ถ้าใครลอง Search คำนี้ดู อาจจะพบบทความที่บอกถึงการที่เราลงทุนกับสิ่งที่เรารักในมุมของการสะสมสิ่งต่าง ๆ เช่น กระเป๋า นาฬิกา ฯลฯ แล้วต่อมาสิ่งเหล่านี้ก็มีมูลค่าสูงขึ้น
.
เรียกง่าย ๆ ว่าได้ลงทุนในสิ่งที่เรารัก และในขณะเดียวกัน ก็ได้กำไรด้วย (หากอยากขายออกไปในภายหลัง)
.
แต่ที่ผมจะมาชวนคุยในหัวข้อนี้อาจจะต่างจากมุมนี้ครับ ผมอยากจะชวนคุยถึงการลงทุนในบริษัทที่ทำสิ่งที่เรารักหรือสนใจมาก ๆ
.
แต่บอกก่อนนะครับว่า เป้าหมายของการลงทุนในลักษณะนี้ของผมไม่ได้เป็นเรื่องกำไรเป็นหลัก เป้าหมายคือความสุขกับการได้ร่วมลงทุนมากกว่า
.
เพราะฉะนั้น ถ้าใครหวังจะรวยจากการลงทุนในลักษณะนี้ บทความนี้อาจจะไม่ตอบโจทย์สักเท่าไร แต่ถ้าได้ความสุขใจกับการลงทุน อันนี้อาจจะตอบโจทย์
.
ตัวอย่างการลงทุนในรูปแบบนี้คืออะไร
.
เอาตัวอย่างผมเลยก็แล้วกัน คือผมชอบฟุตบอล และตามเชียร์ทีมแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดมายาวนาน
.
พอโตมาก็พบว่า ทีมนี้ถูก List ในตลาด NYSE (New York Stock Exchange) ซึ่งแปลว่าเปิดโอกาสให้เราเป็นเจ้าของได้ ถึงแม้ว่าจะเป็นส่วนเล็กมาก ๆ ก็ตาม
.
นี่แหละครับคือตัวอย่างของ Passion Investment ในมุมนี้ครับ
.
ถามว่าแล้วลงทุนแบบนี้กำไรมากมายแค่ไหน ก็ต้องบอกว่าโดยรวมก็ไม่ได้มากมายสักเท่าไร เอาจริง ๆ ก็พอทราบว่าธุรกิจฟุตบอลมันไม่ใช่ธุรกิจที่จะขยายใหญ่ได้มาก ๆ หรอกครับ เพราะทุกปีก็ต้องมีการเสริมทีม จำนวนคนดูในสนามมันก็ค่อนข้างจำกัด รายได้จากการถ่ายทอดก็มี Limit ระดับหนึ่ง ส่วน Sponsor ก็ไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับสภาพเศรษฐกิจ และ ผลงานของทีม
.
แต่ถามว่ามีความสุขกับการลงทุนไหม ต้องบอกว่ามีครับ และยิ่งเราลงทุนในองค์กรที่เราชอบมาก ๆ เราก็จะมีโอกาสติดตามองค์กรนั้นมากขึ้นเรื่อย ๆ และ ยิ่งเราติดตาม เรายิ่งรู้เรื่ององค์กรนั้นมาก
.
และจริง ๆ ว่าตามหลักการแล้ว การลงทุนที่ดีคือการลงทุนที่เราศึกษาและรู้จักองค์กรที่เราลงทุนเป็นอย่างดี
.
แต่ก็อย่างที่บอกครับ อย่าไปหวังรวยกับการลงทุนแบบนี้ เป้าหมายคือแค่ได้เห็นผลการดำเนินงานกับองค์กรที่เรารัก แค่นี้ก็สนุกแล้ว
.
ส่วนตัวจึงอยากแนะนำว่า ดังนั้นเงินที่ลงทุนในองค์กรแบบนี้ควรจะไม่เยอะครับ อย่าเสี่ยงเอาเงินเก็บทั้งหมดมาลง เอาแค่พอให้เรารู้สึกดีที่ได้เป็นเจ้าของกิจการเหล่านี้ก็พอ
.
อีกมุมหนึ่งที่ผมชอบคือ หลาย ๆ ครั้ง เราอยากทำธุรกิจแบบนั้น แต่จริง ๆ แล้วเราอาจจะไม่ได้มีความเชี่ยวชาญพอ หรือจริง ๆ เราอาจจะไม่ชอบเรื่องการบริหารจัดการด้วยซ้ำ เราแค่ชอบในมุมของการเป็นผู้รับบริการ
.
อย่างตัวอย่างของผม คือ ผมชอบดูบอล แต่เอาจริง ๆ ถ้าต้องไปบริหารจัดการทีมฟุตบอล ผมอาจจะไม่ได้ชอบด้วยซ้ำ
.
ถ้างั้นการซื้อหุ้นสโมสรฟุตบอลอาจจะตอบโจทย์ เพราะเราไม่ต้องไปทำงานทั้งหมดเอง มีคนบริหารจัดการให้ มันให้อารมณ์ว่า มีคนมาชวนร่วมหุ้นว่า ไปซื้อสโมสรฟุตบอลกันไหม จะลงเท่าไรก็ได้ ประมาณนั้น
.
ถ้ามุมนี้ เราอาจจะลองทำแบบนี้ได้ครับ
.
อยากมีร้านกาแฟ ลองไปซื้อหุ้น Starbucks
อยากเป็นเจ้าของร้านหนังสือ ลองไปซื้อหุ้น Barnes & Noble
อยากเป็นเจ้าของร้านขายอุปกรณ์กีฬา ลองซื้อหุ้น Nike
อยากทำหนัง ลองลงทุนในบริษัท Netflix
.
หรือถ้าใครมี Idol เป็นใครคนใดคนหนึ่ง เราอาจจะตามซื้อหุ้นบริษัทของเขาหรือที่เขาบริหารอยู่ก็ได้นะครับ เข้าข่าย Passion Investment ในแบบนี้เช่นกัน
.
มี Elon Musk เป็น Idol ไปซื้อหุ้น Tesla
มี Jeff Bezos เป็น Hero ไปซื้อหุ้น Amazon
ชื่นชอบ Mark Zuckerberg ไปซื้อหุ้น Facebook
ชื่นชอบ Tim Cook ลงทุนใน Apple
.
เน้นอีกทีนะครับ เพราะอาจจะมีคนถามว่า แล้วถ้าราคาหุ้นมันแพงล่ะ ต้องบอกแบบนี้ครับว่า Passion Investment ในรูปแบบนี้ เป้าหมายหลักไม่ใช่กำไรครับ แล้วเอาจริง ๆ โดยทั่วไปเราก็แทบจะไม่ทราบว่าราคาที่เราคิดว่าแพงแล้ว มันจะขึ้นไปอีกหรือเปล่า (คือถ้าใครรู้แน่ ๆ ก็รวยกันทุกคนแล้ว) คือถ้าได้กำไรถือว่าเป็นโบนัสละกัน แต่ถ้าขาดทุน เราต้องไม่เจ็บใจมาก
.
ผมจึงแนะนำว่า อย่าลงทุนแบบทุ่มสุดตัว เอาเป็นว่า ขาดทุนก็ไม่เสียดาย แค่ได้โอกาสร่วมลงทุนในบริษัทที่ทำธุรกิจที่เรารัก หรือ คนที่เราชื่นชม เราก็มีความสุขแล้ว
.
เป็นอีกหนึ่งแนวคิดก็แล้วกันครับ
ติดตามผลงานอื่น ๆ ได้ทาง Page Nopadol’s Story หรือ Nopadol’s Story Podcast ใน Podbean Soundcloud Apple Podcast Spotify Youtube หรือ Blockdit
No comment yet, add your voice below!