ทบทวนตัวเองอย่างสม่ำเสมอ

ถ้าใครอ่านหนังสือมาเยอะ ๆ น่าจะเจอสมการนี้ว่า Ego = 1/Knowledge ที่มีคนบอกว่าไอน์สไตน์เป็นคนพูด แต่หลายคนก็บอกว่าไม่ใช่ เอาเป็นว่าไม่ว่าใครจะพูดก็แล้วแต่ สมการนี้มีส่วนจริงอยู่มากทีเดียว แปลความหมายสมการง่าย ๆ ว่ายิ่งมี Ego เยอะ ก็ยิ่งมีความรู้น้อยนั่นเอง

คำว่า Ego ที่เรามักจะใช้กันนั้นมักจะมีความหมายในเชิงลบ ออกไปทางการหลงตัวเอง คิดว่าตัวเองเก่ง ตัวเองแน่ ไม่จำเป็นต้องฟังใครเชื่อใคร ใครที่มี Ego สูง ๆ จึงมักจะปิดรับความรู้ใหม่ ๆ ที่จะเข้ามา ด้วยความรู้สึกว่า เรารู้หมดแล้ว รู้ดีที่สุด หรือถ้าใครให้ความคิดเห็นแย้งกับสิ่งที่ตัวเองเชื่อ ก็มักจะปฏิเสธแล้วให้เหตุผลกับตัวเองหรือคนอื่น ๆ ว่า สิ่งที่เราคิดเท่านั้นที่ถูก ใครคิดไม่เหมือนเราผิดทั้งหมด

จึงไม่น่าแปลกใจครับที่คนที่มี Ego สูง ๆ แบบนี้จึงมักจะมีความรู้น้อย เอาจริง ๆ ตอนแรกเขาก็มีความรู้เยอะแหละครับ ไม่งั้น Ego ก็คงไม่สูงมาได้ถึงตรงนี้หรอก แต่อย่าลืมว่าความรู้สมัยนี้มันหมดอายุง่ายดายเสียเหลือเกิน ความรู้ที่เราเรียนมาตอนมหาวิทยาลัย ต่อให้เราได้เกียรตินิยมอันดับ 1 เหรียญทองเลย แป๊บเดียวก็อาจจะใช้ไม่ได้แล้ว ดังนั้นคนที่ไม่ยอมเรียนรู้เพิ่มเติม ไม่ยอมทบทวนตัวเองอย่างสม่ำเสมอ จึงติดกับดักนี้ และสุดท้ายก็กลายเป็นคนตกยุคไปในที่สุด

แต่เรื่องนี้พูดง่าย แต่ทำยาก เพราะถ้าคนที่ทราบเรื่องนี้ดีอยู่แล้ว เขาก็คงทบทวนตัวเองอยู่เป็นประจำอยู่แล้ว คนไม่รู้ตัวนี่แหละ ที่จะไม่ยอมทบทวน เอาเป็นว่าถ้าใครมีแนวโน้มจะเริ่มรู้สึกว่าเรารู้ทุกเรื่อง เก่งทุกอย่างแล้วล่ะก็ มีโอกาสเป็นไปได้มากเลยครับที่เราจะติดกับดักนี้อยู่

ผมอ่านหนังสือเรื่อง Think Again ที่เขียนโดย Professor Adam Grant มีเรื่องหนึ่งที่ผมชอบมากคือ เขาบอกว่าเราควรทำตัวเหมือนเป็นนักวิทยาศาสตร์ นั่นคือเราต้องคอยถามตัวเองอยู่เสมอว่า สิ่งที่เราคิดนั้น มันถูกต้องจริงไหม ยิ่งเราเชื่อมาก ๆ ว่ามันถูก เรายิ่งต้องระวังให้มาก เพราะมันอาจจะเป็นการหลงแบบหัวปักหัวปำเลยก็ว่าได้

พูดแบบนี้ไม่ได้หมายความว่า เราจะไม่มีความเชื่อมั่นในตัวเองนะครับ ในหนังสือ Think Again ได้กล่าวถึงลักษณะของผู้ประสบความสำเร็จว่าจะต้องมี Confidence Humility ซึ่งแปลว่าเราต้องมีความเชื่อมั่น (Confidence) ในขณะเดียวกันก็ต้องรู้จักอ่อนน้อมถ่อมตน (Humility) ไปด้วยในตัว

ความเชื่อมั่นที่ว่านี้คือความเชื่อมั่นในสิ่งที่เรารู้จริง ๆ ในสิ่งที่เป็นจุดแข็งของเรา ในขณะที่ความอ่อนน้อมถ่อมตนคือการรู้ว่าเราไม่รู้อะไร เรามีจุดอ่อนเรื่องใด ซึ่งจะทำให้เราพร้อมที่จะเปิดรับความรู้ใหม่ ๆ เข้ามา หรือมอบหมายและเชื่อใจให้คนอื่นได้มีโอกาสทำในสิ่งที่เราไม่มีความรู้หรือไม่ถนัดนั่นเอง

ถ้าเราจะแบ่งเรื่องความรู้ คงแบ่งได้ 4 อย่างคือ 1) รู้ว่าเรารู้ รู้2) ว่าเราไม่รู้ 3) ไม่รู้ว่าเรารู้ และ 4) ไม่รู้ว่าเราไม่รู้ เริ่มจากอันแรกคือรู้ว่าเรารู้ อันนี้คงเป็นความรู้ที่ได้ศึกษามาผ่านช่องทางต่าง ๆ เช่น ผมรู้ว่า OKRs คืออะไร เพราะได้ศึกษามา ทำวิจัยมา ต่อมาคือ รู้ว่าเราไม่รู้ อันนี้เราก็ตระหนักรู้ว่าเราไม่รู้เรื่องใด ผมอาจจะรู้เรื่อง OKRs แต่ถ้าเป็นเรื่อง Blockchain ผมอาจจะยังเข้าใจเรื่องนี้ไม่ดีนัก ไม่รู้ว่าเรารู้ อันนี้เริ่มยาก เพราะจริง ๆ เราอาจจะรู้อยู่แล้ว แต่มันยังไม่ชัดเจนขึ้นมา เช่น ผมอาจจะรู้ว่าทำ OKRs อย่างไรให้สำเร็จมาสักพักแล้ว แต่ไม่เคยมานั่งคิด ตกผลึกออกมาเป็นเรื่องเป็นราว จึงทำให้ตัวผมไม่รู้ว่าจริง ๆ ผมรู้เรื่องนี้แล้ว เรื่องนี้แหละครับ ถ้าเรากลับมาทบทวนตัวเองว่ามีเรื่องอะไรบ้างนะที่เรารู้แล้ว แต่เราไม่รู้ตัวว่าเรารู้ หรือลองถามคนที่รู้จักเราว่าในมุมมองเขา คิดว่าเรารู้เรื่องอะไรบ้าง บางทีเราอาจจะเจอว่า อ้าวมีเรื่องนี้ด้วยเหรอที่เรารู้ ทั้ง ๆ ที่เราไม่รู้ตัวก็ได้

ส่วนอันสุดท้ายอันนี้ยากสุดคือ ไม่รู้ว่าเราไม่รู้ คือเรื่องในโลกนี้มีเรื่องที่เราไม่รู้อยู่เยอะมาก ในบรรดาเรื่องที่เราไม่รู้นั้น มันก็มีที่เรารู้ (ตามตัวอย่างข้างต้น) แต่ที่เยอะกว่าคือสิ่งที่เราไม่รู้นั่นเอง อันนี้แหละครับที่เราต้องมาทบทวนว่าเราไม่รู้เรื่องอะไรบ้างที่สำคัญต่อความสำเร็จของเรา สำหรับผมวิธีทบทวนที่ดีที่สุดที่จะเปลี่ยนเรื่องไม่รู้ว่าเราไม่รู้ เป็นรู้ว่าเราไม่รู้ คือการอ่านหนังสือครับ

การอ่านหนังสือจะช่วยกระตุ้นความคิดของเรา และหลาย ๆ ครั้งเหมือนกับการเปิดโลกใหม่ให้เราเลย หนังสือหลาย ๆ เล่ม อ่านแล้วรู้สึกว้าวขึ้นมาทันที ถึงแม้ว่าเรื่องนั้นเราก็ยังไม่แน่ใจว่าคืออะไร แต่มันกระตุ้นทำให้ผมได้ไปอ่านต่อ ศึกษาต่อ เหมือนครั้งหนึ่งก่อนที่ผมจะรู้จัก OKRs ตอนนั้น OKRs เป็นเรื่องที่ผมไม่รู้ว่าผมไม่รู้ คือไม่เคยได้ยินชื่อมาก่อนเลยด้วยซ้ำ และพอไปอ่านหนังสือที่เกี่ยวกับ Google เขาพูดถึง OKRs ณ เวลานั้น OKRs กลายเป็นสิ่งที่ผมรู้ว่าผมไม่รู้แล้ว ผมยังไม่ค่อยเข้าใจหรอกว่าคืออะไร แต่คิดว่าต้องไปหาอ่านหนังสือเรื่องนี้อ่านต่อ จน OKRs กลายเป็นสิ่งที่ผมรู้ว่าผมรู้ และอาจจะพ่วงมาด้วยสิ่งที่ผมไม่รู้ว่าผมรู้มาด้วยในที่สุด

เอาเป็นว่าโดยสรุป การทบทวนตัวเองเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ๆ ในการบริหาร จัดการองค์กร รวมถึงชีวิตเรา เพื่อจะนำเราไปสู่ความสำเร็จนะครับ

ข้อคิด อะไรที่เราเชื่อมาก ๆ ว่าถูก ยิ่งต้องตั้งคำถามให้มาก ๆ กับตัวเองว่าเป็นอย่างนั้นจริงหรือไม่

ติดตามผลงานอื่น ๆ ได้ทาง Page Nopadol’s Story หรือ Nopadol’s Story Podcast ใน Podbean Soundcloud Apple Podcast Spotify YouTube หรือ Blockdit

Recommended Posts

No comment yet, add your voice below!


Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *