สมการการระบาด (DOTS)

หลายคนคงติดตามข่าว COVID-19 และคงมีคำถามคือเมื่อไรจะหยุดระบาดสักที
.
ผมได้มีโอกาสอ่านหนังสือชื่อ The Rule of Contagion เล่มแปลไทย ที่มีชื่อว่า ระเบียบแห่งการระบาด เขาบอกว่าการระบาดจะไปได้เยอะหรือน้อยจะขึ้นกับว่า คน ๆ หนึ่ง (หรือสิ่ง ๆ หนึ่ง) จะสามารถเผยแพร่เชื้อไปให้คนอื่นได้อีกกี่คน ซึ่งเราเรียกค่านี้ว่าค่า R (มาจากคำว่า Reproductive Number)
.
ถ้ายิ่งค่า R มีค่ามากกว่า 1 เท่าไร เชื้อก็ยิ่งจะกระจายได้เร็วเท่านั้น แต่ถ้าค่า R น้อยกว่า 1 สุดท้ายแล้ว การแพร่เชื้อก็จะหายไปในที่สุด
.
อย่าง COVID-19 ทาง WHO ได้ประมาณว่าค่า R อยู่ที่ประมาณ 1.4-2.5 แปลว่าคนติดคนหนึ่ง จะกระจายเชื้อให้คนอื่นประมาณ 1.4 – 2.5 คน จึงไม่แปลกที่ตอนนี้ถึงติดกันทั่วโลก
.
แล้วค่า R จะมากหรือน้อยขึ้นกับอะไร
.
นี่คือที่มาของสมการการระบาดดังต่อไปนี้ครับ
.
R = ระยะเวลา (Duration) x โอกาส (Opportunity) x ความน่าจะเป็นในการแพร่เชื้อ (Transmission probability) x ความสามารถในการติดเชื้อได้ (Susceptibility)
.
หรือแปลง่าย ๆ ว่ามี 4 ปัจจัย ที่หากเอาตัวย่อมารวมกันก็จะเรียกว่า DOTS นั่นเอง
.
มาดูกันทีละตัวครับ
.
1) ระยะเวลา (Duration)
.
ยิ่งมีระยะเวลาในการแพร่เชื้อได้นานเท่าไร โอกาสคนติดเชื้อใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นก็มากขึ้นเท่านั้น การที่ COVID-19 มันแพร่กระจายไปได้เร็ว เพราะมันมีระยะฟักตัว (ที่คนติด COVID-19 ก็อาจจะไม่รู้ เพราะไม่ได้แสดงอาการ แต่สามารถแพร่เชื้อได้) ประมาณ 14 วัน ลองคิดภาพนะครับว่า ถ้าระยะนี้ มันสั้นลง เช่น ติดแค่ 1 วัน แล้วหายทันที อัตราการแพร่เชื้อย่อมจะลดลงมหาศาลเลย
.
2) โอกาส (Opportunity)
.
อันนี้คือโอกาสที่จะเกิดการติดครับ เช่น ถ้าเรายังปล่อยให้มีกิจกรรมที่คนจำนวนมากมารวมกันอยู่ โอกาสที่จะเกิดการแพร่เชื้อมันก็จะสูงกว่าการที่ต่างคนต่างอยู่ในบ้านของตัวเอง ด้วยเหตุนี้ หลายประเทศจึงได้มีนโยบาย Lock Down เพื่อไม่ให้คนออกจากบ้าน เพื่อลดอัตราการแพร่เชื้อลง
.
3) ความน่าจะเป็นในการแพร่เชื้อ (Transmission probability)
.
หลายครั้งเราอาจจะไม่สามารถลดโอกาสในการติดเชื้อได้ เช่น เราไม่สามารถบังคับให้คนอยู่บ้านได้ตลอดเวลา ดังนั้น สิ่งที่จะทำให้อัตราการติดเชื้อลดลง ก็คงลดความน่าจะเป็นในการแพร่เชื้อ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดคือนโยบายในการให้ทุกคนใส่หน้ากาก เพราะการใส่หน้ากากจะช่วยลดความน่าจะเป็นในการแพร่เชื้อลง
.
4) ความสามารถในการติดเชื้อได้ (Susceptibility)
.
ตัวแปรนี้จะเกี่ยวข้องว่าคนเวลารับเชื้อมาแล้ว เราติดเชื้อได้ง่ายมากน้อยแค่ไหน ถ้ายิ่งติดได้ง่าย (เช่นร่างกายอ่อนแอ) โอกาสการระบาดก็จะสูงตาม ตรงนี้วงการแพทย์ก็กำลังแก้ไขปัญหาอยู่โดยการหาวัคซีนในการป้องกันการติดเชื้อ COVID-19 ซึ่งหากทำสำเร็จก็จะทำให้ความสามารถในการติดเชื้อลดต่ำลง
.
เป็นสมการที่ถ้าเราต้องการลดการระบาดลง เราก็ต้องลดค่าของแต่ละตัวแปรลงให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่ในทางกลับกัน หากเราต้องการให้สิ่งใดสิ่งหนึ่ง “ระบาด” เช่น อยากให้คนบอกต่อถึงสินค้าหรือบริการของเรา เราก็แค่ทำกลับกัน คือทำให้ทั้ง 4 ตัวแปรนี้มีค่ามากที่สุดเท่าที่จะทำได้เช่นกัน
.
ลองนำไปปรับใช้กันดูนะครับ

ติดตามผลงานอื่น ๆ ได้ทาง Page Nopadol’s Story หรือ Nopadol’s Story Podcast ใน Podbean Soundcloud Apple Podcast Spotify Youtube หรือ Blockdit

Recommended Posts

No comment yet, add your voice below!


Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *