ระยะหลัง ๆ มานี้ ผมเริ่มจะเห็นบทความต่าง ๆ ที่ออกมาเตือนว่า มหาวิทยาลัยกำลังจะแย่ อาจารย์มหาวิทยาลัยกำลังจะตกงานจำนวนมาก จริง ๆ ส่วนตัวก็รู้สึกเห็นด้วยในหลาย ๆ ประเด็นนะครับ ไม่ว่าเรื่องของจำนวนเด็กที่น้อยลง จนกระทั่งว่ากันว่า (และคาดว่าน่าจะเป็นจริง) จำนวนนักเรียนที่เรียนอยู่ในระบบตอนนี้มีมากกว่าจำนวนที่ที่มหาวิทยาลัยสามารถรองรับนักศึกษาได้ซะอีก เรียกง่าย ๆ ว่า ถ้ามองทั้งระบบ Supply มันมากกว่า Demand แล้ว
และส่วนตัวก็เห็นว่า จำนวนนักศึกษาที่เข้ามาสมัครเรียนก็เริ่มน้อยลงเรื่อย ๆ เมื่อเทียบกับอดีต ในขณะที่มหาวิทยาลัยก็ยังเปิดโครงการต่าง ๆ เพิ่มขึ้นอีกต่างหาก แบบนี้ก็น่าจะเป็นกังวลแหละครับว่า ในอนาคต มันต้องมีมหาวิทยาลัยที่ต้องทยอยปิดตัวกันไปเรื่อย ๆ และนอกจากนี้ มันก็ยังมีกระแสว่า การเรียนในมหาวิทยาลัยมันไม่สำคัญหรอก ดูอย่าง Bill Gates Mark Zuckerberg หรือแม้กระทั่ง Steve Jobs สิ ไม่เห็นต้องเรียนเลย ยังเป็นเศรษฐีพันล้าน หมื่นล้าน อย่างนี้เราจะเรียนกันทำไม
จากกระแสต่าง ๆ เหล่านี้ ส่วนตัวผมมีความเห็นอย่างนี้ครับ ใช่ครับ ดูเหมือนว่า ความสำคัญของการเรียนในมหาวิทยาลัยมันเริ่มจะลดลง นักเรียนมีโอกาสเข้าเรียนได้มากขึ้น เพราะมีโครงการเปิดมาอย่างมากมาย แต่การเรียนในระดับนี้จะสูญพันธุ์ไปทันทีทันใดหรือเปล่า ผมคิดว่าคงยังไม่หรอกครับ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบทของคนไทย การเรียนในระดับมหาวิทยาลัยก็ยังมีความสำคัญพอสมควรทีเดียว เอาง่าย ๆ สำหรับคนที่ยังมีลูกในวัยเรียน ถามว่า จะมีสักกี่คนที่จะทำใจได้ถ้าลูกมาบอกว่า “พ่อครับ แม่ครับ ผมไม่เรียนต่อมหาวิทยาลัยแล้วนะครับ” หรือจะมีนายจ้างสักกี่ราย ที่จะยอมรับคนที่ไม่ได้จบมหาวิทยาลัยเข้าทำงาน เพียงเพราะเขาบอกว่า “ผมไม่ได้เรียนในมหาวิทยาลัยก็จริง แต่ผมเรียนรู้จาก YouTube มาตลอดเลยครับ” ถ้าถามผมตอนนี้ ผมว่ายังคงค่อนข้างยากอยู่นะครับ
แต่ก็ไม่ใช่ว่าการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยก็ไม่ควรปรับตัวนะครับ เพราะอย่างที่เขาบอกกัน ถ้าเราไม่ปรับ เราก็จะถูกปรับเอง ผมมองว่าในอนาคตมหาวิทยาลัยก็ยังคงมีอยู่ แต่มันอาจจะมีอะไรหลาย ๆ อย่างที่จะเปลี่ยนไปอย่างมากมาย ผมมองรูปแบบของมหาวิทยาลัยในอนาคตเป็นอย่างนี้ครับ
ประการที่ 1 คณะหรือสาขาวิชาจะหายไป คือความรู้ต่อไปมันจะต้องเชื่อมโยงกันได้อย่างสมบูรณ์ครับ แปลว่า ประเภทหลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์ หลักสูตรบริหารธุรกิจ มันอาจจะไม่มีแบบนั้นอีกต่อไป ผู้เรียนสามารถเลือกเรียนวิชาได้ตามความถนัดอย่างสมบูรณ์ และผู้เรียนนั่นแหละครับที่จะต้องสร้างหลักสูตรของเราขึ้นมาเอง เฉพาะตัวของเรา ประมาณว่า เราเองนั่นแหละครับที่จะต้องดูว่า จบแล้วเราจะทำอะไร และอาชีพแบบนั้น มันต้องมีความรู้อะไรบ้าง ดังนั้นที่เรามาบอกว่าเราจบคณะนั้น สาขาวิชานั้น อาจจะไม่มีแล้ว มีแต่เราเคยเรียนรู้เรื่องนั้นเรื่องนี้มา และมันก็จะปรากฏใน Transcript เราแค่นั้น
แล้วถ้าถามว่า อ้าว แล้วมหาวิทยาลัยเขาจะวางแผนอย่างไร ผมว่าตรงนี้ไม่น่าจะยากครับ มันก็เหมือนการเปิด course สอนที่เราทำ ๆ กันนี่แหละครับ course ไหนที่นิยมก็เปิดเยอะหน่อย หลายรอบหน่อย course ไหนที่ความนิยมน้อยก็เปิดน้อยครั้งหน่อย และแต่ละ course มันก็ใช้ทรัพยากรแตกต่างกัน เพราะฉะนั้นค่าเล่าเรียนก็จะแตกต่างกันออกไปในแต่ละ course
ประการที่ 2 การสอบเข้ามหาวิทยาลัยก็จะแตกต่างไปจากเดิม คือจากข้อที่ 1 ถ้าคณะและสาขาวิชามันหายไป การสอบเข้ามหาวิทยาลัยมันก็อาจจะเปลี่ยนไป ตรงนี้คงขึ้นอยู่กับแต่ละมหาวิทยาลัยแล้วว่าจะมองแบบไหน อาจจะเป็นข้อสอบรวมวัดความสามารถรวม ๆ พอเข้ามาได้ ก็ปล่อยให้ผู้เรียนเลือกเรียนได้ตามอิสระหรือบางที อาจจะยังคงแยกสอบรายกลุ่มวิชาอยู่ แต่สอบไปเพื่อใช้จัดลำดับความสำคัญ เช่น คนที่สอบเข้ารายกลุ่มวิชาวิศวกรรมศาสตร์ได้ เวลาลงทะเบียนวิชาทางด้านนี้ก็อาจจะได้ลงทะเบียนก่อนคนอื่น ๆ ที่สอบเข้ามาในรายกลุ่มวิชาอื่น ๆ เป็นต้น
ประการที่ 3 การเรียนในชั้นเรียนแบบนั่งจด Lecture ก็จะหมดไป ต่อไปการเรียนรู้แบบเชิงทฤษฎีมันจะเกิดขึ้นที่ไหนก็ได้ครับ เราอยู่บ้าน เปิดเรียน Online ได้เลย และการเรียนแบบนั้นมันจะดีกว่าเรียนในชั้นเรียนซะอีก เพราะว่า แต่ละคนความเร็วในการเรียนไม่เท่ากัน ใครฟังไม่ทัน กดหยุด แล้วฟังอีกรอบ ทำได้สบาย ๆ ใครเข้าใจแล้ว forward ไปข้างหน้าเลย งั้นแปลว่า ชั้นเรียนจะหายไปในมหาวิทยาลัยหรือเปล่า ส่วนตัวผมคิดว่ายังมีอยู่ครับ แต่มันจะกลายเป็นเหมือนห้องปฏิบัติการมากกว่าเป็นการเรียนรู้เชิงทฤษฎี คือทฤษฎีต่างคนต่างไปเรียนกันมา แล้วมาฝึกทำจริงด้วยกันที่ห้องเรียน โดยมีอาจารย์เป็นผู้ชี้แนะมากกว่าจะเป็นผู้สอนเหมือนแบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
ประการที่ 4 การสอบคงหมดไป ประเด็นการสอบเพื่อเอามาคำนวณเกรด เพื่อเอาไปสมัครงานน่าจะหมดไปในอนาคต หรือถ้ายังจะมีอยู่ การสอบก็ทำเพื่อจะได้รู้ว่าตัวเองยังอ่อนในเรื่องใดบ้าง หรือ อาจจะเอามาบอกว่ามีความรู้เพียงพอที่จะ “ผ่าน” course เหล่านี้หรือเปล่า ผมว่าการเรียนมันจะเหมือนกับการเข้า course training ปัจจุบัันแหละครับ ถ้าผู้เรียนเห็นว่าวิชานี้ไม่มีประโยชน์กับอาชีพเขาในอนาคต เขาก็จะไม่เสียเงินลงทะเบียนเรียนเลย ส่วนข้อกังวลว่า อ้าวอย่างนั้นอาชีพที่เป็น Professional อย่างหมอ วิศวกร แบบนี้ ต่อไปจะมีคุณภาพเหรอ ก็ต้องบอกว่า ก็นายจ้าง หรือ สมาคมวิชาชีพนี่แหละครับ ที่จะต้องเป็นคนกรองเองว่า ใครน่าจะผ่านเข้ามาทำอาชีพนี้ได้ ใครจะมาเป็นหมอได้ และถ้ายังมีการยืนยันว่าต้องผ่านวิชานั้น วิชานี้มา อย่างนี้ก็ยังทำได้อยู่ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น คนที่ตั้งใจอยากเป็นหมอเขาก็ต้องเข้าเรียนให้ผ่านในวิชานั้น ๆ ในที่สุดเช่นกัน
ประการที่ 5 ใบปริญญาบัตร อาจหมดความสำคัญลงในที่สุด สิ่งที่สำคัญมากกว่าคือวิชาเรียนที่เราออกแบบมา และปรากฏอยู่ใน Transcript ผมมองว่าตรงนั้นแหละครับ ที่จะบอกได้ว่า คน ๆ นี้ จะเหมาะที่จะทำงานในตำแหน่งหน้าที่แบบนี้หรือไม่ และยังมองอีกว่า ต่อไปการเรียนมันจะเป็นสิ่งที่ต้องทำตลอดชีวิต ไม่ใช่แค่ 4 ปีในรั้วมหาวิทยาลัยเท่านั้น แปลว่า ผมออกมาแล้ว มาทำงาน แล้วเจอจุดอ่อนของตัวเอง ก็กลับเข้าไปเรียนอีกได้ เพื่อ update ตัวเองอะไรประมาณนี้
คิดว่าหลัก ๆ คงประมาณนี้ครับ จะถูกหรือผิดอีกไม่นานก็รู้ครับ ไม่ใช่แค่ผู้เรียน แต่อาจารย์มหาวิทยาลัยเองก็อาจจะต้องปรับตัว อาชีพอีกหลาย ๆ อาชีพอาจจะหายไป โดยถูกทดแทนโดยระบบอัจฉริยะต่าง ๆ และผมเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้มันจะมาอย่างรวดเร็ว เหมือนกับที่แต่ก่อนไม่มีใครรู้จัก Smartphone แต่เผลอแป๊บเดียว ทุกคนมี Smartphone หรือแต่ก่อนไม่มีใครรู้จัก Facebook แต่แป๊บเดียวเท่านั้น คนทั้งโลกใช้ Facebook แบบนั้นเลยครับ
เอาเป็นว่าเอาใจช่วยทุกท่านให้ผ่านการเปลี่ยนแปลงไปได้ด้วยดีละกันครับ
อ่านบทความอื่น ๆ ได้ที่ www.NopadolStory.com หรือเข้าร่วมกลุ่ม Line@ ได้ที่ https://line.me/R/ti/p/%40nopadolrompho
No comment yet, add your voice below!