8 บทเรียนที่ได้จากปี 2018

ปี 2018 กำลังจะผ่านไป และปี 2019 กำลังจะเข้ามา ปีนี้เป็นอีกปีหนึ่งที่มีอะไรหลาย ๆ อย่างที่ผมได้เรียนรู้ วันนี้เป็นวันสุดท้ายของปี ก็เลยถือโอกาสมานั่งตกผลึกเขียนบทเรียนที่ได้เรียนรู้ในปีที่ผ่านมา ได้มา 8 ข้อดังต่อไปนี้

1. สิ่งเล็ก ๆ ที่ทำทุกวันจะส่งผลสำคัญในอนาคต

ความสำเร็จของเราส่วนใหญ่ มันเกิดจากความพยายามอย่างต่อเนื่องของเรา น้อยครั้งมากที่จะเป็นความบังเอิญที่เกิดขึ้นในระยะสั้น ๆ ปีที่ผ่านมานี้ ผมได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ ถามว่า มันเกิดขึ้นจากการทำงานวิจัยหามรุ่งหามค่ำเพียงคืนเดียวหรือไม่ คำตอบคือเปล่าเลย มันเป็นผลงานวิจัยที่ผมทำสะสมมาเป็นระยะเวลา 15 ปี นับตั้งแต่เข้ามาเป็นอาจารย์

หรือแม้กระทั่งเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างการใช้ไหมขัดฟัน ซึ่งผมไม่เคยคิดว่ามันจะสำคัญ ปีนี้ เป็นปีที่ผมสามารถทำสิ่งนี้ได้อย่างต่อเนื่อง และผมเชื่ออย่างยิ่งว่า สิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้แหละที่มันจะส่งผลต่อสุขภาพฟันของเราในอนาคต

และลองมองเรื่องต่าง ๆ รอบตัวเรา เช่น การวิ่งออกกำลังกาย เราไม่วิ่ง 1 วันมันยังไม่ส่งผลกระทบอะไรหรอก แต่ถ้าเราไม่ทำไปเรื่อย ๆ มันส่งผลได้ในระยะยาวต่อสุขภาพของเรา การเขียนหนังสือก็เช่นกัน เรื่องพวกนี้ มันต้องทำอย่างต่อเนื่อง และความสำเร็จมันมาถึงจนได้ ไม่ช้าก็เร็ว

2. อย่าลังเลที่จะทำอะไรใหม่ ๆ ที่ไม่เคยทำ หากมันตอบโจทย์ชีวิต

ผมไม่ได้หมายความว่า ให้ทำมันทุกเรื่อง แต่ให้พิจารณาดูว่าสิ่งนั้นมันตอบโจทย์ชีวิตเราหรือไม่ ปีที่ผ่านมานี้ ผมมีโอกาสที่ได้ทำอะไรใหม่ ๆ ที่ไม่เคยทำเป็นจำนวนมาก เช่น การเริ่มจัด Podcast การวิ่ง Half Marathon การจัด Course สอนทั้งในรูปแบบ Offline และ Online หรือแม้กระทั่งการเข้าร่วมกิจกรรม Book Club

สังเกตว่าสิ่งเหล่านี้ เป็นสิ่งที่ตอบโจทย์ชีวิตผมทั้งสิ้น และการเราได้เริ่มทำสิ่งใหม่ ๆ เหล่านี้ ทำให้เราได้เรียนรู้ และยังเพิ่มความสุขให้กับเราอีกต่างหาก บอกได้เลยว่า ทุกครั้งที่เราเริ่มทำอะไรใหม่ ๆ เรามักจะกลัว ไม่กล้า แต่ให้เดินหน้าไป

อย่างไรก็ตาม ต้องดูด้วยนะครับว่า สิ่งที่เราทำนั้นมัน “ตอบโจทย์ชีวิต” เราจริงหรือไม่ ปีนี้ผมก็มีประสบการณ์หลายครั้ง ที่หลงไปทำเพียงเพราะว่าไม่เคยทำ แต่จริง ๆ แล้ว มันไม่ใช่ เอาเป็นว่า ถ้ายังไม่แน่ใจ และไม่มีอะไรเสียหาย จะลองก็ได้ แต่ถ้าพบว่าไม่ใช่เมื่อไร ให้รีบเลิก อย่าไปเสียเวลากับมันให้มากนัก

ลองถามตัวเองว่า “ครั้งสุดท้ายที่เราทำอะไรเป็นครั้งแรกน่ะนานเท่าไรแล้ว” ตอนที่ผมเขียนบทความนี้ คำถามนี้ ผมตอบได้เลยว่า เมื่อวานนี้เอง (เพราะผมเพิ่งวิ่ง Half Marathon เป็นครั้งแรกของชีวิตเลย)

3. ไม่อยากหลงทาง ให้ตั้งเป้าหมายชีวิต

ปีที่ผ่านมา เป็นปีที่ผมทำอะไรสำเร็จไปเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นการเขียนหนังสือได้ 4 เล่ม หรือ การวิ่งได้ครบ 1,000 กิโลเมตรต่อปี ส่วนหนึ่งที่ทำให้ผมสำเร็จในเรื่องเหล่านี้ คือการที่ผมได้ตั้งเป้าหมายชีวิตไว้ ผมเชื่อว่า หากผมไม่ได้ตั้งเป้าหมายเหล่านี้ไว้ บางที เราจะ “ยุ่ง” กับสิ่งที่มันไม่ใช่ และ “ไม่มีเวลา” ในการทำสิ่งที่ใช่แน่ ๆ

ผมใช้เครื่องมือที่เรียกว่า OKRs (Objective and Key Results) ในการช่วยตั้งเป้าหมายชีวิต และอยากให้ทุกคนได้ทดลองใช้ดูนะครับ

4. เมื่อบรรลุเป้าหมาย ให้ไปต่อทันที

ปีที่ผ่านมานี้ นอกจากที่ผมบรรลุเป้าหมายทางด้านการวิจัย คือได้ตำแหน่งศาสตราจารย์แล้ว ผมยังบรรลุเป้าหมายเรื่องการสอนไปพร้อม ๆ กันด้วย คือผมได้รับรางวัลอาจารย์ผู้สอนดีเด่นของคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถามว่าดีใจไหม ก็ต้องตอบว่าดีใจครับ และรู้สึกเป็นเกียรติที่คณาจารย์ได้กรุณาเลือกให้ได้รับรางวัลนี้

แต่เมื่อเราบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้แล้ว ผมก็เริ่มที่จะตั้งเป้าหมายใหม่ทันที เพราะถ้าเราอยู่แค่ตรงนี้ มันแปลว่า เราก็จะไม่พัฒนาต่อไปได้อีก เราจะดีใจ หรือ ฉลองกับการบรรลุเป้าหมาย ไม่ใช่เรื่องแปลกนะครับ เพียงแต่อย่าอยู่ตรงนั้นให้นานเกินไปก็พอครับ

5. อะไรที่ไม่ใช่ ให้เลิกหรือลด

ปีนี้ นอกจากความสำเร็จหลาย ๆ อย่างที่ผมได้รับแล้ว ยังมีบทเรียนอีกหลายอย่างที่สอนผมครับ คือ ผมมักจะเป็นคนที่ไม่ค่อยปฏิเสธคนอื่น อาจจะเพราะความเกรงใจส่วนหนึ่ง หรือการที่ไม่ค่อยได้พิจารณาให้ถี่ถ้วนก่อนจะตกปากรับคำ ทำให้ผมใช้เวลากับงานบางอย่างที่เราไม่ถนัดหรืออาจจะไม่ตอบโจทย์ชีวิตของเราด้วย

จึงนำไปสู่ข้อแนะนำข้อนี้ครับว่า อะไรที่ไม่ใช่ ไม่ตรงกับเป้าหมายหลักของเรา พยายามเลิกทำซะ หรือถ้ามันเลิกไม่ได้จริง ๆ ก็พยายามลดการใช้เวลาในส่วนนั้นลง ใช่ครับ ผมอยากให้เราได้ทำอะไรใหม่ ๆ แต่มันต้องตอบโจทย์เราด้วยนะครับ ไม่ใช่ทำอะไรใหม่ ๆ ในทุก ๆ เรื่องที่เข้ามา

6. ใช้ชีวิตให้เรียบง่ายที่สุด

ปีที่ผ่านมานี้ ผมได้มีโอกาสอ่านหนังสือเป็นจำนวนมาก ถ้านับเฉพาะภาษาอังกฤษก็ 52 เล่ม ภาษาไทยก็สัปดาห์ละ 2-3 เล่ม แต่มีหลายเล่มที่อ่านแล้วได้ข้อคิดที่สามารถนำมาปรับใช้ได้ หนังสือเล่มหนึ่งที่ผมชอบมากคือ “สิ่งสำคัญของชีวิต” ที่แต่งโดยคุณนิ้วกลม ซึ่งได้ไปสัมภาษณ์คุณมานิต นักธุรกิจเจ้าของสวอนเลค ที่เขาใหญ่ และประธานบอร์ด QHouse แต่ส่วนที่ผมชอบมาก ๆ หรือหลักการใช้ชีวิตของคุณมานิตที่ว่า “Easy Simple No Condition” มันแปลว่า ให้เราใช้ชีวิตง่าย ๆ ไม่ต้องมีเงื่อนไขอะไรมากมาย

สิ่งที่ผมได้คิดคือ บางที เราไปคิดอะไรเยอะเกินไป กลัวอย่างโน้น อย่างนี้ เพื่อนจะนัดกินข้าว จะไม่ไป ก็พูดว่า เดี๋ยวดูก่อน แล้วก็วิ่งหาข้ออ้างต่าง ๆ มันทำให้ทั้งเราและเพื่อนเสียเวลาโดยใช่เหตุ บางที เราแค่บอกสั้น ๆ ว่าเราไปไม่ได้ เรื่องทุกอย่างก็จบแล้ว ผมเริ่มทดลองการดำเนินชีวิตแบบนี้มาสักระยะแล้ว รู้สึกว่ามันทำให้ชีวิตเราสบายขึ้นจริง ๆ ครับ

7. อยากทำอะไรให้เริ่มทำทันที

ปัญหาของคนส่วนใหญ่คือ เรามัก “จะอยากทำ” มากกว่า “ทำ” เอาคำว่า “จะ” ออกครับ ปีที่ผ่านมา ผมเริ่มทำอะไรหลาย ๆ อย่างทันที ที่คิดว่าจะทำ เช่น การเริ่มทำ Podcast ซึ่งผมคิดว่าจะทำ ก็ทำวันนั้นเลย ไม่ได้มีไมโครโฟน และยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าต้องใช้โปรแกรมอะไรอัดเสียง ผมเชื่อว่า ถ้าผมจะรอให้พร้อม ป่านนี้ก็คงยังไม่ได้เริ่ม

บทเรียนที่ผมได้รับคือ ถ้าเราบอกว่า “วันหลังจะทำ” มันก็แปลว่า “เราจะไม่ทำ” นั่นแหละครับ

8. เราไม่เคยยุ่งเกินไปในสิ่งที่เรารัก

หลายคนอาจจะบอกว่า ก็อยากจะทำนะ แต่เรายุ่งเกินไป ปีที่ผ่านมาผมค้นพบความจริงอีกอย่างว่า คำว่า “ยุ่งเกินไปจนกว่าจะทำสิ่งนี้” แปลว่า “เรายังไม่รักสิ่งนั้นมากพอครับ” ถ้าเรารักมันมากพอ เราจะหาเวลาให้กับสิ่งนั้นจนได้ ผมรักการเขียน ผมจึงไม่เคย “ยุ่งเกินไปที่จะมาเขียน” สักที ถ้าอยากทำอะไร แต่รู้สึกว่าเรายุ่งเกินไป ผมแนะนำสั้น ๆ ว่า ให้เราถามตัวเองว่า เรารักสิ่งนั้นมากพอหรือยัง ถ้ารักมากพอ เราต้องพิสูจน์ความรักนั้น ด้วยการหาเวลาให้ครับ

ลองคิดว่า เรารักผู้หญิงหรือผู้ชายคนหนึ่งมาก ๆ เราจะมีเวลาให้เขาไหมครับ เราจะผิดนัดเขาไหมครับ นั่นแหละครับ สิ่งที่เราอยากทำก็เช่นกันครับ

นั่นคือ 8 ข้อคิดที่ผมได้มาจากปี 2018 ก็ขอส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ด้วยบทความนี้ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อยนะครับ

อ่านบทความอื่น ๆ ได้ที่ www.NopadolStory.com หรือเข้าร่วมกลุ่ม Line@ ได้ที่ https://line.me/R/ti/p/%40nopadolrompho หรือฟัง Podcast Nopadol’s Story ได้ที่ https://nopadolstory.podbean.com/

 

Recommended Posts

No comment yet, add your voice below!


Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *