วิธีหาคำตอบว่าเราควรทำสิ่งนี้หรือไม่

ระยะหลังมีคนสอบถามมาเยอะว่าควรเรียนต่อเมืองนอกไหม ควรลาออกจากงานหรือเปล่า ควรมาทำกิจการตัวเองไหม ซึ่งคำตอบส่วนใหญ่ที่ผมตอบก็คือ จริง ๆ ผมไม่ได้อยู่ในสถานะที่จะตอบว่า ควร หรือ ไม่ควรแบบฟันธง เพราะผมเชื่อว่าสถานการณ์ของแต่ละคนมีความแตกต่างกันอย่างมาก

เอาเป็นว่าสิ่งที่ผมใช้ยึดถือมาตลอดคือหลักการที่ผมกำลังจะมาเล่าให้ฟังนี่แหละครับ

คำว่า “ควร” หรือ “ไม่ควร” ทำ สำหรับผมแล้ว ผมมองออกเป็น 2 มุมคือ 1) ผลทางบวกที่อาจจะได้ กับ 2) ผลในทางลบที่อาจจะเกิด

ถ้ามองใน 2 มุมนี้ มันจะมี 4 สถานการณ์ดังต่อไปนี้ครับ

1. ผลในทางบวกสูงมาก ในขณะที่ผลในทางลบต่ำมาก

อันนี้ ไม่มีปัญหาใด ๆ เลยครับ นอกจาก ทำไปเถอะครับ ถ้าทำแล้วมันไม่ work ก็แค่เลิก ไม่ได้เสียอะไรมาก ตัวอย่างของกิจกรรมพวกนี้ เช่น การออกกำลังกาย หรือ การอ่านหนังสือ สำหรับผมแล้ว ออกกำลังกายมันส่งผลบวกกับตัวเองมาก ๆ (ในกรณีที่ไม่หักโหมมากเกินไปนะครับ) และผลเสียแทบจะไม่มีเลย อย่างนี้ไม่ต้องคิดมากครับ ทำเหอะครับ หรืออ่านหนังสือ ผมเชื่อว่าหนังสือที่เราอ่านมันจะช่วยทำให้ชีวิตดีขึ้น แต่ถ้าท่านบอกว่า ไม่เห็นมันจะช่วยเลย มันก็แค่เสียเวลาที่ใช้อ่านก็คงไม่เยอะเท่าไร หรือ ค่าหนังสือเล่มละไม่กี่บาท (จะยืมจากห้องสมุดก็ยังได้) แบบนี้ไม่ต้องคิดมากครับ

2. ผลในทางบวกต่ำมาก ในขณะที่ผลในทางลบมีสูงมาก

อันนี้ก็ชัดเจนครับ คำแนะนำคือ อย่าทำครับ ได้ไม่คุ้มเสีย เช่น มีคนมาบอกเราว่า ลงทุนอันนี้กับเราไหม ได้ผลตอบแทนแน่ ๆ 10% (แนวแชร์ลูกโซ่) แบบนี้ ลองคิดดูนะครับ อย่างมากเราก็ได้แค่ 10% แต่ถ้าเสียเงิน อาจจะเสียหมดทั้งเงินเก็บที่เรามีทั้งชีวิตเลย แบบนี้อย่าไปยุ่งครับ ปัญหาของเราคือ เรามักจะมองแต่บวกนี่แหละครับ ไม่ได้คิดฝั่งเสียเลย มันเลยทำให้หลาย ๆ คนโดนหลอกกันไปไม่น้อยครับ

3.  ผลในทางบวกสูงมาก แต่ผลในทางลบก็สูงมากเช่นกัน

อันนี้เข้าข่าย High Risk High Return ตัดสินใจยากกว่า 2 แบบแรก ส่วนตัวผมจะใช้วิธีการเริ่มทำเล็ก ๆ ก่อน ยกตัวอย่างเช่น เราจะลาออกมาทำธุรกิจดีไหม อันนี้จะเห็นว่าหากธุรกิจมันประสบความสำเร็จนี่คือรวยเลยนะ แต่ถ้ามันเจ๊งล่ะ เราก็อาจจะโดนยึดบ้าน ยึดรถ เลยเหมือนกัน แบบนี้ ผมอยากให้เริ่มลองทำธุรกิจที่เราสนใจในวันเสาร์หรืออาทิตย์ก่อนไหม ทำเล็ก ๆ ไม่ต้องใหญ่ เรียนรู้ไปก่อน อยากขายของ Online ยังไม่ต้องให้คนมาทำ App เสียเงินเป็นล้าน ขายผ่าน Facebook Page ก่อนดีกว่า ทดลองไปก่อน ถ้าทิศทางมันดี มีคนเข้ามาซื้อมากมาย ตอนนั้นมันค่อนข้างพิสูจน์แล้วว่า โอกาสได้ผลทางบวกมันเยอะมากแล้ว เราก็ค่อยตัดสินใจทำอย่างเต็มที่ อย่างไรก็ตาม ผมก็ยังอยากให้ทำโดยมีแผนรองรับว่า ถ้ามันไม่ work จริง ๆ เราจะทำอย่างไร แบบนี้จะดีกว่าครับ

4. ผลในทางบวกต่ำมาก และ ผลในทางลบก็ต่ำมากเช่นกัน

อันนี้ตรงข้ามกับแบบที่ 3 คือ Low Risk Low Return แบบนี้ส่วนตัวผมมักจะไม่ค่อยอยากจะ Focus สักเท่าไร คือเข้าข่ายเหนื่อยฟรี เสียเวลาทำ เช่นการรับจ้างทำงานแบบต้องใช้แรงไปแลก แต่เป็นงานที่ไม่ได้สร้าง Value อะไรให้เรามาก เน้นตรงนี้ก่อนนะครับ ไม่ได้หมายความว่าห้ามทำ ถ้าท่านมีความจำเป็นจริง ๆ ในเรื่องการเงิน หรือเรื่องอื่น ๆ ท่านจะทำก็ได้ครับ แต่ต้องเข้าใจว่า ทำไป ท่านก็จะได้เต็มที่เท่านี้แหละ เวลาท่านก็มีจำกัด ค่าแรงก็จำกัด หรือถ้าตอนนี้ยังคิดอะไรไม่ออก ก็ทำไปก่อนก็ได้ครับ แต่พยายามนึกถึงงานแบบที่ 1 ให้มากขึ้น มีโอกาสเมื่อไร พยายามวิ่งไปทำงานแบบนั้นจะดีกว่าครับ

กรณีศึกษา

เพื่อทำให้เห็นภาพลองเอากรอบนี้ ตอบคำถามเหล่านี้ดูนะครับ

1. “ชอบเขียนหนังสือ ควรเขียนแล้วส่งให้สำนักพิมพ์ไหมครับ”

แบบนี้ ผมว่าเข้าข่ายแบบที่ 1 คือ เขียนเถอะครับ อย่างมาก สำนักพิมพ์ไม่รับ เราก็ไม่ได้เสียอะไรมาก ไม่ต้องจ่ายเงินซะด้วยซ้ำไป แต่ถ้าหนังสือที่เขียนเกิดติดอันดับ Best Seller มา อันนี้นอกจากรายได้เรื่องหนังสือแล้ว ยังมีรายได้อื่น ๆ เช่น การถูกเชิญไปเป็นวิทยากร หรืออื่น ๆ อีกมากมายตามมา

2. “มีคนชวนทำธุรกิจ เขาบอกว่าจะให้ผลตอบแทนเราแน่ ๆ เดือนละ 10% แต่ไม่รู้จักธุรกิจเขาเลย”

แบบนี้ มันคือแบบที่ 2 อย่าเลยครับ ธุรกิจยังไม่รู้จักเลย ใครก็ไม่รู้ เดือนละ 10% ก็ไม่ได้น่าสนใจมาก ได้ไม่คุ้มเสีย

3. เพิ่งเริ่มทำงาน ควรกู้เงินซื้อห้องคอนโด มาปล่อยให้เช่าไหม ยังไม่มีประสบการณ์ด้านนี้

นี่คือตัวอย่างแบบที่ 3 อย่าเพิ่งไปลงทุนเยอะขนาดนั้น ถึงแม้ว่า ถ้าทำได้ ต่อไปอาจจะสร้างอิสรภาพทางการเงินเราได้ แต่ถ้าไม่ได้ นี่ตัวเองติดหนี้ติดสินเดือดร้อนไปหมด เริ่มจากลองทำเป็นนายหน้า เป็นตัวแทนในการซื้อขายห้องคอนโดก่อนไหม เป็นการเรียนรู้ไปในตัวด้วย ยังไม่ต้องใช้เงินลงทุนตัวเอง มี network เครือข่าย และความรู้พอ ค่อยตัดสินใจอีกที

4. มีคนมาจ้างให้ทำงานหนึ่ง ได้ค่าแรงเป็นรายชั่วโมง แต่ต้องทำตั้งแต่ 6 โมงเช้าจนถึง 5 ทุ่มเลย ทำวันหยุดเสาร์อาทิตย์ ควรทำไหม

นี่คือตัวอย่างแบบที่ 4 ครับ คือถ้าเดือดร้อนเรื่องเงินอยู่ แล้วไม่มีทางเลือกอื่นก็ลองทำดูก็ได้ (ถ้าเป็นงานสุจริตแล้วไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อน) แต่อย่าพยายามอยู่แต่กับงานแบบนี้ พยายามหางานใหม่ดูที่มันจะทำให้เราเติบโตแบบก้าวกระโดด และไม่ต้องเสี่ยงจะดีกว่า

สุดท้ายขอเพิ่มเติมเพื่อความเข้าใจคือ คำว่าผลทางบวกหรือทางลบ ในตัวอย่างอาจจะยกเรื่องเงินมาเป็นปัจจัยหลัก แต่ในชีวิตจริง คำว่า “บวก” หรือ “ลบ” ไม่จำเป็นต้องเป็นเงินเสมอไปนะครับ คิดให้กว้างกว่านั้นได้เลยครับ ผลทางบวกอาจจะเป็นการได้อยู่ใกล้ชิดกับครอบครัว ที่สำหรับหลาย ๆ คนแล้วก็เป็นผลทางบวกที่สูงมาก ถึงแม้ว่าจะได้เงินเดือนน้อยก็ตาม แบบนี้ก็เข้าข่ายเช่นกันนะครับ (และคำว่า “บวก” หรือ “ลบ” “มาก” หรือ “น้อย” แต่ละคนย่อมแตกต่างกันอย่างแน่นอนครับ)

ก็เช่นเดิมครับ เป็นความคิดเห็นส่วนตัว ลองอ่านดูครับ เผื่อจะช่วยนำไปตัดสินใจสิ่งที่กำลังคิดกันได้นะครับ

อ่านบทความอื่น ๆ ได้ที่ www.NopadolStory.com หรือทาง Twitter www.twitter.com/NopadolRompho หรือฟัง Podcast Nopadol’s Story ได้ที่ https://nopadolstory.podbean.com/

Recommended Posts

No comment yet, add your voice below!


Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *