9 วิธีจัดการหนังสือที่ดองไว้

จากประสบการณ์ส่วนตัวซึ่งเป็นคนที่ชอบอ่านหนังสือมาก ๆ แต่ด้วยความที่ชอบอ่านหนังสือ ก็จึงเป็นคนที่ชอบซื้อหนังสือมากเช่นกัน ปัญหาคือ อัตราการซื้อเข้า มันมากกว่าอัตราการอ่านให้จบ ก็เลยมีหนังสือที่ “ดอง” ไว้เป็นจำนวนมาก

ผมเชื่อว่าหลาย ๆ คนก็มีอาการแบบเดียวกัน หรืออาจจะแย่กว่าด้วยซ้ำ เพราะซื้อมา แล้วแทบจะไม่ได้อ่าน แต่พอมีงานสัปดาห์หนังสือ หรือไปเดินร้านหนังสือก็อดไม่ได้ จัดมาอีก มันก็เลยสะสมเป็นจำนวนมาก

ผมเลยขอนำเอาวิธีในการจัดการหนังสือที่เรา “ดอง” เอาไว้ ส่วนตัวใช้แล้วได้ผลดีครับ มีหลักง่าย ๆ 9 วิธีดังต่อไปนี้ครับ

1. ลดการซื้อหนังสือใหม่ ๆ ลง

อันนี้ผมว่าเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุครับ คือถ้าเรายังคงไปซื้อหนังสือมาเรื่อย ๆ เราไม่มีวันกำจัดหนังสือที่เราซื้อมาแล้วยังไม่ได้อ่านหมดไปแน่ ๆ เพราะโดยธรรมชาติการซื้อมันง่ายและเร็วกว่าการอ่านมากมายนัก พยายามตั้งกฎแบบนี้ครับ จะซื้อเล่มใหม่ได้ เล่มเก่าต้องอ่านให้เสร็จออกไปก่อน เช่น จะซื้อเล่มใหม่อีกเล่ม ต้องอ่านเล่มเก่าจบก่อน 2 เล่ม แบบนี้มันจะช่วยให้เรายับยั้งชั่งใจได้ แต่ถ้าเราเจอหนังสือที่ชอบมากจริง ๆ แล้วอยากอ่านมาก ๆ ก็อนุญาตให้ซื้อได้ แต่คิดว่าเราติดหนี้อยู่ เช่น เรายังอ่านเล่มเดิมไม่จบเลย แต่อยากอ่านอีกเล่มมาก ๆ ก็ซื้อมาครับ แต่คราวนี้ เราต้องอ่านอีก 3 เล่มให้จบนะ ถึงจะซื้อเล่มใหม่ได้อีกเล่ม (เพราะตอนนี้เราดันไปซื้อมาดองเพิ่มอีกเล่มแล้ว) แบบนี้เป็นต้นครับ

2. ไปดูที่กองหนังสือแล้วจัดการเล่มที่เราไม่ได้อยากอ่านจริง ๆ ซะ

เวลาเรามีค่าครับ บางทีเราต้องยอมรับว่า เรื่องบางเรื่อง ที่แต่ก่อนเราสนใจมาก ๆ เราอาจจะไม่ได้สนใจอีกต่อไปแล้ว หรือ บางครั้งเราอาจจะซื้อมา ตอนที่ไม่มีอะไรทำ แต่ตอนนี้ถามว่าอยากอ่านไหม ก็ไม่แล้ว แบบนี้ ผมเสนอแนะให้เรา “จัดการ” หนังสือเล่มนี้ซะ

ตามธรรมชาติของคนเรา เรามักจะมีอาการที่เรียกว่า Sunk Cost Fallacy ครับ คือเรา “เสียดาย” เงินที่จ่ายไปแล้ว เลยวางหนังสือเหล่านี้กองไว้เฉย ๆ เอาใหม่ครับ คิดใหม่ คิดว่าเงินนั้นจ่ายไปแล้ว ไม่ว่าเราจะทำอะไรต่อไปในอนาคต เราก็ไม่สามารถย้อนเวลากลับไปแก้ไขการจ่ายเงินซื้อหนังสือของเราไปได้ ดังนั้นการตัดสินใจว่าจะทำอะไรในอนาคต จึงไม่จำเป็นต้องเอาอดีตมาเกี่ยวข้อง คิดแบบนี้ครับ จ่ายเงินไปแล้ว ไม่ว่าจะอ่านเล่มนี้ต่อ หรือไม่อ่าน ก็จ่ายเท่ากัน ดังนั้นถามตัวเองดี ๆ ว่า ถ้าอ่านแล้วได้ประโยชน์หรือมีความสุขก็อ่านต่อ ถ้าอ่านแล้วเสียเวลา ไม่ค่อยได้ประโยชน์ก็อย่าอ่าน

สำหรับคนที่เสียดายว่า แหม แต่หนังสือดี ๆ จะทิ้งไปก็เสียดาย เราไม่ต้องทิ้งครับ นำไปบริจาค นำไปให้เพื่อน ๆ ที่อยากอ่าน หรือนำไปขายก็ยังได้ จะเอาเงินมาเก็บไว้ หรือ เอาเงินไปบริจาคตามสะดวกได้เลย หรือเสียดายมาก ๆ ประกาศให้เพื่อนยืมอ่านก็ยังดี เราจะได้รู้สึกดีว่า อย่างน้อยมันก็ยังได้ทำประโยชน์กับคนอื่น

ทำแบบนี้ เชื่อว่ากองหนังสือที่เราดองไว้ คงลดลงไม่มากก็น้อย work มาก ๆ ครับ เชื่อผม

3. เลือกหนังสือที่อยากอ่านมากที่สุด หรือเล่มบางที่สุด มาอ่านก่อน

คือปัญหาของการดองหนังสือ คือ เราไม่เริ่มอ่านครับ วิธีเอาชนะอุปสรรคตรงนี้คือเราต้องลดอุปสรรคให้มากที่สุด เช่น เริ่มอ่านเล่มที่อยากอ่านมากที่สุด อย่างนี้ เราอยากจะเริ่มอ่าน และอ่านแล้ว เราก็อยากกลับไปอ่านอีก หรือ ถ้ารู้สึกเหมือน ๆ กันในแต่ละเล่ม ไม่มีเล่มไหนชอบมากกว่ากัน ผมแนะนำ เลือกเล่มบางสุด ๆ ที่แบบอ่านแล้วจบเร็ว ๆ เพราะถ้าเราเริ่มได้ และอ่านจนจบ เราจะมีกำลังใจในการอ่านต่อไปครับ

4. กำหนดเวลาอ่านให้ชัดเจน

คนส่วนใหญ่อยากจะอ่านหนังสือ แต่ไม่ได้อ่านสักที เพราะอะไรรู้ไหมครับ เพราะเราไม่เคยกำหนดเวลาไว้ชัดเจน ลองถามตัวเองสิครับ ว่าเวลาเรายุ่ง แต่พอถึงเที่ยง เรามักจะหยุดแล้วออกไปกินข้าว ทั้ง ๆ ที่บางทีเราก็ไม่ได้หิว แต่มันเป็น “เวลากินข้าว” เอาแบบเดียวกันครับ กำหนดเวลาไว้เลยครับว่านี้คือเวลาอ่านหนังสือ ใส่เข้าไปในตารางใน Smart Phone เลยก็ได้ เลือกเวลาที่เหมาะสมที่สุดสำหรับเรา สำหรับผมส่วนใหญ่ผมกำหนดไว้ช่วงก่อนเข้านอนครับ หรือจะใช้เทคนิคที่เรียกว่า Habit Stacking ก็ได้ครับ คือ กำหนดว่าหลังจากที่เราทำอะไรที่ทำเป็นประจำแล้ว เราจะอ่านหนังสือ เช่น หลังจากแปรงฟันก่อนเข้านอนแล้ว เราจะอ่านหนังสือเป็นเวลา 30 นาทีครับ

ผมขอแค่วันละ 30 นาทีก็พอครับ ปกติก็แล้วแต่ความเร็วในการอ่านของแต่ละคน สำหรับผมอ่านหนังสือเฉลี่ย 1 หน้า 1 นาที ดังนั้นวันละ 30 หน้า จึงเป็นไปได้ หนังสือเล่มหนึ่ง 240 หน้า ทำแบบนี้ 8 วันก็จบเล่มแล้วครับ

5. โยงการอ่านหน้งสือเข้ากับกิจกรรมที่เราชอบทำ

คือถ้าเราชอบอ่านหนังสืออยู่แล้ว ก็ข้ามเทคนิคนี้ไปได้ครับ แต่ถ้าเรายังไม่ได้มีนิสัยรักการอ่าน อันนี้จะช่วยสร้างแรงดึงดูดในการอ่านเป็นอย่างดีครับ เช่น สมมุติเราชอบเล่น Facebook ให้คิดแบบนี้ครับ เดี๋ยวอ่านครบ 30 นาที เราจะได้ไปเล่น Facebook ทำแบบนี้ไปเรื่อย ๆ ต่อไปเราจะรักการอ่านหรือกับรักการเล่น Facebook เลยครับ

6. พยายามทำให้การอ่านเป็นสิ่งที่ง่าย

เตรียมหนังสือที่เราจะอ่านไว้ให้พร้อมครับ ไม่ใช่พอจะอ่าน ต้องเดินไปหา อย่างนี้มันจะยาก วางไว้ในที่ที่เราอ่านเป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นบนโต๊ะทำงาน หรือหัวนอน นอกจากนั้น ลองใช้ “กฏ 2 นาที” ดูครับ คือ ลองคิดไว้ว่า วันนี้จะลองอ่านสัก 2 นาที ผมเชื่อว่าถึงเราจะเหนื่อยอย่างไร 2 นาทีเราคงทำได้ แต่ในความเป็นจริง เราอ่านเกินอยู่แล้วล่ะครับ การคิดในตอนแรกว่า ขอสัก 2 นาทีก่อน แล้วค่อยตัดสินใจอีกที มันเป็นเทคนิคการลดแรงเสียดทานในตอนแรกลงครับ (อย่าสับสนกับตอนแรกที่ผมบอกว่าให้อ่านวันละ 30 นาทีนะครับ อันนี้มันเป็นหลักคิด ตอนที่เราไม่อยากจะหยิบหนังสือมาอ่านน่ะครับ เชื่อสิครับ พอหยิบมาแล้วเดี๋ยวมันอ่านได้เองแหละครับ 3o นาทีน่ะไม่ยากเกินไปครับ)

7. วัดค่าสถิติในการอ่าน

การวัดผลจะมีส่วนสำคัญเป็นอย่างยิ่งที่จะทำให้เราอยากอ่านหนังสือต่อ ผมแนะนำแบบนี้ครับ หยิบหนังสือที่เราอยากจะอ่านขึ้นมา ลองอ่านสัก 2 หน้า จับเวลาดู หาเวลาเฉลี่ยต่อหน้าให้เจอ อย่างผมอ่านหน้าละ 1 นาที คราวนี้ผมก็ดูว่าหนังสือมีกี่หน้า เสร็จแล้วคำนวณเวลาที่ต้องใช้ในการอ่านหนังสือเล่มนี้ว่าสักกี่นาที เช่น หนังสือ 240 หน้า ผมจะใช้เวลา 240 นาทีในการอ่าน เขียน Post-it แปะไว้ครับ

คราวนี้เวลาเราอ่านหนังสือ เราก็แค่มาเขียน update ว่าหนังสือเล่มนี้เหลืออีกกี่หน้า ใช้เวลาอีกกี่นาที แบบนี้เชื่อไหมครับ นอกจากเราจะเห็นความก้าวหน้าแล้ว เรายังมีพลังเพิ่มในการอยากจะอ่านต่ออีกครับ ลองทำดูสิครับ มันเหมือนว่า นิด ๆ หน่อย ๆ เราก็อยากหยิบมาอ่าน เพราะอ่านที มัน update ที แต่ถ้าใครอ่าน Ebook ผ่าน Kindle อันนี้ยิ่งสะดวก เพราะเครื่องมันคำนวณให้เลยครับว่าเหลือเวลาอีกกี่นาที เราไม่ต้องมานับเองครับ

8. ระหว่างอ่านให้คิดตามว่าเราจะเอาไปใช้ประโยชน์อย่างไรบ้าง

อันนี้ก็จะช่วยทำให้เราอยากอ่านครับ เช่น เวลาผมอ่านหนังสือเกี่ยวกับการเขียน ผมจะคิดเสมอว่า เดี๋ยวเราจะเอาไปเขียน Blog บางที เจอบางเทคนิคที่มันดูน่าสนใจมาก ๆ ผมถึงกับหยุดแล้วทดลองนำไปใช้เลยครับ ยิ่งตอนนี้ผมพูด Podcast เวลาผมอ่าน ผมเห็นว่ามันดี ผมจะรีบจดไว้เลยครับ เดี๋ยวจะเอาไปเล่าให้ฟังใน Podcast แบบนี้ผมว่าการอ่านมันจะสนุกกว่าเดิมมาก แป๊บเดียวจบเล่มแล้ว

บางคนอาจจะสงสัยว่า แล้ว ถ้าอ่านแล้ว คิดถึงประโยชน์ไม่ได้เลยล่ะ คือถ้าไม่มีประโยชน์ ก็ต้องถามว่าแล้วเรามีความสุขไหม ถ้าคำตอบคือก็ไม่มี เบื่อมาก อันนี้กลับไปดูข้อที่ 2 ครับ เลิกเถอะครับ เอาไปให้คนที่เขาอยากอ่านจะดีกว่าครับ แต่ส่วนตัวผมมักจะไม่ค่อยเจอนะครับ น้อยมากที่ผมซื้อมาแล้ว จะไม่มีประโยชน์หรือไม่ชอบเลย

9. หาคนอ่านด้วยกัน

ตอนเรียนหนังสืออยู่ สำหรับผม ผมพบว่า เวลาผมไปอ่านหนังสือกับเพื่อนผมอ่านได้ดีกว่าอยู่คนเดียวในแง่ของความสุขในการอ่านนะครับ ยิ่งถ้าเรามีเพื่อน ๆ มานั่งอ่านหนังสืออ่านเล่นด้วยกัน หยุดคุยกันบ้าง แบบนี้ก็น่าจะสนุก แต่ผมเข้าใจครับว่า บางทีเราอยู่กันคนละที่ เดินทางไปเจอกันลำบาก ผมแนะนำทำคล้าย ๆ Virtual Book Club ก็ได้ครับ ทำกลุ่มใน Facebook แล้วมา update ความก้าวหน้าในการอ่านหนังสือกัน แบบนี้ผมเชื่อว่าเราจะมีพลังใจในการอ่านเพิ่มขึ้นครับ

ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ด้วยเทคนิค 9 ข้อนี้ จะทำให้เราสามารถ clear หนังสือที่เราดองไว้ได้ไม่มากก็น้อยครับ ลองทำกันดูนะครับ ขอให้ทุกคนมีความสุขในการอ่านครับ

อ่านบทความอื่น ๆ ได้ที่ www.NopadolStory.com หรือเข้าร่วมกลุ่ม Line@ ได้ที่ https://line.me/R/ti/p/%40nopadolrompho หรือฟัง Podcast Nopadol’s Story ได้ที่ https://nopadolstory.podbean.com/

Recommended Posts

4 Comments

  1. If you are going for most excellent contents like myself, only go
    to see this web site everyday because it presents quality contents, thanks


Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *