คิดได้ คิดเป็น คิดอย่างไร

วันก่อนได้มีโอกาสไปพูดในงานปฐมนิเทศนักศึกษาใหม่ของคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในหัวข้อ “คิดได้ คิดเป็น คิดอย่างไร” หรือผมใช้ภาษาอังกฤษสั้น ๆ ว่า How to Think เลยอย่างนำเอามาเล่าให้ฟังด้วยครับ

สำหรับผม จากประสบการณ์ที่ผ่านมากับการที่ผมชอบอ่านหนังสือ ผมมีข้อแนะนำเรื่องเกี่ยวกับวิธีคิด 3 ข้อดังต่อไปนี้ครับ

ข้อแรก คือวิธีการคิดที่ผมใช้คำว่า Yes I can คือเราต้องคิดก่อนว่าเราทำได้ บางคนอาจจะแย้งว่า แต่มันทำไม่ได้นี่หน่า เราจะหลอกตัวเองหรือไง มีเทคนิคสั้น ๆ ครับ คือ อย่าคิดว่า “ไม่ได้ เพราะ” ให้คิดว่า “ได้ ถ้า” ผมมักจะเปรียบเทียบกับตอนเราเป็นเด็ก เราแทบจะไม่มีข้อจำกัดในชีวิตเลย เราอยากเป็นนักบิน เราอยากเป็นดารา แต่พอเราโตมา เราก็สร้างกำแพงกั้นตัวเองไว้ ด้วยเหตุผลที่หลากหลาย เช่น เราไม่ได้มีความสามารถเรื่องนี้ เราไม่รู้เรื่องนี้ อะไรแบบนี้ ซึ่งส่วนใหญ่เหตุผลเหล่านั้น มักจะเป็นเหตุผลที่เราสามารถจัดการมันได้เกือบทั้งสิ้น

ข้อที่สองเป็นวิธีที่คิดที่ผมเรียกว่า Why Not คือ เดี๋ยวนี้คำว่า What กับ How เราสามารถหาได้จาก Google หรือจาก Website อื่น ๆ มหาศาล ประเด็นคือแล้วเราจะรู้ไปทำไม (Why) ตรงนี้ต่างหากที่หลายคนยังไปไม่ถึง การเรียนหนังสือก็เช่นกัน ถ้าเรียนแต่ What กับ How ผมว่า เปิดหนังสืออ่านเอาเองก็ได้ เราต้องค้นให้เจอว่า รู้ว่า What กับ How แล้ว เรารู้ไปทำไม แต่ถ้าเราจะเหนือไปกว่านั้น คือการหาคำตอบของคำถามที่ว่า Why Not คือ แล้ว “ทำไมไม่” อย่างนั้น อย่างนี้ล่ะ คนที่คิดระดับเปลี่ยนโลกได้ อย่าง Elon Musk Mark Zuckerberg หรือ Bill Gates ก็ถามคำถามนี้กันทั้งนั้น เพราะมันทำให้เราหลุดกรอบคิดแบบเดิม ๆ ไป เช่น Elon Musk ก็ถามว่าทำไมรถถึงต้องใช้แต่น้ำมัน ทำไมไม่ใช้ไฟฟ้ากันทั้งหมด จนเกิด Tesla มา Mark Zuckerberg ก็ถามว่า เอ คนจะติดต่อกัน ต้องใช้แต่ email เหรอ ทำไมไม่ทำ Social network ขึ้นมา หรือแม้กระทั่ง Bill Gates ซึ่งเห็นคอมพิวเตอร์เมนเฟรมเครื่องใหญ่โตมโหฬาร แล้วก็ถามว่า ทำไมเราไม่ทำเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลให้ทุกบ้านมีใช้ อะไรแบบนี้ จะเห็นว่านวัตกรรมมันเกิดขึ้นจากคำถามว่า “ทำไมไม่” แทบทั้งสิ้น

ข้อสุดท้ายของวิธีคิดของผมคือ คิดให้ใหญ่ แต่ทำให้เล็ก ๆ ก่อน คือ การตั้งเป้าหมายให้ท้าทายเป็นสิ่งดี แต่มันทำได้ยาก และสุดท้ายเราก็มักจะล้มเลิกไปเอง วิธีที่จะช่วยคือตั้งเป้าหมายให้มันเล็ก ๆ จนกระทั่งเราสามารถทำได้อย่างง่าย ๆ เช่น อย่าไปตั้งเป้าหมายว่าจะวิ่งให้ได้ 10 กิโลเมตรทุกวัน แบบนี้ เราอาจจะทำได้ไม่กี่วัน แล้วเราก็ไม่สามารถทำได้ แล้วก็เลิกไปเอง ตั้งเป้าหมายเล็ก ๆ เช่น ขอวิ่งวันละ 10 เมตร (ใช่ครับ 10 เมตร) ทุกวัน แบบนี้ ยังไงเราก็จะออกไปวิ่ง เพราะ 10 เมตรมันง่าย แต่เทคนิควิธีคิดอย่างนี้ มันช่วยทำให้เราเริ่มที่จะออกไปวิ่ง และผมเชื่อว่าพอเราออกไปวิ่งแล้ว ครบ 10 เมตร เราก็ไม่เลิกวิ่งหรอกใช่ไหมครับ สุดท้ายเราก็อาจจะทำได้ตามเป้าหมายในที่สุด และถ้าเราทำติด ๆ กัน ต่อไปการวิ่งมันก็จะกลายเป็นนิสัยของเราไป และอะไรที่เป็นนิสัย ต่อไปมันจะถูกทำโดยอัตโนมัติ

อันนี้เป็นหลักคิดที่ผมใช้มาตลอดครับ ลองนำไปปรับใช้กันดูนะครับ

อ่านบทความอื่น ๆ ได้ที่ www.NopadolStory.com หรือเข้าร่วมกลุ่ม Line@ ได้ที่ https://line.me/R/ti/p/%40nopadolrompho

Recommended Posts

No comment yet, add your voice below!


Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *