บางคนอาจจะมีความรู้สึกว่า ถ้าเราบอกออกไปว่าเราไม่รู้ เราจะดูไม่ดี ดังนั้นเขาจะพยายามทำทุกอย่างที่ดูเหมือนว่าจะรู้เรื่อง ทั้ง ๆ ที่ที่จริงแล้ว เขาไม่เข้าใจในเรื่องนั้นเลย เรียกง่าย ๆ ว่าไม่อยากเสียฟอร์ม
ต้องบอกว่าในช่วงที่ผมเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยใหม่ ๆ หนึ่งในข้อกังวลใจของผมคือถ้าคนเรียนถามแล้วผมตอบไม่ได้จะทำอย่างไร เราควรบอกเขาไหมว่าตอบไม่ได้ ไม่รู้ แล้วเขาจะรู้สึกอย่างไร ซึ่งโชคดีคือเท่าที่จำได้ยังไม่เคยเจอเหตุการณ์นั้นเลยตอนช่วงที่เป็นอาจารย์ใหม่ ๆ ส่วนหนึ่งคืออาจจะเตรียมสอนอย่างเข้มข้น ด้วยความกลัวและตื่นเต้นนี่แหละ แต่ตอนนี้กลับมาคิดว่าที่ไม่ค่อยเจอคำถามที่ตอบไม่ได้ ไม่ใช่เพราะอะไรหรอก คือตอนนั้นเอาแต่ตั้งหน้าตั้งตาสอน จนคนเรียนอาจจะไม่ค่อยได้มีโอกาสได้ถามมากกว่า
แต่พออายุมากขึ้น ประสบการณ์มากขึ้น ผมกลับเรียนรู้ว่า จริง ๆ ไม่ใช่เรื่องน่าอายใด ๆ เลย ที่เราจะบอกว่าเราไม่รู้ ในเรื่องที่เราไม่รู้จริง ๆ ใช่ครับ เรื่องที่เราสอน เราควรจะมีความรู้ระดับหนึ่ง ไม่ใช่ไปสอนสิ่งที่เราไม่เชี่ยวชาญ หรือไม่เตรียมตัวใด ๆ เราเตรียมตัว เราศึกษา แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องรู้ทุกเรื่อง ตอบคำถามได้หมด
ส่วนตัวเวลาผมสอน แล้วเจอคำถามดี ๆ ที่ผมตอบไม่ได้ คือผมบอกเลยนะครับ คำถามนี้ดีมาก ๆ ผมไม่เคยคิดมาก่อน บอกตรง ๆ ว่าผมไม่ทราบคำตอบครับ แต่ถ้าถามความคิดเห็นผม ผมคิดว่า… อะไรก็บอกไป และอาจจะถามคนเรียนในห้องด้วยว่า มีใครรู้คำตอบเรื่องนี้บ้าง หรือมีใครคิดว่าคำตอบน่าจะเป็นอะไรบ้าง
ผมว่าแบบนี้จะดีกว่า การแกล้งทำเป็นรู้ แล้วตอบแถไปเรื่อย ๆ บอกได้เลยว่าคนฟังเขารู้นะครับว่าเรากำลังแถ เราไม่ได้รู้จริง เพียงแต่เขาอาจจะแค่ไม่อยากบอกเรา หรือไม่อยากหักหน้าเรามากกว่าที่เขาเงียบ ๆ ไป บางทีผมยังนึกขำเลยว่า จะไม่รู้สักเรื่องได้ไหม ทำไมต้องตอบได้ทุกเรื่อง
บางคนอาจจะทำบ่อย ๆ เลยติดเป็นนิสัยก็มีนะครับ ผมเคยเจอแม้กระทั่งคนที่เถียงว่าผมไปสอนที่ไหนมา คือเขาคงลืมไปว่า เขากำลังเถียงกับเจ้าตัว คือผมบอกว่าผมไม่ได้ไปสอนที่นี่ เขาก็บอกว่าอาจารย์ไปสอนแน่ ๆ คือเขาก็ไม่ได้เป็นคนเรียนกับผมนะครับ แต่มั่นใจขนาดว่าเขารู้ว่าผมไปสอน ทั้ง ๆ ที่ผมไม่เคยไปสอนที่นั่นเลย
ผมเคยเจอแม้กระทั่งคนเถียงกับผมเรื่องตัวสะกดชื่อผม คือชื่อผมสะกด นภดล เขาก็ยังพยายามมาแก้ให้ว่าไม่ใช่ เอากับเขาสิ นี่คือชื่อผมนะ คือยอมรับว่าสะกดผิดก็จบ แต่เดาว่าคงเป็นระบบอัตโนมัติของเขาน่ะครับ ผมก็ไม่ได้โกรธอะไรหรอก แค่ขำ ๆ ว่า เออ พี่ครับ พี่จะรู้เรื่องไหน พี่ก็รู้ไปเถอะครับ แต่เรื่องส่วนตัวผม พี่ต้องยอมรับนะครับว่าพี่ผิด อะไรทำนองนั้น แต่ผมก็ไม่ได้เถียงอะไรเขาหรอกนะครับ ผมว่าเขารู้ตัวแหละว่าเขากำลังแถ แต่แค่ขำว่า ไม่น่าจะแถกับเจ้าตัวเลย
ปัญหาของคนที่พยายามจะต้องรู้ทุกเรื่องอย่างแรกคือ เขาจะอยู่ลำบากครับ ใครพูดอะไร ถึงไม่รู้ก็ต้องแสร้งทำเป็นรู้ บางทีพาลไปบอกว่าเรื่องนั้นไม่ดีเลย เหตุผลง่าย ๆ คือจะได้จบบทสนทนานั้นเร็ว ๆ สมมุติว่ามีคนพูดถึงเรื่อง OKRs ซึ่งเป็นแนวคิดการตั้งเป้าหมายอย่างหนึ่ง ถ้ามีคนประเภทนี้อยู่ ถึงแม้ว่าเขาไม่รู้ว่า OKRs คืออะไรเลย เขาก็จะทำเป็นรู้ แต่เขาก็ไม่สบายใจที่จะพูดเรื่องนี้ยาว ๆ เพราะถ้าโดนถามลึก ๆ เขาอาจจะตอบไม่ได้ เดี๋ยวเสียฟอร์มอีก สิ่งที่เขาจะทำคืออาจจะบอกว่า OKRs เหรอ ไม่ดีหรอก เขาเลิกใช้กันแล้ว ไม่มีใครคุยเรื่องนี้แล้ว ไปโน่นเลย เพื่อที่จะได้เปลี่ยนหัวข้อซะที
ปัญหาอีกประการคือเวลาเขาไม่รู้เรื่องไหน แต่เขาต้องพยายามทำเป็นรู้ หรือบางทีไม่ได้พยายามแต่รู้สึกเองว่าตัวเองรู้ มันจะทำให้เขาหยุดการพัฒนาตัวเอง เขาไม่กล้าที่จะไปถามคนอื่น เพราะกลัวเสียฟอร์ม แล้วเมื่อไรเขาจะได้รับความรู้เพิ่มเติมล่ะจริงไหม
และสุดท้ายการที่ไม่รู้อะไรแล้วทำเป็นรู้ มันไม่ทำให้เราใช้ชีวิตอย่างสบายได้หรอกนะครับ เพราะเราต้องคอยกังวลว่าจะมีใครมาถามเรื่องนี้กับเราหรือเปล่า ลองนึกภาพว่า ถ้าเราแกล้งทำเป็นรู้ คนอื่นก็คงคิดว่าเราเชี่ยวชาญ เขาก็คงมาถามเราเรื่องนี้บ่อย ๆ ก็คงไม่สนุกหรอกนะครับที่เราจะต้องตอบสิ่งที่เราไม่รู้ และวันหนึ่งคนอื่นก็ต้องจับได้แหละว่าคนนี้ไม่ได้เก่งจริงในเรื่องนี้เลย
ไม่รู้ก็ไม่รู้ครับ ไม่มีใครรู้ทุกเรื่องอยู่แล้ว ยอมรับ เรียนรู้ และพัฒนาตัวเอง ผมว่าดีกว่าเยอะเลยนะครับ
ติดตามผลงานอื่น ๆ ได้ทาง Page Nopadol’s Story หรือ Nopadol’s Story Podcast ใน Podbean Soundcloud Apple Podcast Spotify YouTube หรือ Blockdit
1 Comment
คำถาม: ต้องบอกว่าในช่วงที่คุณเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยใหม่ ๆ หนึ่งในข้อกังวลใจของคุณคือถ้านักเรียนถามแล้วคุณตอบไม่ได้ คุณจะทำอย่างไรและควรบอกเขาไหมว่าตอบไม่ได้ แล้วเขาจะรู้สึกอย่าง