วิธีในการปฏิเสธโดยไม่ให้เสียความสัมพันธ์

ผมชอบอ่านหนังสือเกี่ยวกับพวกการจัดการเวลา และก็ได้ใช้เทคนิคหลาย ๆ อย่างในการทำงานและการดำเนินชีวิตมาตลอด เคยเขียนบทความเรื่องนี้ไว้ด้วย เรื่อง 7 เทคนิคการจัดการเวลา เผื่อใครสนใจเข้าไปอ่านได้เลยครับ

แต่ไม่ว่าจะใช้เทคนิคการจัดการเวลาอย่างไร ถ้าเรายังไม่รู้จักปฏิเสธ มีแต่ตอบรับ Yes Yes Yes อย่างเดียว สุดท้าย งานมันก็ล้น และยิ่งเป็นการทำงานในสิ่งที่เราไม่รัก มันก็ยิ่งแย่ และลงท้ายด้วยอาการ Burn Out

ดังนั้น สำหรับผม การจัดการเวลาที่ดีที่สุด คือการปฏิเสธงานที่เราไม่ชอบ ไม่อยากทำตั้งแต่แรก อันนี้แหละ work สุดครับ

แต่…

ผมรู้ครับว่า หลายคนคงคิดในใจว่า ก็ถ้าปฎิเสธได้ ก็ปฏิเสธไปแล้ว มันทำไม่ได้ไง หัวหน้าสั่งจะปฏิเสธได้เหรอ ลองไม่ทำก็โดนไล่ออกดิ…

เข้าใจครับ เข้าใจ ก็เลยมาเขียนบทความอันนี้ไง…

บอกก่อนครับว่า บทความนี้ มาจากความรู้ที่ผมได้จากการอ่านหนังสือชื่อว่า The Power of a Positive No เขียนโดย William Ury และได้เริ่มทดลองใช้กับตัวเองแล้วมัน work เลยอยากมา share ครับ

แต่แน่นอน มันคงไม่ใช่สูตรสำเร็จที่ใครก็เอาไปใช้แล้วมันสำเร็จหมดทุกกรณี ทุกครั้ง แต่การที่เรารู้ และลองใช้ มันก็ยังดีกว่าไม่ทำอะไรเลยจริงไหมครับ ถ้าใช้แล้ว สำเร็จ ก็ดีมาก ๆ เลย ประหยัดเวลาและลดความไม่สบายใจไปตั้งเยอะ ถ้าใช้แล้วไม่ work ก็เลิก แล้วค่อยหาทางใหม่ก็แค่นั้น ไม่ได้มีอะไรเสียหาย

เริ่มเลยครับ…

หนังสือเล่มนี้เขาบอกว่า การปฏิเสธหรือ Say No นั้นมันมี 3 ขั้นตอนคือ Yes – No -Yes !

อะไรนะ เราอยากจะ Say No ทำไม มันถึงมีคำว่า Yes มาตั้ง 2 ครั้ง มากกว่า No อีก…

ชักน่าสนใจแล้วใช่ป่ะครับ เดี๋ยวผมไล่ไปทีละอันเลยครับ

1. Yes ครั้งที่ 1

อันนี้คือ Yes ของตัวเราครับ หรือพูดง่าย ๆ ว่า เราต้องรู้ก่อนว่า ทำไมเราถึงต้อง Say No หาเหตุผลนั้นให้เจอ…

เพราะอะไรทราบไหมครับ เพราะการที่เราไม่กล้าปฏิเสธคำร้องขอ หรือ คำสั่งของคนอื่น มันเป็นเพราะ เรายังไม่มีเหตุผลที่มากพอไงครับ

เอ้า ผมยกตัวอย่างให้…

สมมุติว่าเจ้านายสั่งให้เราทำงานชิ้นหนึ่ง ที่เราแสนจะเบื่อ ไม่ชอบ และไม่ตอบโจทย์ชีวิตเราเลย แต่เราก็ตอบรับเสมอ ทั้ง ๆ ที่ไม่อยากทำ ถามว่า ถ้าไม่อยากทำ แล้วทำไมเราไปตอบรับล่ะ คำตอบมันก็จะประมาณว่า

“ถ้าไม่ตอบรับ ก็โดนดุสิ”
“ขืนปฏิเสธ เราก็โดนไล่ออกสิ”

หรืออะไรทำนองนี้…

สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ มันเป็นเพราะเราหา Yes ของเรายังไม่เจอ หรือถ้ามีมันก็ไม่แรงพอที่เราจะกล้าปฏิเสธไงครับ สมมุตินะครับว่า ถ้าเรารับปากจะทำงานนี้ มันจะส่งผลให้ตัวเราล้มละลายทันที (ด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม) แบบนี้ เราจะ Say Yes ไหมครับ ผมว่าเราคงตอบปฏิเสธกับหัวหน้าแน่ ๆ จริงไหม

ขั้นแรกนี้แหละครับ ที่สำคัญมาก บางที Yes ของเราอาจจะเป็นเรื่องครอบครัว เช่น “เราจะต้องใช้เวลาอยู่กับพ่อแม่ที่แก่เฒ่าขึ้นทุกวัน” “เราจะต้องใช้เวลาอยู่กับลูกเล็ก ๆ ซึ่งเป็นเวลาเดียวที่เขาต้องการเรามากที่สุด ถ้าโตขึ้น เขาก็ไปไหนต่อไหนแล้ว” หรือเป็นเรื่องสุขภาพเช่น “ถ้าเราไม่พักผ่อน สุขภาพเราแย่แน่ ๆ งานหาใหม่ได้ สุขภาพแย่แล้ว จะกลับมาดีเหมือนเดิม มันยาก” หรือเรื่องอื่น ๆ อีก

หาให้เจอให้ได้ครับ…

ขั้นตอนนี้ยังไม่จบครับ สิ่งที่สำคัญคือ เราต้องหา Plan B

Plan B มันคือแผนสำรองครับ มันเป็น Back Up plan ที่เราต้องหาทางหนีทีไล่ไว้ ในกรณีที่เรา Say No แล้ว อีกฝ่ายไม่ยอม เช่น ในกรณีของเจ้านายสั่งงานที่เราไม่ถนัด และ เราไม่อยากทำ Plan B ก็อาจจะเป็น เราอาจจะลองมอง ๆ หางานใหม่ไว้ก่อน หรือ ทำงาน Part Time ควบคู่ไปก่อนตอนนี้ เผื่อต้องเตรียมใจว่า เราอาจจะต้องถูกให้ออก หรือ ลาออก ถ้าหัวหน้าไม่ยอม

การมี Plan B นี่แหละครับ ที่จะทำให้เรากล้าที่ Say No ในขั้นที่ 2 ได้อย่างมั่นคงต่อไป

2. No

ขั้นนี้คือขั้นการปฏิเสธครับ ขั้นนี้ เราควรเริ่มจาก Yes ของเราในขั้นที่ 1 ครับ ก่อนที่จะตามด้วยคำว่า No ที่เราต้องการจะบอก และควรอธิบายถึงเหตุผลที่เราจะปฏิเสธด้วย

ยกตัวอย่างนะครับ หัวหน้าสั่งให้เราทำงานหนึ่งที่เราไม่ชอบ ไม่ถนัด และต้องกลับดึก ๆ ทุกวัน และ Yes ของเรา (ในขั้นที่ 1) คือเรื่องการใช้เวลากับลูกเล็ก ๆ (หรือเรื่องอื่น ๆ ก็ตาม) โดยเรามี Plan B ว่า ถ้าหัวหน้าไม่ยอมก็คงต้องลาออก เราอาจจะเริ่มแบบนี้ครับ

“หัวหน้าครับ ตอนนี้ผมมีลูกเล็ก ๆ ที่ผมต้องดูแล และเป็นช่วงที่สำคัญมาก ๆ กับในชีวิตของผม (Yes ของเรา) ผมจึงต้องขออนุญาตปฏิเสธงานที่หัวหน้าให้อันนี้ (No) เพราะถ้าผมรับงานนี้มา มันจะต้องกลับดึก ๆ ทุกวันแน่ ๆ เพราะงานนี้มันต้องใช้เวลามากเพื่อให้ทำให้งานมีคุณภาพที่ดี (อธิบาย No)”

การ Say No อันนี้ มีกฏว่าเราไม่ได้ชวนทะเลาะนะครับ อย่า Say No แบบตัดเยื่อไย ให้ Say No ด้วยความมั่นคงแต่เต็มไปด้วยความเคารพต่อฝ่ายตรงข้าม

ตัวอย่างคำพูดที่ปฏิเสธในลักษณะนี้ มีหลากหลายครับ เช่น

1) เมื่อมีหัวหน้ามาให้เราทำงานบางอย่าง แต่เราไม่อยากทำ เราอาจจะตอบว่า “ขอบพระคุณสำหรับโอกาสครับหัวหน้า แต่ผมคิดว่าจะต้องขอปฏิเสธ”

2) เมื่อหัวหน้าชวนดื่มเหล้า แต่เราไม่ดื่ม “ขอบคุณครับหัวหน้าที่ชวน แต่ผมเป็นคนไม่ดื่มเหล้าน่ะครับ” (คือการบอกว่าเราเป็นคนแบบนี้ แปลว่า เราไม่ได้เลือกที่จะปฏิเสธเขาคนเดียว เราปฏิเสธทุกคนแหละที่ชวน)

3) เมื่อหัวหน้าขอให้เราไปร่วมกิจกรรมบางอย่างในวันหยุด แต่เราไม่อยากไป “ขอโทษครับหัวหน้า วันหยุดนี้ผมมีนัดแล้วครับ” หรือ “เอาไว้โอกาสหน้านะครับ ผมว่างผมไปแน่ ๆ ” (อันนี้ แปลว่า เราคิดว่าเราจะไปจริง ๆ นะครับ ถ้าไม่อยากไปเลย ไม่ว่ากรณีใด อย่าใช้คำว่า เอาไว้โอกาสหน้าครับ)

4) เมื่อหัวหน้าขอให้ทำงานบางอย่าง ที่เราไม่ถนัด “ผมว่างานนี้สำคัญมาก ๆ และต้องการคนที่เชี่ยวชาญเรื่องนี้ ผมขอปฏิเสธดีกว่าครับ เพราะถ้าให้ผมทำเรื่องนี้ ผลงานคงจะไม่ดี ซึ่งผมว่าจะแย่สำหรับบริษัทครับ”

3. Yes ครั้งที่ 2

อ้าว เรา Say No ไปแล้ว ทำไมต้อง Say Yes อีก…

Yes อันนี้ ไม่ใช่ Yes ของเราในขั้นที่ 1 ครับ มันเป็น Yes ของอีกฝ่ายหนึ่ง คือ เราต้องการปฏิเสธ“โดยไม่ให้เสียความสัมพันธ์” ดังนั้นเราต้องหาทางให้เขายอมรับคำปฏิเสธเราด้วยดีด้วยครับ

แล้วจะทำอย่างไร…

ขั้นนี้ เราอาจจะต้องเสนอ Solution ให้อีกฝ่ายด้วย ยกตัวอย่างเช่น หัวหน้ามาให้เราทำงานให้ แล้วเราปฏิเสธไปตามตัวอย่างในขั้นตอนที่ 2 เราอาจจะต้องเสนอด้วยว่า แล้ว Solution ที่เราเสนอให้อีกฝ่ายคืออะไร เช่นขอยกตัวอย่างเดิมนะครับ พอหัวหน้ามาให้เราทำงานดึก ๆ บางอย่างที่เราไม่เชี่ยวชาญและไม่อยากทำ เราจึงตอบไปว่า

“หัวหน้าครับ ตอนนี้ผมมีลูกเล็ก ๆ ที่ผมต้องดูแล และเป็นช่วงที่สำคัญมาก ๆ กับในชีวิตของผม (Yes ของเรา) ผมจึงต้องขออนุญาตปฏิเสธงานที่หัวหน้าให้อันนี้ (No) เพราะถ้าผมรับงานนี้มา มันจะต้องกลับดึก ๆ ทุกวันแน่ ๆ เพราะงานนี้มันต้องใช้เวลามากเพื่อให้ทำให้งานมีคุณภาพที่ดี (อธิบาย No)”

“ผมเสนอแบบนี้ครับหัวหน้า ผมว่าคุณ A น่าจะเหมาะกับงานนี้มาก ๆ แล้วผมจะทำงานแทนคุณ A (อันนี้แปลว่า เราต้องอยากทำงานนั้นด้วยนะครับ) หรือ จะเป็นว่า ส่วนผมจะทำโครงการ B ที่หัวหน้ามอบหมายให้สำเร็จอย่างรวดเร็ว (แปลว่าเราอยากทำงานนี้นะครับ) นะครับหัวหน้า (เสนอ Solution)”

แล้วถ้าหัวหน้า ไม่ยอมล่ะ…

“ไม่ นี่คือคำสั่งผม ผมบอกให้ทำก็ต้องทำ ไม่มีต่อรอง”

เจอแบบนี้ ทำไงดี…

หนังสือเล่มนี้ก็บอกครับว่า อย่าไปทะเลาะ อย่าไปเอาชนะ เราต้องใช้ทักษะการต่อรองแล้ว…

อย่างแรกคือ อย่าเปลี่ยนใจ เอ้า เอาก็เอา ทำก็ทำ เพราะถ้าทำแบบนั้นแปลว่าการ Say No ของเราล้มเหลว และเขาแนะนำว่า อย่าพบกันครึ่งทางด้วย ผมจำได้ว่า “การพบกันครึ่งทาง” หลาย ๆ ครั้ง แปลว่า ไม่มีใครได้เลยสักคน เช่น งั้นผมขอเวลาสัก 2 เดือนแล้วผมจะทำ อะไรแบบนี้ เพราะถ้าเป็นแบบนี้ สุดท้ายเราก็ต้องทำ

แล้วจะเอาไง เขาไม่ยอม…

บอกเหตุผลไปครับ ย้ำเตือน Yes ของเรา และพยายามหาทางออกร่วมกัน พยายามหาเหตุผลที่แท้จริงของเขาให้เจอ ลองถามเขาดูครับ เช่น

“ในกรณีนี้ ซึ่งผมไม่สามารถทำงานนี้ได้ ผมขอเรียนถามว่าหัวหน้าจะมีข้อขัดข้องประการใดบ้างครับ ผมจะพยายามหาทางออกให้ได้มากที่สุดครับ”

“ก็มันไม่มีคนทำไง แล้วคุณจะให้ใครทำ”

“ผมเสนอคุณ A ที่เขาเชี่ยวชาญเรื่องนี้มาก ๆ ครับ (หรือข้อเสนออื่น ๆ ก็ได้ที่คิดว่าน่าจะเป็นทางออก)”

แล้วถ้าเขายังไม่ยอมอีกล่ะ…

“ผมสรุปแล้ว ไม่มีต่อรอง คุณต้องทำ”

ทางสุดท้าย (เอาไว้ท้ายสุดจริง ๆ นะครับ) คือ เราคงต้องใช้ Plan B ของเรานั่นแหละครับ แต่ตรงนี้ tone การพูดต้องระวังนะครับ เน้นว่าเราอยากรักษาความสัมพันธ์ ไม่ใช่ทะเลาะ เราต้องไม่ใช้ใน tone การขู่ แต่คงต้องบอกข้อเท็จจริงให้กับอีกฝ่ายทราบ เช่น

“หัวหน้าครับ ผมเข้าใจสถานการณ์ของหัวหน้า และเข้าใจความต้องการของหัวหน้า ผมก็อยากจะทำงานกับหัวหน้าต่อไป เพราะที่นี่เป็นที่ทำงานที่ดีจริง ๆ แต่เรื่องครอบครัวมันเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ๆ สำหรับผม (Yes ของเรา) นี่คือเหตุผลหลักที่ผมต้องปฏิเสธงานนี้ (No) ซึ่งตามที่ผมเรียนให้หัวหน้าทราบว่า ถ้าพอมีทาง หัวหน้าอาจจะให้คุณ A ทำงานนี้แทน (Yes ของหัวหน้า)

แต่ถ้ามันไม่มีทางออกจริง ๆ ผมคงต้องเลือกทางที่ผมไม่อยากเลือกเลยครับ คือผมคงต้องขออนุญาตลาออก เพราะผมไม่มีทางเลือกอื่นแล้วจริง ๆ ครับ (บอก Plan B ของเรา โดยไม่ใช้  tone การขู่ แต่เป็นการบอกข้อเท็จจริง ตรงนี้มันขึ้นกับน้ำเสียงของเราครับ) อยากขอความกรุณาหัวหน้าช่วยพิจารณาอีกครั้งครับ หัวหน้ายังไม่ต้องตัดสินใจตอนนี้ก็ได้ครับ สักสัปดาห์ผมจะขออนุญาตมาพบหัวหน้าอีกครั้งครับ ผมเคารพการตัดสินใจของหัวหน้า ไม่ว่าคำตอบจะเป็นอย่างไรครับ”

ประโยคสุดท้ายที่บอกว่า เขายังไม่ต้องตัดสินใจตอนนี้ ให้เวลาเขาสักสัปดาห์เป็นอีกเทคนิคหนึ่งครับ ที่เรียกว่า “การเดินไปยังระเบียง” คือช่วงเวลาที่มันคุยกันแบบนี้ หลายครั้ง ฝ่ายตรงข้ามยังมีอารมณ์ขุ่นมัว และถ้าเขายอมเรา บางที มันเหมือนเขาแพ้ เขาเสียหน้า การบอกว่าให้เขามีเวลาตัดสินใจ และไม่ว่าจะตัดสินใจอย่างไร เราพร้อมที่จะน้อมรับ (คือไม่ได้ทำตามนะครับ แต่น้อมรับ คือถ้าเขาไม่ยอม เราก็ลาออกเท่านั้น) แบบนี้ เขาจะรู้สึกว่า อำนาจยังอยู่กับเขา เขายอมตามเรา ก็เพราะเขาเลือกเอง ไม่ได้แพ้เรา

ถ้ามาถึงตรงนี้แล้ว ผมว่าเราทำทุกวิถีทางแล้ว โดยส่วนใหญ่ เรามักจะได้รับการตอบรับครับ แต่ถ้าเขายังไม่ยอมจริง ๆ เราก็คงต้องเดินตาม Plan B ของเรา ในตัวอย่างก็คือการลาออกนั่นเอง

เขียนมาถึงตอนนี้ ก็ไม่ได้หมายความว่า ไม่ว่าเขาให้ทำงานอะไร เราจะ Say No หมด แบบนั้น เราก็คงอยู่ในที่ทำงานนั้นไม่ได้ หรือแปลว่า เราอยู่ผิดที่แล้ว

และเน้นอีกครั้งว่า นี่ก็เป็นเพียงแค่อีกทางเลือกหนึ่ง ไม่ได้หมายความว่า ใช้แล้วจะสำเร็จทุกกรณีนะครับ แต่ลองดูไม่มีอะไรเสียหายครับ ถ้าได้ผลก็ดีเลย ถ้าไม่ได้ ก็เหมือนกับไม่ได้ลองหรอกจริงไหมครับ (หรือถ้าคิดว่าลองแล้วจะเสียหาย ก็ไม่ต้องลองก็ได้ครับ)

ส่วนตัวผมลองแล้ว ใช้แล้ว มัน work ผมได้เวลาอันมีค่ากลับมาอย่างมาก ได้ทำอะไรที่อยากทำเกือบ 100% (ยังเหลืองานที่ยังไม่อยากทำอยู่บ้าง แต่ปีนี้จะใช้เทคนิคนี้ให้หมดครับ) ผมคิดว่ามันคุ้มค่าจริง ๆ ครับ

อีกนิดนะครับ นึกขึ้นมาได้ แปลว่า เราควรปฏิเสธทุกโอกาสเหรอ…

ไม่ใช่ครับ คำถามนี้ ตอบง่าย ๆ ว่า ผมจะปฏิเสธเฉพาะสิ่งที่ไม่ได้ตอบเป้าหมายชีวิตของผมครับ บางที บางอย่างเราไม่เคยทำ เราอาจจะกลัว ไม่แน่ใจ คำถามคือควรปฏิเสธไหม ผมก็กลับมาดูว่า แล้วสิ่งนี้ตอบโจทย์ชีวิตเราไหม ถ้าตอบ ถึงไม่เคย ผมก็จะลองทำครับ ถ้าไม่ตอบ ถึงจะเคยหรือไม่เคย ผมก็จะพยายามปฏิเสธครับ

อ้อ การตอบโจทย์ชีวิตเรา ไม่ได้หมายความว่า เราเห็นแก่ตัว ทำเฉพาะสิ่งที่ดีต่อชีวิตเราเสมอไปด้วยนะครับ คือ โจทย์ชีวิตหลาย ๆ คน รวมทั้งผมด้วย มันก็ตอบโจทย์ของสังคมด้วยเช่นกัน

เอาเป็นว่า หวังว่า บทความนี้จะเป็นประโยชน์และช่วยเปลี่ยนชีวิตหลาย ๆ ท่านในทิศทางที่ดีขึ้นแล้วกันครับ

อ่านบทความอื่น ๆ ได้ที่ www.NopadolStory.com หรือเข้าร่วมกลุ่ม Line@ ได้ที่ https://line.me/R/ti/p/%40nopadolrompho หรือฟัง Podcast Nopadol’s Story ได้ที่ https://nopadolstory.podbean.com/

 

Recommended Posts

No comment yet, add your voice below!


Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *