยะหลัง ผมจึงได้ศึกษาเรื่องเกี่ยวกับพวกจิตวิทยาการลงทุนมากขึ้น และได้เขียนหนังสือออกมา 2 เล่มได้แก่ แค่คิดก็ผิดแล้ว และ เล่นหุ้นอย่างไร ไม่ให้ลำเอียง ผมก็เริ่มได้รับเชิญไปออกรายการที่เกี่ยวกับการลงทุน หลาย ๆ รายการ เช่น Money Talk หรือ รายการ Invest Now และเริ่มมีหลาย ๆ ท่านถามถึงแนวทางการลงทุนของผม ก็เลยเป็นที่มาของเนื้อหาที่กำลังจะเขียนนี่แหละครับ

ถ้าเขาถามคำถามว่า ผมเป็น VI หรือมาสาย Technical ผมก็จะตอบเร็ว ๆ ว่า ผมมาแนว VI มากกว่า ผมไม่ค่อยได้สนใจ Graph สักเท่าไร (เน้นว่า ไม่ใช่หมายความว่า การดู Graph เป็นการลงทุนที่ผิดนะครับ อย่างที่บอกไว้ตอนต้นคือแต่ละคนก็จะมีแนวทางที่นำไปสู่ความสำเร็จที่แตกต่างกัน) แต่แนว VI ที่ว่านั้น ผมจะมีเรื่องพวกแนวคิดต่าง ๆ แทรกอยู่ด้วย

ผมมักจะเปรียบเทียบการลงทุนของผมว่า มันเหมือนกับการปลูกต้นไม้ยืนต้น น่ะครับ ถ้าจะถอดออกมาเป็นบทเรียน ก็สามารถสรุปได้เป็นข้อ ๆ ดังต่อไปนี้ครับ

ข้อที่ 1 เลิกคิดที่จะรวยเร็ว

อ้าวเจอข้อนี้ แทบอยากจะหยุดอ่าน ไม่เอาละเลิกดีกว่า ผมสังเกตเห็นหนังสือหลาย ๆ เล่มวางในท้องตลาด ประมาณว่ารวยเร็วภายใน 24 ชั่วโมง รวยพันล้าน อะไรแบบนี้ จริง ๆ ผมทราบนะครับว่ามันเป็นการตลาดกระตุ้นความสนใจ ให้ผู้อ่านหยิบหนังสือขึ้นมาอ่าน แต่ส่วนตัว ผมเชื่อว่า คงยากมากที่จะมีวิธีใด ๆ ที่พิสูจน์ได้ว่ามันสามารถทำให้เรารวยเร็วมาก ๆ ระดับนั้น เพราะถ้ามี อย่างแรก ผมว่า เขาก็คงไม่มาบอกเราหมดหรอกครับ และ อย่างที่สอง ทุกคนก็คงรวยกันหมดแล้ว

ผมมองการลงทุนของผมเหมือนกับการปลูกต้นไม้ยืนต้นน่ะครับ เราจะคาดหวังว่ามันจะออกดอกออกผลภายในวันสองวันก็คงไม่ใช่ เราจะดูการเจริญเติบโตของมันไปเรื่อย ๆ ครับ เลี้ยงให้มันเติบใหญ่ขึ้นมา และเมื่อถึงจุดหนึ่ง ต้นไม้นั้นก็จะออกดอกออกผลให้เร็วเก็บเกี่ยวได้ตลอดชีวิต ผมมองแบบนี้นะครับ ดังนั้นความคาดหวังเรื่องว่าจะรวยภายในวันนี้ พรุ่งนี้ เดือนนี้ หรือแม้กระทั่งปีนี้ สำหรับผมก็จะไม่มี (หรือเอาเป็นว่ามีน้อยก็แล้วกันครับ)

ข้อที่ 2 เลือกลงทุนในบริษัทที่ทำสินค้าหรือบริการที่ตัวเองชอบหรือมีความเชื่อในสินค้าหรือบริการนั้น

ปัจจัยอันนี้ สำหรับผลอาจจะต่างจากนักลงทุนสาย VI ทั่ว ๆ ไปนะครับ คือ สาย VI ส่วนใหญ่เขามักจะเน้นว่าเขาดูพื้นฐานกิจการ (ซึ่งผมก็ดูนะครับ ไม่ใช่ไม่ดู) ถึงแม้จะเป็นสินค้าหรือบริการที่ตัวเองอาจจะไม่ได้ “อิน” สักเท่าไร แต่ถ้าราคามันต่ำกว่าพื้นฐาน มีแนวโน้มเติบโตได้ เขาก็จะเข้าไปลงทุน แต่ส่วนตัวของผม ผมมักจะ scan ดูบริษัทที่ขายสินค้าหรือบริการที่ผมชอบก่อน และมักจะเป็นสินค้าหรือบริการที่ผมมักจะซื้อหรือใช้บริการเป็นประจำซะด้วย เรื่องราคาเอาแค่พอสมเหตุสมผล (อะไรคือสมเหตุสมผล ก็อาจจะดูง่าย ๆ จาก %การปันผล หรือค่า PE ratio ตรงนี้ขอไม่ลงรายละเอียดนะครับ) ไม่ได้เน้นว่าจะต้องต่ำมาก ๆ แต่อย่างใด เพราะผมเชื่อว่าเราจะรอจนจุดราคาต่ำสุดแล้วซื้อ คงไม่มีวันจะได้ซื้อ และถ้าเราเลือกหุ้นได้ดี ราคาวันนี้มันอาจจะไม่ถูก แต่ในอนาคต ไม่ช้าก็เร็ว ราคาที่เราซื้อมันจะถูกเองแหละครับ เพราะบริษัทนั้น ๆ มันก็จะค่อย ๆ เติบโตขึ้นไปเรื่อย ๆ

ผมมองแบบนี้ครับ ถ้าเราได้ลงทุนในบริษัทที่ทำสินค้าหรือบริการที่เราชอบแล้ว โอกาสที่เราจะอยู่กับการลงทุนนั้นนาน ๆ มันจะมีสูงกว่า การลงทุนในบริษัทที่ทำสินค้าหรือบริการที่เราไม่มีความคุ้นเคยเลย ส่วนใหญ่แล้วคนที่เรียกตัวเองว่าเป็น “นักลงทุนระยะยาว” มักจะทนไม่ได้ เมื่อมันเกิดเหตุการณ์ต่าง ๆ มากระทบราคาหุ้น เพราะมันเกิดความหวั่นไหวได้ง่าย และเขาก็พร้อมจะขายหุ้นนั้น ๆ ทิ้งอยู่เสมอ เพราะเขาไม่มี “ความเชื่อ” ในสินค้าหรือบริการนั้น ๆ ไงครับ

ถ้าเปรียบกับการปลูกต้นไม้ยืนต้น เราก็คงต้องเลือกก่อนใช่ไหมครับว่า ต้นไม้ที่เราจะนำมาปลูกนั้น มันเป็นต้นไม้ที่เราชอบหรือไม่ ถ้ามันเป็นต้นอะไรก็ไม่รู้ ไม่เห็นจะชอบเลย แบบนั้น โอกาสที่เราจะปลูกและดูแลต้นไม้นั้นไปเรื่อย ๆ ในระยะยาวมันก็จะน้อยลง จริงไหมครับ ส่วนเรื่องราคาของต้นไม้นั้น เอาว่ามันไม่มากจนเกินไป อยู่ในราคาตลาด ผมก็รับได้ครับ หรือต่อให้มีต้นไม้ต้นอื่นที่ส่วนตัวผมไม่ชอบ แต่เขาขายถูกมาก ๆ ผมก็คงไม่ซื้อมาปลูกน่ะครับ

ข้อที่ 3 เลือกลงทุนในบริษัทที่มีแนวโน้มการเติบโต แต่มีความมั่นคง

หลังจากที่ผมเลือกบริษัทที่ทำสินค้าและบริการที่ผมชอบแล้ว ผมจะมองต่อด้วยว่า บริษัทนั้น ๆ อยู่ในอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มจะเติบโตอย่างยั่งยืนหรือไม่ ตรงนี้จริง ๆ ทุกคนน่าจะหาข้อมูลไม่ยากครับ มันมีพวก Mega Trend ให้เห็นอยู่แล้ว เช่น สังคมผู้สูงอายุ เทคโนโลยีต่าง ๆ แต่ผมไม่เน้นโตเร็วแบบกลวง ๆ นะครับ ประเภทบริษัทที่เล่นเกมทางการเงินเยอะ ๆ เพื่อปั่นยอดขาย อะไรแบบนั้น สำหรับผม มันเสี่ยงเกินไป ใช่ครับ ผมเห็นหลายบริษัทที่ราคาหุ้นมันเติบโตเป็นหลายเท่า ถามว่าเสียดายไหมที่ไม่ลงทุนในบริษัทเหล่านั้น ตอบว่า นิดหนึ่งครับ แต่ไม่มาก เพราะให้ย้อนเวลากลับไป ผมก็คงไม่กล้าลงทุนในลักษณะนั้นหรอกครับ มันเสี่ยงมากเกินไป

ก็เหมือนกับการปลูกต้นไม้ยืนต้นแหละครับ เราคงไม่เลือกต้นประเภทบอนไซมาปลูกจริงไหมครับ ถ้าเราหวังว่าอยากได้กินผลของมัน เพราะมันไม่โต และไม่ก็ไม่มีผลให้กินด้วย เราคงต้องเลือกประเภทต้นไม้เหมือนกัน ยิ่งโตเร็วยิ่งดี แต่เราไม่ได้ดูว่ามันจะโตแบบต้นหญ้า ประเภทแป๊บเดียวก็สูงพรวดพราด แล้วก็เหี่ยวเฉาไปอย่างรวดเร็ว เราคงต้องเลือกต้นที่มีฐานรากมั่นคง มีรากแก้วหยั่งลึกลงไป อะไรแบบนั้นด้วย

ข้อที่ 4 ซื้อแล้วไม่คิดจะขาย

อะไรนะ ไม่ขายเหรอ งั้นจะซื้อทำไมล่ะ คืออันนี้แล้วแต่มุมมองครับ บางคนมองหุ้นเหมือนสินค้า ซื้อมาขายไป ก็ไม่ได้ผิดอะไรครับ แต่เป็นคนละแนวทางกับผม ปกติผมมองหุ้นว่ามันเหมือนการลงทุนทำธุรกิจโดยเราไปหุ้นกับเพื่อนน่ะครับ ก่อนอื่น เราต้องเลือกให้ดี ๆ ก่อนว่าเรารักธุรกิจนั้นไหม (เหมือนที่เล่าไปก่อนหน้านี้) ต่อมา เราตัดสินใจลงทุนไปแล้ว พรุ่งนี้ เราคงไม่ถอนหุ้นออกใช่ไหมครับ

ผมก็ไม่ได้บอกว่า งั้นแปลว่าอย่างไรก็ไม่ขายใช่ไหม คงไม่ถึงขนาดนั้นครับ ถ้าธุรกิจนั้นมันทำท่าจะแย่ในระยะยาว ด้วยโลกเราที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งเราไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นจริงไหมครับ อันนั้นเราก็ค่อยพิจารณาอีกทีก็ได้ แต่โดยทั่วไป ผมคิดว่า ถ้าผมเลือกธุรกิจอย่างรอบคอบแล้ว ผมก็มักจะอยู่กับการลงทุนนั้นเป็นระยะเวลานาน

แล้วเมื่อไรจะขายล่ะ ผมมักจะดูปัจจัยดังต่อไปนี้ครับ

1) พื้นฐานของบริษัทเปลี่ยนไป เช่น บริษัทเปลี่ยนสินค้าหรือบริการ ที่ไม่ได้ตรงกับความสนใจของผม หรือไม่ก็มีทิศทางระยะยาวที่มันไม่น่าจะดี อุตสาหกรรมมันกำลังจะหดตัวลงไปเรื่อย ๆ หรือแม้กระทั่งเปลี่ยนตัวผู้นำองค์กร และเราเริ่มจะไม่เชื่อมั่นในตัวผู้นำคนใหม่ อะไรทำนองนี้ครับ

2) มีการลงทุนอื่นที่น่าสนใจมากกว่ามาก ๆ บางที มันก็มีโอกาสเข้ามาครับ และเราก็ไม่อยากพลาดโอกาสนั้น เช่น ไปเจออีกบริษัทหนึ่งที่พิจารณาดูแล้วว่ามันเจ๋งมาก ๆ แต่หาเงินไม่ได้เลย ก็อาจจะพิจารณาขายหุ้นที่เราถืออยู่ออกไปบางส่วน หรือทั้งหมดก็ได้ เพื่อการลงทุนที่ดีกว่า แต่ปกติแบบนี้ก็ไม่ค่อยเกิดขึ้นบ่อยนักครับ

3) มีความจำเป็นต้องใช้เงินในเรื่องอื่น ๆ อันนี้ ห้ามกันไม่ได้ครับ เพราะมันเป็นเรื่องความจำเป็นส่วนบุคคลหรือเรื่องเกี่ยวกับครอบครัว แต่ต้องระวังว่า อย่าไปใช้ในเรื่องที่ฟุ่มเฟือย ประเภทขายหุ้น ไปซื้อรถใหม่ อะไรแบบนี้ ต้องคิดให้หนัก ๆ เลยนะครับ

ผมมักจะยึดหลัก 3 ข้อนี้แหละครับในการขายหุ้น และถ้าจะต้องขาย ผมก็ไม่ดูต้นทุนผมหรอกครับว่ามันเท่าไร เอาตรง ๆ ผมแทบจะจำไม่ได้แล้วด้วยซ้ำครับว่า หุ้นผมน่ะต้นทุนเท่าไร เพราะต้นทุนมันเป็นอดีตไปแล้วครับ เรากลับไปแก้ไขอะไรไม่ได้ มันจึงไม่ส่งผลใด ๆ กับการตัดสินใจในอนาคตเลยครับ (ศัพท์วิชาการเขาเรียกว่าเป็นต้นทุนจม หรือ Sunk Cost ครับ) ถ้ามันเข้าข่าย 3 ข้อข้างบน ไม่ว่าต้นทุนเท่าไร จะขาดทุนหรือกำไร ผมก็ขายครับ

หลายคนมีคำถามว่า แล้วถ้าราคาหุ้นมันขึ้นไปแรง ๆ มาก ๆ เกินพื้่นฐาน ไม่ขายออกไปก่อนเหรอ แล้วพอมันตกมาแล้วค่อยช้อนซื้อกลับคืน ผมคิดอย่างนี้ครับ เราไม่รู้หรอกครับว่า มันจะขึ้นไปแค่ไหน และมันจะตกมาไหม และถ้าเราซื้อ ๆ ขาย ๆ บ่อย ๆ โอกาสพลาดมันจะมีเยอะกว่า ไม่รู้นะครับ สาย Technical เขาอาจจะมีเครื่องมือดี ๆ ที่จะบอกตรงนี้ได้ แต่อย่างที่บอกทุกท่านก่อนหน้านี้ครับ คือผมไม่ได้อยู่สายนั้น ผมจึงไม่สนใจที่จะขายเวลาหุ้นมันขึ้นไปแรง ๆ

ซื้อแล้วไม่ขาย จะทำกำไรได้อย่างไร อย่างที่บอกครับ ผมมองว่าการลงทุนหุ้นของผมเหมือนกับการปลูกต้นไม้ยืนต้น ดังนั้น ผมไม่ได้หวังว่าผมจะปลูกต้นไม้ไว้สักสัปดาห์ พอราคาต้นไม้นี้ขึ้น ผมก็จะขายออกไปทำกำไร แล้วพอราคาต้นไม้นี้ตกลงมา ผมก็จะกลับมาซื้ออีกครั้ง แต่ผมกะจะปลูกต้นไม้นี้ไว้ตลอดไป ให้มันเติบใหญ่ จนกระทั่งมันมีดอกผลมาให้เรา ถ้าจะเปรียบกับหุ้นก็เหมือนจะรอปันผลก็ได้ครับ และพอเราได้ผลไม้นั้นมา เราก็เอาไปขายเอาเงินไปซื้อพันธุ์ไม้ยืนต้นนั้นเพิ่มเติมอีก ก็เหมือนกับเราเอาปันผลมาลงทุนซื้อหุ้นนั้น ๆ เพิ่มอีกก็ได้ครับ เวลาผ่านไปเราก็จะมีไม้ยืนต้นจำนวนมาก ที่ให้ดอกผลให้เราเก็บเกี่ยวไปได้เรื่อย ๆ ไปจนถึงรุ่นลูกรุ่นหลานเรา

งั้นแปลว่า ต้องซื้อเฉพาะหุ้นที่มีปันผลสูง ๆ ใช่ไหม ก็ไม่เสมอไปครับ บางบริษัทอาจจะไม่ปันผลเลยก็ได้ เพราะผู้บริหารเชื่อว่า เขาสามารถนำเงินไปลงทุนเพิ่มน่าจะทำให้มูลค่าของบริษัทสูงกว่าที่จะเอามาปันผลให้กับผู้ถือหุ้น เหมือนต้นไม้แหละครับ ช่วงแรก ๆ มันไม่มีผลเลย เพราะมันอยู่ในช่วงการเจริญเติบโต อ้าวแล้วถ้าไม่ปันผลเลย เราจะทำกำไรอย่างไร ผมบอกแบบนี้ครับว่า หุ้นมันคือสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูงมาก ถ้าราคาหุ้นมันเติบโตขึ้นไปเรื่อย ๆ และเราต้องการจะใช้เงินเมื่อไร เราก็มักจะขายมันออกไปบางส่วนก็ได้ครับ เราไม่ต้องรอปันผลก็ได้ ถ้าเรามีความจำเป็นต้องใช้เงิน

โดยสรุปนะครับ ผมคิดว่าแนวทางการลงทุนนี้ จะประสบความสำเร็จในระยะยาว อย่างน้อยก็สำหรับผม ซึ่งระยะหลัง มันก็เป็นเช่นนั้น อย่างที่บอกว่ามันอาจจะไม่ได้เหมาะสำหรับทุกคน บางคนอาจคิดแย้งในใจว่า ไม่เห็นมันจะมีอะไรเลย เลือกหุ้นที่ชอบ ที่ดูแล้วน่าจะเติบโต มั่นคง แล้วก็ซื้อทิ้งไว้ ถ้ามันง่ายแบบนี้ ทุกคนก็รวยหมดแล้วสิ ใช่ครับ ถ้ามัน “ง่าย” ทุกคนก็น่าจะรวยได้ง่าย ๆ แต่ มันไม่ง่ายเลยครับ การที่เราจะอดทนกับความยั่วยวนต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นตลอดทาง ไม่ให้เราขายหุ้นทิ้ง เวลามีข่าวว่าเศรษฐกิจทำท่าจะแย่ ไม่ให้เราวิ่งไปซื้อหุ้นปั่น เวลาเห็นเพื่อน ๆ post ลง Facebook ว่าเขาได้กำไรหลายเท่าในระยะเวลาไม่กี่เดือน สิ่งเหล่านี้ ทำให้แนวทางนี้เป็นแนวทางที่ยากกว่าการซื้อ ๆ ขาย ๆ เอาซะอีกครับ บางคนบอกจะเป็นนักลงทุนระยะยาว แต่พอ 2 เดือน ก็ขายหุ้นทิ้งแล้ว

เลือกพันธุ์ไม้ดี ๆ ครับ ปลูกไว้ และค่อย ๆ ชื่นชมความเติบโตงอกงามของมัน แล้วเอาเวลาที่เหลือไปทำงานอื่น ๆ ที่เรารัก รอคอยเวลาที่ต้นไม้นั้นค่อย ๆ เติบโต จนกลายเป็นต้นไม้ใหญ่ ที่ให้ร่มเงากับเรา ให้ดอกผลกับเราต่อไป

ใช่ครับ แนวทางนี้มันดูง่าย ดูไม่ซับซ้อน แต่ผมเชื่อว่าแนวทางที่ประสบความสำเร็จมักจะเป็นแนวทางที่ง่ายอย่างคาดไม่ถึงครับ แต่กลับเป็นแนวทางที่หลายคนมองข้ามไป เราไปพยายามหา “สูตรลับ” ความรวยในตลาดหุ้น ซึ่งสำหรับผมแล้ว ก็ไม่แน่ใจว่าจะมีอยู่ไหม เราใช้เวลามหาศาลกับสิ่งเหล่านี้ ซึ่งผมว่าเราน่าจะเอาเวลาไปทำอย่างอื่นที่เรารักเราชอบ และสร้างรายได้ให้กับเรามากกว่า

เอาเป็นว่า อันนี้เป็นแนวทางของผมแล้วกันนะครับ ลองนำไปพิจารณาดูก่อนก็ได้ครับว่าตรงกับลักษณะนิสัยของท่านหรือเปล่า หวังว่าน่าจะเป็นประโยชน์นะครับ

อ่านบทความอื่น ๆ ได้ที่ www.NopadolStory.com หรือเข้าร่วมกลุ่ม Line@ ได้ที่ https://line.me/R/ti/p/%40nopadolrompho

Recommended Posts

No comment yet, add your voice below!


Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *