ถ้าเรา “ยุ่ง” แสดงว่ามีอะไรผิดปกติแล้ว

ก่อนอื่น ขอให้คำนิยามคำว่า “ยุ่ง” ก่อน หลายคนอาจจะแปลว่า ก็มีเวลาน้อยไง จริงหรือครับ เวลาน้อย น้อยจากอะไรล่ะครับ เวลาเรามี 24 ชั่วโมงเท่ากัน อ้าวก็แปลว่า น้อยเกินกว่าเนื้องานที่มีเหลืออยู่ไง เช่น งานมันต้องใช้เวลา 3 ชั่วโมง แต่เรามีเวลาแค่ 2 ชั่วโมง อะไรแบบนี้ถึงเรียกว่ายุ่ง ถ้างั้น ถ้าเรามีเวลา 5 ชั่วโมงในการทำงานนั้น เราจะเรียกตัวเองว่า “ยุ่ง” อยู่หรือเปล่า

พอสงสัยก็เลยเข้าไปดูในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ซึ่งน่าจะเป็นที่ยอมรับกันมากที่สุด ก็ได้เห็นนิยามคำว่า “ยุ่ง” ไว้ดังนี้ครับ (เอาเฉพาะนิยามที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้นะครับ)

(๒) ก. เข้ามาเกี่ยวข้องพัวพันโดยไม่จำเป็น เช่น อย่าไปยุ่งเรื่องของเขา อย่าไปยุ่งกับเขา, มีธุระพัวพันมาก เช่น กำลังยุ่งอย่ามากวนใจ, วุ่นวายไม่เป็นปรกติ เช่น ยุ่งกันไปทั้งบ้าน

อ่านแล้วก็ยังไม่ชัดเจน แต่พอใจสรุปได้ว่า ยุ่ง น่าจะหมายความว่า มีงานเยอะ และไม่ใช่เป็นปกติ

เอาล่ะ ผมว่าพอจะเห็นภาพ แล้วไงต่อ คือผมอยากจะบอกว่า ถ้าเรายุ่งเป็นครั้งคราว อันนั้นไม่เป็นไรครับ เพราะคำว่า “ยุ่ง” มันเป็นสภาวะที่ไม่ปกติ สามารถเกิดขึ้นได้บ้าง แต่ถ้าเรา “ยุ่ง” ตลอด แบบนี้ มันไม่น่าจะใช่สภาวะที่ถูกต้องนะครับ

มันเหมือนกับอาการเครียด อาการปวดหัว เชื่อว่าทุกคนก็เคยเป็น แต่ถ้าใครเครียดตลอดเวลา หรือ ปวดหัวตลอดเวลา แปลว่ามีอะไรผิดปกติแล้วจริงไหมครับ ผมว่า “ยุ่ง” ก็เช่นเดียวกัน

ดังนั้น ถ้าเราเริ่ม “ยุ่ง” ติด ๆ กันตลอด แปลว่ามันมีอะไรที่ผิดปกติ และน่าจะต้องได้รับการแก้ไข

อาการ “ยุ่ง” คืออาการที่เราต้องทำงาน และส่วนใหญ่คือการทำสิ่งที่ตัวเราไม่ชอบด้วย เช่น เรามักจะได้ยินคำว่า “งานยุ่ง” มากกว่า “พักผ่อนยุ่ง” (ศัพท์อะไรเนี่ย) เพราะ งานมันคือสิ่งที่เราไม่ชอบ พอเราต้องทำแล้วมีเวลาน้อย แทบไม่มีเวลาหยุด เราก็บอกว่า วันนี้งานยุ่งมาก แต่ถ้าวันนั้นเราไปเที่ยวชายทะเล สนุกสนาน เราจะเรียกวันนั้นว่า เราพักผ่อนยุ่ง ไหมครับ ก็เวลาก็หมดไปเหมือนกัน ไม่มีเวลาทำอย่างอื่นเลย นอกจากเที่ยว แต่เราไม่เคยใช้คำว่า “ยุ่ง” กับสิ่งนี้เลยจริงไหมครับ

ดังนั้นเมื่อเรา “ยุ่ง” แสดงว่า เรากำลังอยู่ใน Mode 2 อย่างคือ ทำในสิ่งที่เราไม่ค่อยชอบ และ มีเวลาว่างในการทำสิ่งที่ชอบเหลือน้อยลง

แล้วจะทำอย่างไร เพื่อให้ลดความยุ่งลง เราก็ต้องลด 2 มิตินี้ลง คือ อย่างแรก เราต้องเริ่มลองค้นหางานที่เราชอบแล้วล่ะครับ เพราะในระยะยาว ถ้าเรายิ่งทำในสิ่งที่ไม่ชอบไปนาน ๆ นอกจากผลงานจะไม่ดีแล้ว โอกาสที่เราจะยุ่งมันจะสูงขึ้น เพราะเมื่อไม่ชอบ คำว่า ยุ่ง จะเกิดขึ้นง่ายกว่า สิ่งที่เราชอบ เช่น ผมไม่เคยบอกกับใครเลยว่า เขียนหนังสือยุ่งมาก เพราะการเขียนหนังสือคือสิ่งที่ผมรักไงครับ

อย่างที่สองคือ ถ้ายังหางานที่ชอบทำไม่ได้ เนื่องจากมีข้อจำกัดหลายอย่าง เราคงต้องหา “เวลา” เพิ่มแล้วล่ะครับ บางคนอาจจะสงสัยว่า เวลามันมีแค่ 24 ชั่วโมง จะหาได้จากไหนเพิ่มอีก ลองไปอ่านวิธีการบริหารจัดการเวลา กันดูครับ มีเทคนิคเยอะแยะ เช่น การมอบหมายงานให้คนอื่นทำ การรู้จักปฏิเสธไม่ทำในสิ่งที่เราไม่ถนัด หรือไม่ชอบ ผมไม่ได้บอกว่าให้โบ้ยงานทั้งหมดให้คนอื่นทำนะครับ คนละเรื่องกัน แต่เราควรจะทำในสิ่งที่เกี่ยวข้องกับเราจริง ๆ และเป็นสิ่งที่เราทำได้ดีที่สุดต่างหาก

ลองดูนะครับ ถ้าใครทำงาน “ยุ่ง” มาทุก ๆ วัน ลองหยุดคิดดูดี ๆ ครับ เอาใจช่วยทุกคนครับ

อ่านบทความอื่น ๆ ได้ที่ www.NopadolStory.com หรือเข้าร่วมกลุ่ม Line@ ได้ที่ https://line.me/R/ti/p/%40nopadolrompho

 

Recommended Posts

No comment yet, add your voice below!


Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *