หรือต่อไปจะไม่มีใครเรียนจบ

บทความนี้เป็นงานพูดที่ผมไปพูด TED Talk (TEDxKhonKaenU) มาครับ ใครอยากฟังมากกว่าอ่าน ก็กดดู clip ได้เลยครับ
.
ผมพูดถึงมหาวิทยาลัยไทยในอนาคตที่กำลังจะเจอมรสุม 3 ลูกพร้อม ๆ กัน
.
.
1. เราก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว
.
สัดส่วนผู้สูงอายุเกิน 10% ของจำนวนประชากรทั้งหมดมาตั้งแต่ปี 2007 แล้ว นี่คือนิยามของคำว่า “สังคมผู้สูงอายุ” และตัวเลขนี้จะสูงขึ้นถึง 20% ในปี 2021 ซึ่งหมายความว่าเราจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์
.
.
ในทางกลับกัน จำนวนเด็กที่เกิด ก็ลดลง เมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว มีเด็กเกิดประมาณปีละ 1 ล้านคน แต่ปัจจุบันเหลือประมาณปีละ 7 แสนคน ด้วยเหตุผลทางธรรมชาติแบบนี้ จึงไม่แปลกที่จำนวนคนเรียนมหาวิทยาลัยจึงต้องลดลงตาม

2. เราอยู่ในยุคดิจิตอลแล้ว
.
ยุคนี้การเรียนการสอนมันไม่จำเป็นที่จะต้องออกไปเรียนที่มหาวิทยาลัยเสมอไป ผมมีรุ่นน้องบางคนที่เรียนจบมาทางหนึ่ง แล้วไปทำงานอีกสายหนึ่ง โดยที่เขาไม่ได้เรียนผ่านหลักสูตรใด ๆ แต่เขาเรียนผ่าน Youtube และหาบทความจาก Google มาอ่าน ถึงแม้ว่าอาจจะยังมีข้อจำกัดในบางสายงาน ที่อาจจะต้องใช้การฝึกปฏิบัติเยอะ แต่หลาย ๆ สาย รวมทั้งบริหารธุรกิจ (ที่ผมก็เป็นอาจารย์สอนอยู่นี่แหละ) อาจจะถูกทดแทนโดยพวก Online Course ได้เป็นจำนวนมาก
.
.
และคุณภาพของ Online Course นี่ก็ไม่ใช่ธรรมดานะครับ อาจารย์ที่สอนมาจากมหาวิทยาลัยระดับโลกกันทั้งนั้น จึงทำให้ความจำเป็นในเรียนผ่านมหาวิทยาลัยลดลงไปอีก
.
.
และถ้าวันนี้ บริษัทประกาศออกมาว่า เขารับคนจบ ม. 6 มาทำงาน แล้วเดี๋ยวเขาสอนเอง ไม่ต้องเรียนปริญญาตรีหรอก แค่นี้ ผมคิดว่ามหาวิทยาลัย (ที่ไม่ปรับตัว) ก็ล่มสลายแล้วครับ

3. หลักสูตรมีมากขึ้น
.
ในขณะที่เราเจอวิกฤติจำนวนผู้เรียนน้อยลง หลายมหาวิทยาลัยกลับเปิดหลักสูตรเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยไม่ได้ปิดหลักสูตรที่เคยเปิดไว้ ทำแบบนี้ยิ่งทำให้เกิด Oversupply คือจำนวนหลักสูตรมากกว่าจำนวนคนเรียน แต่ละหลักสูตรก็ต้องมีอาจารย์ประจำหลักสูตร นั่นหมายความว่า เรามีจำนวนอาจารย์มากเกินไป
.
.
จากเหตุผล 3 ประการนี้ จึงไม่แปลกเลยครับ ที่ปีที่ผ่านมา (2017) จำนวนคนสมัครเรียนเข้ามหาวิทยาลัยทั้งหมดมีแค่ 60% ของจำนวนที่นั่งของมหาวิทยาลัย
.
นั่นหมายความว่า มหาวิทยาลัย 40% อาจจะปิดตัวลง หรือ จำนวนคณะหรือหลักสูตร จะต้องหายไปประมาณ 40% นั่นเอง
.
.
แล้วมหาวิทยาลัยในอนาคตหน้าตาจะเป็นอย่างไร
.
.
ต้องบอกแบบนี้ก่อนครับว่า ปรากฏการณ์นี้ ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะที่ประเทศไทย Professor Christensen จาก Harvard Business School ก็ได้ทำนายว่า ภายใน 10 ปีที่จะถึงนี้ 50% ของมหาวิทยาลัยในประเทศสหรัฐอเมริกาที่มีจำนวนกว่า 4,000 แห่ง จะต้องปิดตัวลง
.
ผมมองว่า สิ่งที่จะเกิดขึ้นกับมหาวิทยาลัยในประเทศไทย หากต้องการจะอยู่รอดจะมีทิศทางดังต่อไปนี้ครับ
.
1. อาจารย์จะต้องเปลี่ยนบทบาทจากผู้สอน (Instructor) เป็นผู้อำนวยการเรียนรู้ (Facilitator)
.
ผมมองว่า ความรู้มันมีอยู่เต็มไปหมดแล้ว ใน Youtube ใน Google ถ้าอาจารย์ยังมีบทบาท เพียงแค่อ่านตำราแล้วมาเล่าให้นิสิตนักศึกษาฟัง ผมคิดว่า Value ของอาจารย์จะมีไม่มากนัก แต่ความจำเป็นที่ยังต้องมีอาจารย์คือ หากให้ผู้เรียนไปเรียนเอง บางทีเขาไม่รู้หรอกว่า จะไปดู Clip ไหนดี ไปอ่านบทความใน Website ไหนดี
.
.
อาจารย์ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญ ยังคงต้องมีบทบาทชี้แนะได้ว่า อยากทำอาชีพนี้ เราต้องเรียนรู้เรื่องนี้ และแหล่งเรียนรู้อยู่ตรงนี้ ไปเรียนได้เอง สงสัยมาสอบถามได้ มหาวิทยาลัยอาจจะเป็นแหล่งฝึกปฏิบัติมากกว่าแหล่งการเรียนรู้ในเชิงทฤษฏี ซึ่งนักศึกษาสามารถทำได้เอง
.
.
2. คณะ หลักสูตร แบบปัจจุบันจะหายไป
.
ปัจจุบัน เรายังใช้หลักการผลิตบัณฑิต ออกมาเป็น Block อยู่ครับ (คล้าย ๆ กับการผลิตสินค้าในระบบอุตสาหกรรม) เราเชื่อว่าคนที่จะเป็นนักการตลาด ต้องเรียนแบบนี้เท่านั้น เท่านี้หน่วยกิต จึงจะเป็นนักการตลาดที่ดีได้
.
.
แต่ด้วยสภาพแวดล้อมในปัจจุบัน ลักษณะของ Mass Production มันมักจะใช้ไม่ได้แล้ว (อาจจะยังได้บางบริบทเท่านั้น) แต่มันควรก้าวเข้าไปสู่ Mass Customization แปลว่า คนออกแบบหลักสูตรอาจจะไม่ใช่อาจารย์อีกต่อ แต่เป็นผู้เรียนนั่นแหละที่จะเป็นคนเลือกเองว่า วิชาไหนเขาควรเรียน วิชาไหนเขาไม่ควรเรียน
.
.
แล้ว ถามว่า แล้วใครจะเป็นดูว่าการเรียนนี้ เหมาะสมไหม คำตอบคือ ก็ตัวผู้เรียนนี่แหละครับ เขาจะออกแบบ Transcript เองได้ และถ้าออกแบบมาไม่ดี นายจ้างเห็นแล้ว เขาก็ไม่จ้าง เท่านั้นเอง อาจารย์อาจจะยังคงออกแบบหลักสูตรมาตรฐานได้ว่า อันนี้คือสิ่งที่คนที่อยากเป็นอาชีพนี้ควรจะเรียนนะ แต่การตัดสินใจ จะอยู่ที่ผู้เรียนเองนี่แหละ
.
.
ทำแบบนี้ ไม่ต้องกลัวหลักสูตรล้าสมัย เพราะเราไม่จำเป็นต้องปรับหลักสูตร เพราะมันไม่มีหลักสูตร เราปรับแค่วิชาเรียน วิชาไหน ที่ไม่มีคนเรียน ก็ปิดไปเท่านั้น
.
.
3. การเรียนจะกลายเป็นการเรียนตลอดชีวิต
.
แต่ก่อนมหาวิทยาลัย คือสถานที่ที่ใช้สอนคนอายุประมาณ 18-22 ปี (ในระดับปริญญาตรี) หรืออาจจะมากกว่านั้นนิดหน่อย ในระดับปริญญาโทและเอก แต่ต่อไปการเรียนการสอนมันจะต้องเกิดขึ้นตลอดชีวิต
.
.
คนเรียน อาจจะมาเรียนสัก 2 ปี แล้วคิดว่า นี่แหละพอแล้ว เอา Transcript ที่เขาออกแบบเรียนเอง ไปสมัครงานดู ถ้ามีที่ทำงานรับ ก็ทำงานไปเลย
.
คราวนี้ ทำงานไปสัก 1 ปี พบว่า เอ ตรงนี้ เรายังมีความรู้ไม่พอ ต้องเรียนเพิ่มแล้ว ก็กลับมาเรียนได้
.
บางคน บอก อ้าวแล้วมหาวิทยาลัยจะจัดการได้เหรอ ก็ลองดูสถิติสิครับ ว่าตอนนี้ที่นั่งมันเกินไปตั้ง 40% ก็ตรงที่เหลือนี่แหละครับ และถ้ามหาวิทยาลัยเพิ่มบทบาทการเรียนรู้ตลอดชีวิตแบบนี้ มหาวิทยาลัยไม่ต้องกลัวหรอกครับว่าจะแย่ ด้วย Aging Society เพราะคราวนี้ มหาวิทยาลัย ไม่ได้เป็นที่สำหรับให้คนอายุแค่ 18-22 ปี มาเรียนรู้แล้ว แต่เป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิต
.
.
คำว่า “จบการศึกษา” ก็อาจจะไม่มีอีกต่อไป เพราะจริง ๆ แล้ว การศึกษามันไม่ควรมีวันจบ มันควรจะเป็นสิ่งที่อยู่กับเราไปตลอดชีวิต จริงไหมครับ
.
ถ้ามหาวิทยาลัยปรับตัวเป็นแบบนี้ ปัญหาว่าจะต้องปิดตัวคงไม่มี จะกลายเป็นว่า มีที่ไม่พอด้วยซ้ำไปครับ
.
.
4. รั้วของมหาวิทยาลัยกับรั้วที่ทำงาน อาจจะกลายเป็นรั้วเดียวกัน
.
ผมเชื่อว่าต่อไปองค์กรใหญ่ ๆ จะลุกขึ้นมาทำบทบาทของมหาวิทยาลัยแทน เราจะเห็นสิ่งที่เรียกว่า Corporate University เพิ่มมากขึ้น องค์กรเหล่านี้ ไม่จำเป็นต้องรอให้มหาวิทยาลัยมาผลิตคนให้ แต่เขาสามารถรับนักเรียนเข้ามาทำงาน และให้การศึกษาไปด้วยเลยในตัวเอง แบบนี้ เขาจะได้คนที่ตรงกับความต้องการเขาจริง ๆ
.
จะว่าไปแล้ว ปัจจุบันก็มีมหาวิทยาลัยแบบนี้แล้วนะครับ ไม่ใช่ว่าไม่มี
.
.
ถือว่าเป็นการ Review TED Talk ที่ผมเคยพูดไว้แล้วกันนะครับ เผื่อจะเป็นประโยชน์สำหรับหลาย ๆ ท่านด้วยครับ

อ่านบทความอื่น ๆ ได้ที่ www.NopadolStory.com หรือเข้าร่วมกลุ่ม Line@ ได้ที่ https://line.me/R/ti/p/%40nopadolrompho หรือฟัง Podcast Nopadol’s Story ได้ที่ https://nopadolstory.podbean.com/

Recommended Posts

No comment yet, add your voice below!


Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *