ผมได้ทำ Podcast ในช่อง Nopadol’s Story มากว่า 1,000 ตอน เลยอยากจะมาถอดประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการทำ Podcast ว่าสามารถสร้างโอกาสอะไรบ้าง และมีอุปสรรคอย่างไร เผื่อจะเป็นประโยชน์สำหรับคนที่สนใจอยากจะมาเป็น Podcaster
เริ่มต้นจากโอกาสก่อนแล้วกันนะครับ
โอกาสในการทำ Podcast
1. ได้พัฒนาตัวเอง
จริง ๆ คนที่จะเป็น Podcaster ที่จัด Podcast ได้เป็นประจำนั้น มีความจำเป็นเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องชอบเรียนรู้ ไม่ว่าจะผ่านการอ่าน การฟัง หรือการฝึกปฏิบัติในเรื่องต่าง ๆ และการที่เราได้เรียนรู้สิ่งนั้น และนำมาเรียบเรียงเพื่อจะเล่าให้คนอื่นต่อ เราจะมีโอกาสพัฒนาตัวเองได้เยอะขึ้นแน่นอน
2. เป็นที่รู้จักมากขึ้น
การที่เราได้มาทำ Podcast และส่งต่อความรู้ ประสบการณ์หรือสิ่งดี ๆ ที่เป็นประโยชน์ให้กับคนอื่น ก็จะทำให้เราเป็นที่รู้จักมากขึ้น ใช่ครับ อย่าเพิ่งหวังว่าคนทั้งประเทศจะมารู้จักเราแบบ Super Star อะไรขนาดนั้น แต่เชื่อเถอะครับ จะมีคนจำนวนหนึ่งที่เขาติดตามและชอบสิ่งที่เราพูดใน Podcast แค่นี้ก็ทำให้เขารู้จักเรามากขึ้นแล้วครับ และการที่เราเป็นที่รู้จักและเป็นที่ชื่นชอบของใครคนใดคนหนึ่งก็ย่อมเป็นสิ่งที่ดี และน่าจะช่วยให้เรามีโอกาสต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น
3. ช่วยเพิ่มรายได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม
รายได้ทางตรงที่ได้จากการทำ Podcast ก็เช่น การที่มีบริษัทมาให้ Sponsor ในช่อง Podcast ของเรา เพื่อโฆษณาสินค้าหรือบริการของบริษัทนั้น ๆ แต่กรณีนี้จะเกิดขึ้นได้ก็อาจจะต้องให้เรามีจำนวนคนฟังมากพอ ส่วนรายได้ทางอ้อมนั้น อาจจะเกิดจากคนที่เขารู้จักเรา เขาจะทราบว่าเราเชี่ยวชาญทางด้านไหน ก็อาจจะเชิญเราไปเป็นวิทยากร เป็นที่ปรึกษา หรือถ้าเรามีสินค้าหรือบริการอะไร เขาก็ย่อมสนใจอยากจะซื้อเป็นต้น
อย่างไรก็ตาม การทำ Podcast ก็เหมือนกับการทำอย่างอื่นคือคงไม่ได้มีแต่โอกาสอย่างเดียว แต่ก็จะมีอุปสรรคที่เราต้องก้าวผ่านไปให้ได้ โดยประสบการณ์ของผมมี 3 ข้อดังต่อไปนี้
อุปสรรคในการทำ Podcast
1. ต้องใช้เวลามาก
ปกติผมจะใช้เวลารวม ๆ ประมาณวันละ 1 ชั่วโมงในการทำ Podcast นะครับ นี่ยังไม่รวมเวลาที่ใช้อ่านหนังสือด้วยนะ เพราะผมชอบอ่านเป็นอดิเรกอยู่แล้ว ผมใช้เวลาในการอัด Podcast ทั้งหมดประมาณ 30 นาที และจัดการ File ทำรูปหน้าปก และนำไป Upload ใน Platform ต่าง ๆ ก็ประมาณ 30 นาที นี่ถ้ารวมเวลาในการอ่านและเตรียมเนื้อหาด้วย ก็อาจจะเกือบ 2 ชั่วโมงต่อวันเลยก็ได้ ดังนั้นการอัด Podcast จึงเป็นงานที่ใช้เวลาพอสมควร แต่ถ้าใจรักจริง อุปสรรคข้อนี้เราก็สามารถผ่านไปได้แหละครับ ผมทำงานประจำเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย ก็ยังมีเวลาทำได้ทุกวันติดกันเป็นพันตอนแล้ว
2. ต้องมีความรู้ความเข้าใจทางด้านเทคนิคเกี่ยวกับเสียงและ Graphic บางอย่าง
ปัจจัยที่ทำให้คนอยากฟัง Podcast เรา นอกจากเนื้อหาแล้ว ยังเป็นเรื่องของคุณภาพของเสียง และรูปหน้าปกที่ดึงดูดด้วย ส่วนตัวตอนแรกผมอัด ผมไม่มีแม้กระทั่งไมโครโฟน ซึ่งใหม่ ๆ ก็อาจจะไม่ค่อยมีคนฟังมากนัก แต่พอเริ่มมีคนฟัง ก็พัฒนาลงทุนกับเรื่องไมโครโฟน และเรียนรู้เรื่องการใช้ Program อัดเสียง ทำการปรับเสียงให้มีคุณภาพดีขึ้นได้ ภาพก็เช่นกัน ผมไม่ได้เป็นคนที่เก่งที่เรื่องการออกแบบ Graphic อะไรพวกนี้เลย แต่ก็มีลูกศิษย์มาช่วยทำ Template ให้ ก็ใช้งานได้ง่ายขึ้น ใช่ครับ อาจจะไม่ Perfect แต่เราก็สามารถเรียนรู้ได้
3. การทำความเข้าใจกับผู้ติดตาม
พอเราเริ่มทำ Podcast ก็จะเริ่มมีผู้ติดตามฟัง สิ่งที่สำคัญคือการทำความเข้าใจกับผู้ติดตามให้ทราบถึงแนวทางการทำ Podcast ของเรา เช่นเนื้อหาที่เราพูดจะเกี่ยวข้องกับเรื่องอะไร เรื่องใดที่เราสามารถตอบได้ ตอบไม่ได้ หลายครั้ง Podcaster เองก็อาจจะได้รับคำถาม หรือแม้กระทั่งได้รับคำขอให้ช่วยเหลือเรื่องต่าง ๆ ซึ่งถ้าเราไม่ทำความเข้าใจกับผู้ติดตาม ก็อาจจะมีปัญหาขัดแย้งเกิดขึ้นได้ และยิ่งมีคนติดตามมาก บางครั้งก็อาจจะมีบ้างที่มีคนที่ฟังเนื้อหาบางอย่างแล้วไม่ถูกใจ ซึ่งเป็นเรื่องปกติ ถ้าเป็นสิ่งที่ควรปรับปรุง เราก็ควรพิจารณาปรับปรุง แต่ถ้าไม่ใช่ก็คงต้องชี้แจงให้เข้าใจตรงกัน
อันนี้เป็นประสบการณ์ส่วนตัวที่ทำ Podcast มาทุกวันติดกันกว่าพันตอน เผื่อจะเป็นประโยชน์กับท่านอื่น ๆ ที่สนใจอยากจะเป็น Podcaster ด้วยนะครับ
ติดตามผลงานอื่น ๆ ได้ทาง Page Nopadol’s Story หรือ Nopadol’s Story Podcast ใน Podbean Soundcloud Apple Podcast Spotify YouTube หรือ Blockdit
1 Comment
ขอบคุณมากครับอาจารย์ที่ช่วยแชร์ ผมฟัง podcast เป็นประจำเกือบทุกวัน เคยคิดอยากจะเป็น podcaster เหมือนกันแต่เริ่มไม่ได้สักที ปีนี้ตั้งใจจะลองเริ่มสักตอนครับ