7 วิธีในการเลือกหนังสืออ่าน

ผมเชื่อว่าหลายคนอาจจะมีปัญหา ไม่ใช่แค่ว่าไม่มีเวลาอ่านหนังสือ แต่ไม่รู้จะอ่านอะไรดี หรือที่หนักกว่านั้นคือซื้อมาเยอะเลย แต่ไม่ได้อ่าน ตามศัพท์เรียกว่า ซื้อมาดอง 555 เอางี้แล้วกันครับ จริง ๆ ผมก็เป็นคนชอบอ่านหนังสือ แต่ที่คิดว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญก็น่าจะเป็นการซื้อหนังสือนี่แหละ คือซื้อซะจนคิดว่า เอ จริง ๆ เราเป็นคนชอบอ่าน หรือ คนชอบซื้อหนังสือกันแน่นะ 555

เลยกลับมานั่งคิดตกผลึกเองครับว่า ผมใช้เกณฑ์อะไรในการเลือกซื้อหนังสือ เผื่อท่านอื่น ๆ จะได้ลองนำเกณฑ์นี้ไปค้นหาหนังสือในดวงใจของตัวเองด้วย ต้องบอกว่า ถ้าผมใช้เกณฑ์นี้ในการเลือกซื้อหนังสือ ผมมักจะไม่ค่อยผิดหวัง แถมถ้ามันมีเล่มใดเล่มหนึ่งที่ผ่านเกณฑ์นี้ทุกข้อ ต้องบอกว่า มักจะเป็นหนังสือที่ผมชอบมาก ๆ และใช้เวลาอ่านไม่นานเลยครับ

เอาล่ะครับ มาเริ่มกันเลยนะครับ

1. เป็นหนังสือที่เป็นหัวข้อที่เราชอบ

ผมว่าข้อนี้ตรงไปตรงมามาก คือถ้าเราอ่านในสิ่งที่เราชอบ เราจะอ่านได้เร็ว และอยากอ่านตลอดเวลา ผมว่าแต่ละคนชอบไม่เหมือนกัน บางคนชอบกีฬา บางคนชอบการทำอาหาร บางคนชอบเรื่องหุ้น บางคนชอบเรื่องทำธุรกิจ เลือกเรื่องที่เราชอบที่สุดครับ หรือแม้กระทั่งนิยายก็ได้ ซื้อหนังสือเล่มนั้นมา เรามักจะไม่ผิดหวังครับ

2. เป็นหนังสือที่เราสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ทันที

คือนอกจากชอบแล้ว บางทีเราอาจจะต้องการความรู้ โดยเฉพาะความรู้ที่เราสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ทันที เช่น ถ้าผมกำลังทำ Startup ผมอยากจะเพิ่มจำนวนลูกค้า ผมก็อาจจะไปหาซื้อหนังสือเทคนิคการเพิ่มจำนวนลูกค้าอย่างรวดเร็ว อะไรแบบนี้ เพราะพออ่านไป มันเอาไปทดลองใช้ได้เลย ยิ่งอ่าน แล้วยิ่งใช้ได้เลย มันจะยิ่งอยากอ่าน แต่ถ้าเป็นหนังสือที่อ่านไว้เพื่อความรู้ แต่ยังไม่รู้ว่าจะได้ใช้เมื่อไร อะไรแบบนี้ มันอาจจะทำให้เราไม่ค่อยอยากอ่านสักเท่าไรครับ

3. เป็นหนังสือ Best Seller

ผมไม่ได้ห้ามอ่านหนังสือที่ไม่ได้เป็น Best Seller นะครับ แต่ข้อนี้ที่แนะนำคือ หากท่านนึกไม่ออกจริง ๆ ว่า อ่านอะไรดีนะ ผมอยากให้เริ่มจากหนังสือ Best Seller ก่อน เพราะมันเป็นการพิสูจน์แล้วระดับหนึ่งว่า เป็นหนังสือที่คนทั่วไปสนใจมาก ๆ และส่วนใหญ่ผมมักจะไม่พลาดครับ คือหาได้น้อยครั้งมาก ที่เป็นหนังสือ Best Seller แต่อ่านแล้วรู้สึกว่า ไม่ดีเลย อะไรแบบนี้ ยิ่งถ้าผ่านข้อที่ 1 และ 2 มาด้วยแล้ว แถมเป็น Best Seller อีกต่างหาก แบบนี้ โอกาสพลาดยิ่งน้อยครับ

4. เป็นหนังสือที่เขียนโดยนักเขียนที่เราชื่นชอบ

อันนี้ก็เช่นกันครับ ถ้าท่านเคยอ่านหนังสือของใครแล้วชอบ ให้จำชื่อนักเขียนท่านนั้นไว้ พอท่านนั้นออกหนังสือใหม่ออกมา บอกได้เลยว่า ซื้อเล่มใหม่ไป ก็ไม่ค่อยพลาดหรอกครับ เพราะถ้าเขียนโดยคนเดียวกัน ส่วนใหญ่ก็จะสไตล์คล้าย ๆ เดิม เนื้อหาจะมาในหัวข้อที่ใกล้เคียงหรือต่อเนื่องกัน ซึ่งคงเป็นสิ่งที่เราชอบอยู่แล้ว อย่างผม ถ้า Professor Dan Ariely Professor Jonah Berger หรือ Malcolm Gladwell เขียน เรียกว่า แทบจะหยิบซื้อมาอ่านได้ โดยไม่ต้องดูสารบัญเลยด้วยซ้ำ (แต่จริง ๆ ก็ดูนะครับ 555)

5. เป็นหนังสือที่คนที่เราชื่นชอบอ่าน

อันนี้ก็เป็นอีกอันที่ผมมักจะใช้ครับ เดี๋ยวนี้มีคนทำ List แบบนี้มากมาย ประเภทหนังสือ 10 เล่มที่ Bill Gates อ่าน อะไรแบบนี้ ผมก็ไม่ได้อ่านตามเขาทั้งหมดหรอกครับ แต่มันได้ความคิดดีว่า เอ นี่ขนาดบิล เกตต์ยังแนะนำเลยนะ มันน่าจะมีอะไรดี ๆ ซ่อนอยู่ จริง ๆ ไม่จำเป็นต้องเป็น Bill Gates หรอกครับ เป็นใครก็ได้แม้กระทั่งเพื่อน ๆ เรา ผมจึงมักจะเข้าไปอยู่ในกลุ่มนักอ่านไงครับ เช่น Website ที่ชื่อ Goodreads เขาจะมา share กันว่าใครอ่านอะไรกันอยู่บ้าง ใครอยากทราบว่าผมอ่านหนังสือภาษาอังกฤษเล่มไหนบ้าง มาดูใน รายชื่อหนังสือที่ผมอ่าน ได้ครับ หรือจะมาเป็นเพื่อนกันที่ Goodreads ก็ยินดีครับ

6. เป็นหนังสือที่อ่านง่าย

ข้อนี้ต้องอธิบายแบบนี้ครับ คำว่า “ง่าย” ของแต่ละคนอาจจะแตกต่างกันออกไป ที่กำลังอยากจะสื่อสารคือ หนังสือที่เราจะซื้อมาต้องใกล้เคียงกับระดับความรู้ความสามารถของเราครับ เช่น ถ้าผมเพิ่งสนใจเล่นหุ้น แต่ผมไปซื้อหนังสือที่มันเป็น Advanced Finance มา มีแต่สมการอะไรก็ไม่รู้เต็มไปหมด แบบนี้โอกาสที่ผมจะอ่านไม่รู้เรื่องจะมีสูงมาก และพออ่านสักพัก แล้วมันไม่รู้เรื่อง ผมก็มีแนวโน้มที่จะเลิกอ่าน แต่ถ้าคนอ่านเป็น Professor ทางด้าน Finance หนังสือเล่มเดียวกันนั้น เขาอาจจะอ่านได้อย่างเพลิดเพลินก็ได้ ก็พยายามเลือกหนังสือที่เหมาะกับความรู้ความสามารถของเรา ณ ขณะนั้นก่อน แต่ไม่ใช่ต้องไปเลือกที่ง่ายแบบ เราก็รู้หมดแล้วมาอ่านนะครับ อย่างนั้นเราอาจจะไม่ค่อยได้อะไรจากหนังสือเล่มนั้นสักเท่าไร เอาชนิดที่มันเกินสิ่งที่เรารู้ไป แต่อย่าให้มากเกินไปครับ

7. เป็นหนังสือปกแข็งหรือหนังสือที่มีตัวอักษรโต ๆ

อะไรกันเนี่ย ข้อนี้เกี่ยวอะไร อันนี้ถือว่าเป็นคำแนะนำอีกอันหนึ่ง สำหรับคนที่เริ่มมีอายุ (พูดง่าย ๆ ว่าแก่ 555) ก็แล้วกันนะครับ ใครยังหนุ่มยังสาว ข้ามไปก็ได้ อันนี้ใช้ได้กับหนังสือภาษาอังกฤษซะเป็นส่วนใหญ่ครับ สังเกตไหมครับ หนังสือภาษาอังกฤษ มักจะมี 2 versions คือปกแข็งกับปกอ่อน แน่นอนปกแข็งจะมีราคาแพงกว่า แต่ที่มันแตกต่างคือขนาดตัวอักษรครับ หนังสือปกแข็งมักจะมีขนาดเล่มที่ใหญ่กว่า และเวลาอ่านมันจะอ่านง่ายกว่า หรือถ้าเป็นหนังสือไทย ถ้ามีแบบตัวอักษรโต ๆ หน่อยก็จะดีครับ ก็อย่างที่บอกครับ พออายุเยอะเข้า อ่านอะไรที่มันตัวเล็ก ๆ ยิบ ๆ อ่านแล้วเหนื่อย นี่ผมเพิ่งต้องไปตัดแว่นมาสำหรับอ่านหนังสือโดยเฉพาะเลย แต่ข้อนี้ ถ้าใครไม่มีปัญหาอย่างที่บอกก็ไม่ว่ากันครับ (ให้ Credit ด้วยครับ ข้อนี้ได้มาจากคำแนะนำของคุณรวิศ หาญอุตสาหะ เจ้าของศรีจันทร์ เขียนไว้ใน Page Mission to the Moon ถ้าผมจำไม่ผิด)

ก็ฝากไว้แล้วกันครับ ท่านอาจจะให้คะแนน 1-5 ในแต่ละข้อก็ได้ครับ โดย 1 คือน้อยสุดในเรื่องนั้น ๆ และ 5 คือมากสุดในเรื่องนั้น ๆ แล้วลองรวมคะแนนดู (คะแนนเต็มคือ 35 เพราะมีอยู่ 7 ข้อ) สำหรับผม ถ้าได้เกิน 20 ผมก็ซื้อแล้วล่ะครับ จริง ๆ บางข้ออาจจะสำคัญมากกว่าข้ออื่น ๆ เช่น สำหรับผมข้อที่ 1 กับ 2 ถ้าผ่านเกณฑ์ ส่วนใหญ่ก็มักจะไม่พลาดแล้วล่ะครับ

ลองดูนะครับ เผื่อเอาไปใช้ในการเลือกซื้อหนังสือครั้งต่อไปของท่าน ที่จะทำให้การ “ดอง” หนังสือ คือซื้อมาแล้ว ไม่ได้อ่านอาจจะลดลงได้ครับ

อ่านบทความอื่น ๆ ได้ที่ www.NopadolStory.com หรือเข้าร่วมกลุ่ม Line@ ได้ที่ https://line.me/R/ti/p/%40nopadolrompho หรือฟัง Podcast Nopadol’s Story ได้ที่ https://nopadolstory.podbean.com/

Recommended Posts

No comment yet, add your voice below!


Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *