หลายคนอาจจะเคยได้ยินคำว่า Startup กันมาบ้างแล้ว และก็รู้จัก ความหมายของคำว่า Startup ว่าต่างจาก SMEs อย่างไร หรือแม้กระทั่งอยากจะสร้าง Startup เป็นของตัวเอง แต่อาจจะยังไม่ทราบว่า เอ แล้ว Startup มีกี่ประเภท อะไรบ้าง
ก่อนอื่นบอกก่อนนะครับว่า ประเภทของ Startup นั้น มันขึ้นอยู่กับว่าเราใช้อะไรในการแบ่ง จะได้ไม่ต้องสงสัยว่า ทำไม่หนังสือแต่ละเล่ม บอกประเภทของ Startup ไม่เท่ากัน
สำหรับเล่มนี้ ประเภทของ Startup จะขอแบ่งจากรูปแบบการดำเนินธุรกิจที่แตกต่างกันนะครับ โดยผมขออ้างอิงจากหนังสือชื่อ Lean Analytics ที่เขียนโดย Alistair Croll และ Benjamin Yoskovitz นะครับ
เอาล่ะครับ พร้อมแล้วมาดูกันต่อเลย ว่า Startup มีกี่ประเภท
1. E-Commerce
ผมว่า Startup ประเภทนี้ คนไทยน่าจะรู้จักดีที่สุด เพราะอาจจะคุ้นเคยกันอยู่แล้ว รูปแบบธุรกิจก็ไม่ได้ซับซ้อนอะไร คือ ก็เอาของมาขายทาง Website และพยายามดึงคนให้เข้ามาซื้อให้มากที่สุด
Startup ชั้นนำระดับโลก ที่ใช้รูปแบบการดำเนินธุรกิจรูปแบบนี้ ได้แก่ Amazon โดยเฉพาะในช่วงแรก ๆ ที่เขาขายหนังสือผ่าน Website ก็มีลักษณะแบบนี้เลยครับ (แต่ระยะหลัง เขาก็เพิ่มรูปแบบอื่น ๆ เข้าไปด้วยเหมือนกัน)
E-Commerce ของประเทศไทยนั้นเป็นที่น่าสังเกตว่าบริษัทใหญ่ ๆ ที่ลงมาเล่นในตลาดนี้ไม่น้อยเช่นกัน เช่น กลุ่ม Central ก็มีการทำ E-Commerce เพื่อรองรับกระแสของความนิยมในการซื้อของ Online ของคนไทยจำนวนไม่น้อย สำหรับรายได้หลักของ Startup รูปแบบนี้ก็คือรายได้จากการขายของผ่านช่องทาง Online ต่าง ๆ นั่นเอง
2. Software as a Service
รูปแบบของ Startup แบบนี้ คือการสร้าง Software ขึ้นมา เพื่อให้บริการกับลูกค้าในเรื่องต่าง ๆ ตัวอย่าง Startup ของไทย เช่น FlowAccount ซึ่งเป็น Software ที่ให้บริการในการทำบัญชีกับ SMEs ต่าง ๆ รายได้หลักของ Startup ในรูปแบบนี้ ส่วนใหญ่ก็จะมาจากค่าสมัครสมาชิกเพื่อใช้บริการ Software นั้น ๆ
3. Mobile App
อันนี้ก็เป็นรูปแบบอันหนึ่งที่ได้รับความนิยมอย่างมาก คือ Startup นั้น ๆ ก็จะเขียน Mobile Application ออกมา เพื่อให้บริการลูกค้า ถ้านึกไม่ออก ก็นึกถึงพวกเกมต่าง ๆ ก็ได้ครับ รายได้ ก็จะมาจากการที่เราซื้อ App เหล่านั้นมาใช้ใน Smart Phone ของเรา หรือบางทีมันก็จะมีให้เราซื้อ Feature ต่าง ๆ เพิ่มเติม เช่น เกมบางอย่างอาจจะ Load free แต่พอเล่นไปเล่นมา เราก็อาจจะอยากซื้อ item ต่าง ๆ เพิ่มเติมใน App แบบนี้เป็นต้น
4. Media
อันนี้เป็นประเภทของ Startup ที่เราอาจจะไม่ค่อยได้ยินข่าวสารมากนัก แต่ก็เป็นรูปแบบหนึ่งที่มีความน่าสนใจทีเดียวครับ รูปแบบของ Media ก็ตามชื่อเลยครับ เป็นสื่อ ที่ให้ความรู้ หรือข่าวสารต่าง ๆ แก่ผู้ที่สนใจ ตัวอย่าง ถ้าเป็นระดับโลกก็เช่นพวก CNN ตัวอย่างของไทยก็สื่อต่าง ๆ เช่น Sanook.com Workpoint TV Nation TV Spring News เป็นต้น รายได้ของ Media ก็อาจจะมาได้จากหลายทาง เช่น การโฆษณา การทำ Affiliate Marketing (คือเขียน Content โฆษณา ให้เขากดเข้าไปซื้อของนั้น ๆ และ Media startup ก็จะได้ % จากรายได้) เป็นต้น
5. User-Generated Content
อันนี้เป็น Model ของ Startup ที่ได้รับความนิยมสูงขึ้นเรื่อย ๆ หัวใจหลักของ Startup ประเภทนี้ คือจะต้องมีคนมาสร้าง Content ขึ้น และก็จะมีคนมาอ่าน ที่เรารู้จักกันมากที่สุด ก็ Facebook นี่แหละครับ ทีมงาน Facebook ไม่ต้องมานั่งเขียน Content ต่าง ๆ ให้เราอ่านเลย (ไม่เหมือนกับ Media ที่ต้องเขียน Content ขึ้นมา) ก็พวกเราเองนี่แหละครับที่เข้าไป Post ข้อความ และก็มีเพื่อน ๆ เราเข้ามาอ่านข้อความต่าง ๆ
ตัวอย่างของ Startup ในรูปแบบนี้ของประเทศไทย เช่น Storylog หรือ Fictionlog ซึ่งเป็น Platform ให้คนที่อยากเขียนเรื่องราวเข้าไปเขียนได้ Storylog จะเป็นเรื่องราวทั่ว ๆ ไป ส่วน Fictionlog ก็จะเป็นนิยาย
โดยรายได้ของ Startup เหล่านี้ อาจจะได้จากหลายทาง เช่น ใน Fictionlog เมื่อนักเขียนเข้ามาเขียนนิยาย และมีคนติดตามมาก ก็จะสามารถขายนิยายได้ ส่วนบริษัทก็หักค่าดำเนินการไปได้ หรืออย่าง Facebook ถึงแม้ผู้ใช้ทุกคนจะใช้งานได้ Free แต่ Facebook ก็เริ่มเก็บค่าโฆษณาของคนทำ Page ต่าง ๆ แบบนี้เป็นต้น
6. 2-Sided Market
รูปแบบนี้ ดูเหมือนจะคล้าย ๆ กับ E-Commerce แต่ความแตกต่างอยู่ตรงที่ เราไม่ได้เอาของมาขายเอง แต่เปิดโอกาสให้ผู้ขายกับผู้ซื้อมาเจอกัน เช่น ETSY eBay Alibaba หรือแม้กระทั่ง Amazon เดี๋ยวนี้ เขาก็เปิดให้ผู้ขายมาสร้างร้านขายสินค้า และผู้ซื้อก็มาซื้อสินค้า โดย Amazon ก็เก็บ % ค่าดำเนินการไป
ในประเทศไทยก็มี Startup ในรูปแบบนี้จำนวนไม่น้อย เช่น Lnw Shop (เทพช็อป) ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้ขายมาสร้างร้าน และให้ผู้ซื้อเข้ามาซื้อของผ่าน Platform ได้ โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย แต่ก็เก็บค่าใช้จ่ายจากบริการเสริมต่าง ๆ สำหรับให้ผู้ขายเลือกใช้ เช่น การโฆษณา การตกแต่ง การวิเคราะห์ข้อมูลเพิ่มเติม หรือการอบรมสัมนาเกี่ยวกับการเพิ่มยอดขาย
จะเห็นได้ว่า Startup นั้นก็มีหลากหลายรูปแบบ แตกต่างกันออกไป หวังว่าท่านจะรู้จักและเข้าใจ Startup แต่ละประเภทมากขึ้นนะครบั
อ่านบทความอื่น ๆ ได้ที่ www.NopadolStory.com หรือเข้าร่วมกลุ่ม Line@ ได้ที่ https://line.me/R/ti/p/%40nopadolrompho
No comment yet, add your voice below!