จริง ๆ ไม่ได้จำกัดสำหรับเด็กจบใหม่เท่านั้นหรอกครับ ปัจจัยพวกนี้สำคัญต่อความสำเร็จของคนจำนวนมากอยู่แล้ว เพียงแต่ว่ายิ่งเรารู้เร็วเท่าไร โอกาสที่เราจะประสบความสำเร็จได้เร็วขึ้นก็จะมีมากเท่านั้น
ผมอ่านหนังสือชื่อว่า Grit ที่เขียนโดยอาจารย์ Angela Duckworth จากมหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา เขาพบกว่าสิ่งที่แยกแยะระหว่างคนที่ประสบความสำเร็จกับคนที่ล้มเหลวคือ Grit ซึ่งแปลเป็นไทยแปลว่าความทรหด
คำว่า “ทรหด” ไม่ได้แปลว่า ถึก บึกบึน ทำงานหามรุ่งหามค่ำไม่เหน็ดเหนื่อย อย่างที่เราเข้าใจกันนะครับ แต่คำว่าทรหดสะท้อนในการทำอะไรที่เรารักแบบสู้ไม่ถอยแบบนั้นมากกว่า
ในหนังสือเขาบอกว่าถ้าเรามีความลุ่มหลงในสิ่งที่เราทำแล้วเรามีความอุตสาหะไม่ล้มเลิกง่าย ๆ เราก็จะมี Grit หรือความทรหดนี้ และถ้าเรามีความทรหด ทำอะไรก็จะประสบความสำเร็จ และไม่ได้เป็นคำกล่าวลอย ๆ นะครับ ในอาจารย์ผู้เขียนเขาทำวิจัยและนำไปทดสอบกับหลายสถานการณ์แล้วพบว่าใช้แยกแยะระหว่างคนที่สำเร็จและล้มเหลวได้จริง
คราวนี้ ความทรหดไม่ใช่ยีนติดตัวมาตั้งแต่เกิด ทำอะไรไม่ได้ แต่เราสามารถสร้างมันได้ โดยกับปรับองค์ประกอบ 4 ประการ ซึ่งผมว่าสำหรับเด็กจบใหม่เป็นโอกาสที่ดีเลยล่ะครับที่เราจะได้เริ่มการทำงานโดยคำนึงถึงปัจจัยเหล่านี้
ประการแรกคือ ความสนใจ แปลความหมายง่าย ๆ ว่า ถ้าเราสามารถเลือกงานที่เราสนใจอยากทำได้ ให้เราเลือกทำสิ่งนั้น
เด็กจบใหม่บางคนเลือกเพียงเพราะว่าเงินเดือนมากกว่าเท่านั้น บางทีต่างกันไม่กี่พันบาท แต่ยอมเลือกไปทำในสิ่งที่ตัวเองไม่ถนัดไม่ชอบ จะบอกว่าถ้าเราทำในสิ่งที่เราชอบ เราถนัด เราก็จะสร้างคุณค่าให้กับองค์กรได้เยอะ ผลการปฏิบัติงานก็จะดีขึ้น แล้วสุดท้ายเงินเดือนหรือรายได้มันก็จะเพิ่มสูงขึ้นเอง
กลับกันถ้าเราไปเลือกงานที่เราไม่ชอบ แต่เงินดีกว่า ทำไปมันก็ฝืน สุดท้ายผลงานก็ไม่ดี แถมอาจจะเสียสุขภาพจิตอีกต่างหาก แบบนี้ยิ่งทำก็ยิ่งไม่ก้าวหน้า อยู่กับที่นี่แหละ โอกาสที่จะสำเร็จก็มีน้อย
ประการถัดมาคือ การฝึกฝน คือถ้าเราอยากจะสำเร็จ เราทำสิ่งที่ชอบอย่างเดียว แต่ไม่พัฒนาตัวเอง เราก็ย่ำอยู่กับที่ แล้วอย่างที่ทุกคนรู้ คือโลกเปลี่ยนแปลงไปเร็วมากขึ้นเรื่อย ๆ คนที่ไม่พัฒนาตัวเอง ต่อไปก็ไม่เป็นที่ต้องการขององค์กร
ดังนั้นหากเราอยากจะประสบความสำเร็จ เราต้องฝึกฝีมือตลอดเวลา เดี๋ยวนี้ช่องทางการฝึกฝนมีเยอะแยะ ทั้งแบบจ่ายเงินหรือไม่จ่ายเงิน เรียกว่ามีให้เลือกไม่หวาดไม่ไหว ลองตั้งใจฝึกฝนกันครับ ยิ่งถ้าเป็นสิ่งที่เราสนใจอยู่แล้ว ตรงนี้ก็ยิ่งไม่ยากที่จะทำ
ประการที่สามคือหาจุดมุ่งหมายให้เจอ คือพูดง่าย ๆ ว่าเราต้องรู้ว่าเราทำงานนี้ไปเพื่ออะไร เอาแบบแคบ ๆ ก่อน คือเพื่อตัวเอง เราอยากสำเร็จ เราอยากรวย ก็ไม่ผิด แต่ถ้าจุดมุ่งหมายเราใหญ่ขึ้นมากกว่าตัวเราเอง พลังเราจะมากขึ้นตาม เช่น เราอยากให้คุณพ่อคุณแม่มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เราอยากให้ลูกเรามีความสุข หรือถ้าใครมีจุดมุ่งหมายที่ยิ่งใหญ่ไปกว่านั้น เช่น อยากช่วยเหลือคนยากจน คนด้อยโอกาส อะไรแบบนี้ พลังเราก็จะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ
ลองดูสินค้าหรือบริการขององค์กรที่เราทำงานอยู่กันครับว่า สิ่งเหล่านั้นมีส่วนช่วยเหลือทำให้ใครมีชีวิตดีขึ้นได้อย่างไร อันนี้ก็เป็นอีกทางที่จะทำให้เรามีไฟอยากทำงานนั้นต่อไป และก็จะทำให้เราประสบความสำเร็จในสิ่งนั้นได้ง่ายขึ้น
ประการสุดท้ายคือความหวังครับ คือไม่ว่าเราจะทำอะไรก็ตาม มันจะมีบางช่วง บางเวลาที่เรารู้สึกท้อ รู้สึกว่าสิ่งที่เราทำมันไม่ไปไหนสักที มันล้มเหลว หลายคนก็จะเลิกล้มไปพอถึงขั้นตอนนี้ ถ้าเราดูดีแล้วว่าเรื่องนี้คือสิ่งที่เราสนใจ เราฝึกฝนตัวเองตลอด เรารู้จุดมุ่งหมายว่าทำไปทำไม ให้เรายังคงความหวังเราไว้ครับว่า วันนี้อาจจะยังไม่ใช่วันของเรา แต่วันของเราจะมาถึงแน่นอน
อย่างที่บอกว่าหลักการนี้ไม่ได้ใช้ได้เฉพาะเด็กจบใหม่เท่านั้น คนทำงานอยู่ในปัจจุบันก็นำไปใช้ได้ แต่สำหรับเด็กจบใหม่นั้น โอกาสหลายอย่างยังเปิดกว้างอยู่ ขอให้ใช้โอกาสนั้นอย่างเต็มที่ และลองเอาข้อคิดเหล่านี้ไปปรับใช้กันดูนะครับ
ขอให้ทุกท่านประสบความสำเร็จครับ
ติดตามผลงานอื่น ๆ ได้ทาง Page Nopadol’s Story หรือ Nopadol’s Story Podcast ใน Podbean Soundcloud Apple Podcast Spotify YouTube หรือ Blockdit
No comment yet, add your voice below!