เวลาอ่านหนังสือแนวพัฒนาตัวเอง เรามักจะเจอคำแนะนำที่ว่า เราต้องอดทน ความอดทนจะนำเราไปสู่ความสำเร็จ หรือ เขามักจะยกคำพูดสวย ๆ ที่ วินซ์ ลอมบาร์ดี อดีตโค้ชในตำนานของทีมกรีนเบย์ แพคเกอร์ เคยพูดไว้ว่า “Winners never quit, quitters never win” หรือแปลว่า ผู้ชนะไม่เคยล้มเลิก และผู้ล้มเลิกไม่เคยชนะ มาบอกทำนองว่า ถ้าเราเอาแต่ล้มเลิก เราไม่มีทางสำเร็จหรอก
เลยอยากจะมาชวนคุยครับ อย่างแรก ผมเชื่อว่าคนที่สำเร็จ ต้องอดทน ฝ่าฟันความยากลำบากอันนี้ไม่ได้เถียงเลยครับ แต่คนที่อดทนไม่ได้การันตีว่าจะสำเร็จนะครับ มีคนอดทนจำนวนไม่น้อยที่ไม่สำเร็จ เผลอ ๆ จะมากกว่าอดทนแล้วสำเร็จด้วยซ้ำไป
เผลอ ๆ อดทนที่นี่แหละครับ ยิ่งกลายเป็นอุปสรรค ทำให้เราสำเร็จช้าขึ้นไปอีก ถ้าเราไปอดทนในสิ่งที่ไม่ควรอดทน
เราเคยเห็นภาพประมาณว่า มีคนขุดเหมือนหาเพชร เกือบใกล้จะถือเพชรแล้ว แต่ล้มเลิกไปก่อนไหม ภาพนี้มันทำให้เรารู้สึกว่า อย่าเป็นคนล้มเลิกง่าย ๆ นะ เห็นไหม ดูสิ เกือบถึงอยู่แล้ว แต่ดันล้มเลิกไปก่อน แต่ผมกลับคิดว่า มันมีคนที่ขุดเหมืองไปเรื่อย ๆ เป็น 10 ปี แล้วไม่เจอเพชรสักเม็ด แต่มีคนที่เลิกขุดเหมืองที่นี่ แล้วไปขุดที่อื่น แล้วก็เจอเพชร รวยไปตั้งนานแล้วก็มีนะ แต่ภาพแบบนั้นเราไม่ค่อยเห็นกัน
เหตุผลเพราะว่าสังคมเราดูเหมือนจะยกย่องคนที่ไม่ล้มเลิกมากกว่าคนล้มเลิก เวลาอ่านหนังสือเรามักจะเจอเรื่องประมาณว่า คน ๆ หนึ่งทำสิ่งหนึ่ง แล้วเจออุปสรรค แต่เขาสู้ต่อ จนฝ่าฟันอุปสรรคไปได้ แล้วก็สำเร็จ คืออ่านแล้วมันมีแรงฮึด มันสร้างแรงบันดาลใจให้เราลุยต่อไปเรื่อย ๆ ภาพของความอดทนมันลอยเด่นชัดขึ้นมาเลย
แต่ลองพิจารณาดูดี ๆ นะครับ มันมีเรื่องราวที่พูดถึงความสำเร็จที่เกิดจากความล้มเลิกจำนวนไม่น้อยเลย ยกตัวอย่างเช่น ก่อนที่จะมาเป็นทวิตเตอร์ที่คนทั่วโลกใช้เพื่อทวีตข้อความกันเนี่ย คนที่ก่อตั้งเขาทำแอพพอดแคสต์ที่ชื่อโอดีโอนะครับ
ลองนึกภาพว่า ถ้าเขายึดติดกับคำว่า Winners never quit, quitters never win ป่านนี้เราก็คงไม่รู้จักทวิตเตอร์ละ เขาคงลุยทำแอฟพอดแคสต์นั้นต่อ ซึ่งก็คงไม่สำเร็จอะไรเท่าไร หรือ อาจจะเจ๊งไปแล้วก็ได้ พูดง่าย ๆ ว่า ถ้าดันทุรังทำไป มันคงจะไม่สำเร็จในระดับเดียวกับทวิตเตอร์แน่ ๆ
แบบนี้มันแปลว่า คนที่สำเร็จน่ะ เขาล้มเลิกตลอดเวลา แต่คนไม่ค่อยเน้นเรื่องนี้ เพราะคำว่าล้มเลิกมันเป็นคำเชิงลบ เราเคยได้ยินซีอีโอคนไหนบอกไหมว่า ที่เขาสำเร็จมาจนถึงปัจจุบันน่ะ เพราะเขาเป็นคนชอบล้มเลิก ถ้ามีก็น้อยมาก เราเจอแต่คนบอกว่าที่เขาสำเร็จ เพราะอดทน ไม่ล้มเลิก ต่างหาก
นอกจากนี้ เรายังให้รางวัลคนที่อดทน มากกว่าคนที่ล้มเลิกอีก ใครที่อดทนทำอะไรจนสำเร็จ ก็จะได้รับการยกย่อง แต่ใครที่มาล้มเลิกโครงการบางอย่างลง เราก็ไม่ได้ยกย่องอะไร เผลอ ๆ อาจจะโดนด่าอีกว่า ไม่มีปัญญาทำให้สำเร็จอีก ทั้ง ๆ ที่การล้มโครงการนั้น อาจจะช่วยประหยัดเงินในองค์กรหลายร้อยล้าน ส่งผลดีต่อองค์กรมากกว่า การพยายามทำอะไรให้สำเร็จซะอีก
เขียนแบบนี้ไม่ได้เชียร์ให้ล้มเลิกมันทุกอย่าง แต่อยากจะบอกว่า อดทนหรือล้มเลิก มันคือสิ่งที่ต้องตัดสินใจเหมือนกันนั่นแหละ คือมันไม่ได้แปลว่าอดทนดีเสมอ หรือล้มเลิกดีเสมอ มันขึ้นอยู่กับสถานการณ์ เพียงแต่ดูเหมือนสังคมจะให้เครดิตกับความอดทนมากกว่า
แล้วสรุปว่า อะไรจะเป็นสิ่งบอกว่าเราควรอดทนหรือควรล้มเลิกล่ะ แน่นอนไม่มีใครตอบคำถามนี้ได้ถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นหรอก ถ้าตอบกว้าง ๆ ก็คือ ก็ต้องดูว่าสิ่งนั้นมัน “ควร” ที่จะอดทนหรือเปล่า อย่าไปคิดเพียงว่าอดทนดีเสมอ
ถ้าอะไรควรอดทน อดทนเลยครับ ลุยเลย แต่ถามตัวเองให้แน่ใจก่อนว่าเราได้ถามตัวเองแล้วนะว่าสิ่งนี้ควรอดทน ไม่ใช่หลับหูหลับตาอดทน เพราะกระแสสังคมชื่นชอบความอดทน เพราะถ้าเป็นแบบนั้น เราจะกลายเป็นคนที่อดทนแล้วไม่สำเร็จ ซึ่งเรื่องราวแบบนี้ไม่มีใครเอาไปเขียนหนังสือให้คนอื่นอ่านด้วย
อะไรที่ไม่ควรอดทน เลิกครับ จะรออะไร การเลิกทำสิ่งที่ไม่ควรทำ มันเปิดโอกาสให้เราได้ไปทำสิ่งที่ควรทำในอนาคต ซึ่งตรงนั้นความสำเร็จกำลังรอเราอยู่
แล้วอะไรคือสิ่งที่ควรอดทนหรือไม่ควรอดทนล่ะ คำตอบคือก็ต้องถามตัวเองว่า สิ่งที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตถ้าเราอดทนคืออะไร หรือสิ่งที่เกิดขึ้นในอนาคตถ้าเราล้มเลิกคืออะไร ไม่มีใครเดาถูก แต่เราก็พอประมาณการได้ เน้นนะครับ เราต้องดูสิ่งคิดว่าจะเกิดในอนาคต ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นมาแล้วในอดีต นั่นมันคือต้นทุนจม คือเรากลับไปเปลี่ยนอะไรไม่ได้แล้ว
มันไม่สำคัญหรอกครับ ว่าเราจ่ายเงินมามากแค่ไหน เสียเวลามามากแค่ไหน เพราะไม่ว่าเราจะอดทนทำต่อ หรือ จะเลิกทำ เงิน เวลา ที่เราจ่ายไปแล้ว มันก็จ่ายไปแล้วเท่าเดิม
เข้าใจครับว่ามันมีอารมณ์แบบนี้ว่า เราจ่ายไปแล้วตั้งล้านหนึ่ง จะให้เลิกไปง่าย ๆ แบบนี้เหรอ แต่ถามตัวเองนะครับว่า การที่เราทำต่อ แทนที่จะเจ๊งแค่ล้านเดียว กลายเป็นเจ๊งสองล้าน แบบนี้เราชอบเหรอครับ หรือ นี่เราเสียเวลามา 5 ปีเต็มกับเรื่องนี้ จะให้เลิกง่าย ๆ เหรอ ก็ลองถามตัวเองต่อว่า แล้วเราอยากเสียเวลาเพิ่มอีก 5 ปีเหรอ
ยากแหละครับที่จะหาทางออก แต่อยากให้คิดให้ดี ความอดทนกับความล้มเลิกมีคุณค่าไม่ได้แตกต่างกันหรอกครับ มันขึ้นกับว่าสิ่งที่เราอดทนในสิ่งที่ควรอดทนหรือสิ่งที่เราล้มเลิกในสิ่งที่ควรล้มเลิกหรือเปล่าก็แค่นั้น
จะไปต่อหรือพอแค่นี้ ลองคิดถึงอนาคตที่น่าจะเกิดขึ้นดู แล้วตัดสินใจกันได้นะครับ ผลลัพธ์เป็นอย่างไรไม่มีใครรู้ แต่ถ้าเราคิดมาดีแล้ว ก็ไม่มีอะไรที่น่าเสียดายครับ
ติดตามผลงานอื่น ๆ ได้ทาง Page Nopadol’s Story หรือ Nopadol’s Story Podcast ใน Podbean Soundcloud Apple Podcast Spotify YouTube หรือ Blockdit
1 Comment
ได้อ่านงาน อ.นภดล วันนี้ก็รู้สึกตอบโจทย์ตัวเองอยู่กราย ๆ แม้ว่าจะยังสองจิตสองใจอยู่กับการลาออกจากงานปัจจุบัน ที่ต้องอดทนกับระบบการบริหารที่รู้สึกว่าไม่ได้นำพาไปสู่อนาคตที่ดีขององค์กรเท่าไหร นัก หรืออาจเป็นเพราะว่า วิถีความคิด และการกระทำของเราไม่สนับสนุนองค์กร เหลือเวลาอีก 9 ปีจะเกษียณ ก็เลยถามตัวเองว่า จะยังคงมุ่งมั่นทุ่มเท รวมถึงอดทนทำงานกับที่นี่ต่ออีก 9 ปี หรือไปหาสิ่งใหม่ทำ ที่เรารู้สึกเป็นอิสระ และได้ทำอย่างที่เราไม่อึดอัดดี ก็ได้คำตอบที่มีแนวโน้มในการออกจากที่ทำงานเดิมมากกว่า 90% เพราะเราไม่รู้ว่าอนาคตข้างหน้าเราจะเป็นอย่างไร แทนที่เราจะต้องปล่อยให้อนาคตเดินเข้ามาหาเรา เราก็น่าจะมีสิทธิ์เลือกเดินไปหาอนาคตนั้นด้วยตัวเราเอง หรืออาจารย์มีคำแนะนำอย่างไรคะ