สร้างความร่วมมือร่วมใจของทุกคนในองค์กร

เรื่องนี้ดูเหมือนกับจะเป็นหัวข้อที่ใครก็รู้ไม่เห็นจำเป็นต้องมาบอกเลย แต่เชื่อไหมครับ ผมว่าเป็นเรื่องหนึ่งที่ทำได้ยากที่สุดเลยทีเดียว

ปกติถ้าองค์กรไม่ใหญ่มากนัก การสร้างความร่วมมือร่วมใจอาจจะพอเป็นไปได้ เพราะผู้ก่อตั้งองค์กรน่าจะมีเวลาในการคัดเลือกผู้เข้าร่วมงานด้วยตัวเอง ซึ่งเขาก็คงทราบว่าลักษณะของพนักงานที่น่าจะเข้ากันได้กับคนเดิม ๆ และวัฒนธรรมองค์กรควรเป็นเช่นไร

แต่พอองค์กรใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ โอกาสที่ผู้ก่อตั้งหรือผู้บริหารระดับสูงจะลงมาจัดการเรื่องนี้ก็น้อยลง เพราะเวลาก็แทบจะไม่มีอยู่แล้ว ความเข้ากันได้ของพนักงานก็อาจจะเริ่มเป็นสิ่งที่ท้าทายมากขึ้น

แล้วเราจะจัดการเรื่องนี้ได้อย่างไร อย่างแรกคือเราต้องพยายามให้มากที่สุดกว่าจะรับคนเข้ามา คือนอกจากความเก่งแล้ว เราต้องดูด้วยว่าคนที่เข้ามานั้นจะสามารถทำงานร่วมกับคนเดิม ๆ ที่อยู่ในองค์กรได้ดีมากน้อยเพียงใด เพราะเมื่อรับเขาเข้ามาแล้ว โอกาสที่จะเปลี่ยนนิสัยใจคอเขามันยากมาก ๆ

ใช่ครับ องค์กรใหญ่อาจจะยากกว่าองค์กรเล็ก แต่คำว่ายาก ไม่ได้แปลว่าทำไม่ได้ เราสามารถสร้างระบบขึ้นมาได้ เช่น การให้คนในแผนกนั้น ๆ มีส่วนร่วมในการคัดเลือกคน มีข้อกำหนดหรือวิธีการประเมินที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ให้ชัดเจนในกระบวนการรับคนเข้ามา

คราวนี้ถ้ารับเข้ามาแล้ว จะทำอะไรได้อีก หรือคนเดิม ๆ ที่มีปัญหากันเราจะทำอย่างไร

ผมว่าอย่างแรกต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่าคำว่า “ความร่วมมือร่วมใจ” ไม่ได้แปลว่าจะต้องให้ทุกคนเห็นตรงกันในทุกเรื่องนะครับ ความเห็นที่หลากหลายจริง ๆ เป็นสิ่งที่มีค่ามากในองค์กร เพียงแต่เราต้องจัดการไม่ให้ความเห็นที่แตกต่างนั้นนำไปสู่การทะเลาะเบาะแว้ง จ้องทำลายกันเท่านั้น

และรากฐานของการสร้างความร่วมมือร่วมใจ ก็คือความยุติธรรม ถ้าผู้บริหารปราศจากความยุติธรรมแล้ว โอกาสที่พนักงานจะแตกคอกัน ต่างคนต่างทำ หรือไม่ร่วมมือร่วมใจกันก็จะมีสูง

ลองคิดภาพว่า พนักงาน 2 คน อีกคนหนึ่งทำงานอย่างหนึ่ง แล้วได้รับคำชมตลอด แต่อีกคนก็ทำได้แบบเดียวกันนอกจากจะไม่ได้รับคำชมแล้ว ยังโดนตำหนิอย่างไม่มีเหตุผล แล้วเราจะหวังว่า 2 คนนี้จะทำงานแบบร่วมแรงร่วมใจกัน ผมว่ามันก็ยาก

ระบบการประเมินผลพนักงานก็มีความสำคัญ ใช่แหละครับ เราคงหาระบบที่สมบูรณ์แบบประเภทที่ว่าทุกคนคิดว่ายุติธรรมแบบไม่มีข้อตำหนิเลยก็คงยาก แต่นั่นไม่ใช่เหตุผลที่เราจะไม่ต้องมาดูเรื่องการประเมินเลย เราควรทำให้ระบบนั้นดีที่สุด ยุติธรรมที่ เท่าที่จะเป็นไปได้ แค่นี้ก็จะช่วยลดปัญหาเรื่องความลำเอียง ความไม่ยุติธรรมลงได้ และน่าจะต่อยอดทำให้คนอยากทำงานร่วมกันได้ดีขึ้น

สุดท้ายคือเรื่องวัฒนธรรมองค์กร อยากให้คนร่วมมือกัน เราต้องพยายามปลูกฝังเรื่องนี้ให้เกิดขึ้นในองค์กร ผู้บริหารนั่นแหละครับจะต้องเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับพนักงานทั้งองค์กรเห็น ไม่ใช่ปากบอกว่าให้พนักงานร่วมมือ ร่วมใจกันทำงานในองค์กร แต่ผู้บริหารทะเลาะ นินทา กล่าวร้ายกันให้เห็นทุกวัน แบบนี้ความร่วมมือร่วมใจกันมันก็ไม่เกิดหรอกครับ

ลองนำเอาข้อคิดเหล่านี้ไปต่อยอดพัฒนาให้เหมาะสมในแต่ละองค์กรกันนะครับ

ข้อคิด ความร่วมมือร่วมใจของพนักงานเกิดขึ้นตั้งแต่การคัดเลือกคน การสร้างความยุติธรรม และสร้างวัฒนธรรมที่เน้นเรื่องนี้ในองค์กร

ติดตามผลงานอื่น ๆ ได้ทาง Page Nopadol’s Story หรือ Nopadol’s Story Podcast ใน Podbean Soundcloud Apple Podcast Spotify YouTube หรือ Blockdit

Recommended Posts

No comment yet, add your voice below!


Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *