การ “ตัดสิน” คนอื่น คือการที่เราเชื่อและพูดอะไรที่เกี่ยวกับคนอื่นโดยปราศจากข้อมูลที่ครบถ้วนหรือมากเพียงพอ หลายคนอาจจะเคยโดนคำพูดที่มา “ตัดสิน” ตัวเรา โดยที่คนที่พูดนั้นไม่ได้เคยอยู่ในสถานการณ์แบบเรา ซึ่งหลายครั้งก็อาจจะเกิดจากการพูดโดยที่ไม่ได้คิดอย่างรอบคอบก่อน
ตัวอย่างของคำพูดแนว “ตัดสิน” เช่น
“เด็กที่โดดเรียนคือเด็กขี้เกียจ”
“คนที่โตแล้วไม่ทำงานคือคนที่ไม่เอาถ่าน”
เริ่มแบบนี้ก่อนครับ เด็กที่เราไปว่าเขาว่าขี้เกียจน่ะ เรารู้จักเขาดีแค่ไหนก่อน ถ้ารู้จักดี และเขาขี้เกียจจริง ๆ อันนั้นก็คงไม่มีปัญหาครับ แต่หลายครั้งเด็กที่เราไปว่าเขาน่ะ เราแทบไม่รู้จักเขาด้วยซ้ำ เด็กที่โดดเรียนบางคน เขาโดดเรียนเพราะเขาไม่มีเงินมาเรียนก็ได้ เขาต้องไปทำงานหาเงินไม่งั้นตัวเขาก็จะไม่มีอะไรกิน หรือผู้ใหญ่บางคนที่ไม่ได้ทำงาน เพราะเขาต้องรับภาระเลี้ยงดูพ่อแม่ที่ไม่มีใครดูแลก็เป็นไปได้อีกเช่นกัน
ลองคิดดูนะครับว่าชีวิตเขาแย่ขนาดนี้ แล้วยังมาถูกตราหน้า ถูกตัดสิน ด้วยคำพวกนี้อีก ผมว่ามันยิ่งแย่เข้าไปใหญ่
แล้วทำไมไม่บอกไปล่ะว่าเราเป็นอย่างไร คนอื่นเขาจะได้เข้าใจ ผมมองแบบนี้ครับ จริง ๆ เขาไม่สามารถที่จะบอกทุกคนว่าที่เราโดดเรียน เพราะเราไม่มีเงินนะ เราไม่ได้ขี้เกียจนะ หรือ ที่เราไม่ได้ทำงาน เพราะเราต้องเลี้ยงดูพ่อแม่นะ เราไม่ได้เป็นคนไม่เอาถ่านอย่างที่หลาย ๆ คนคิดหรอก ผมว่าน่าจะง่ายกว่าเยอะที่คนที่จะพูดตัดสินเขาแบบนี้ควรคิดก่อนพูดจริงไหมครับ
และถึงแม้ว่าเขาบอกความจริงเหล่านี้ให้คนอื่นฟัง คนที่ชอบตราหน้าคนอื่นบางคนก็อาจจะไม่ฟังอีก อาจจะคิดว่าคนนั้นไม่ยอมรับความจริง เอาแต่แก้ตัวก็ได้ ไม่ต้องมาบอกเลยว่าไม่มีเงิน จริง ๆ ตัวเองขี้เกียจล่ะสิ หรือ อย่ามาอ้างพ่อแม่ ตัวเราน่ะไม่ได้เรื่องอะไรแบบนี้
บางทีเจอแบบนี้ หลายคนเขาก็เลือกที่จะเงียบไว้ดีกว่า พูดไปก็ไม่เห็นจะมีอะไรดีขึ้น
คนที่ชอบตัดสินคนอื่นบางคนก็อาจจะยกคำพูดว่า “ที่ฉันพูดน่ะ ฉันหวังดีกับเธอนะ เธอจะได้ปรับตัว” คือเขาอาจจะยกเอาคำว่าหวังดีเป็นเกราะกำบัง เพื่อจะได้ไม่มีใครว่าเขาได้ หวังดีจริง เขาถามหาข้อมูลก่อนน่าจะดีกว่าไหมครับว่าอะไรเป็นสาเหตุที่แท้จริง ก่อนที่จะตัดสินไปเลยว่าเธอเป็นคนแบบนี้แน่นอน
เช่น ถ้าเห็นเด็กคนหนึ่งโดดเรียน แทนที่จะตราหน้าว่าเขาเป็นเด็กขี้เกียจทันที ลองถามเขาสักหน่อยครับว่า เอ เห็นเธอไม่ได้ไปโรงเรียนเลย มีปัญหาอะไรไหม เราพอจะช่วยอะไรได้ไหม แบบนี้น่าจะดีกว่า หรือเห็นคนหนึ่งไม่ได้ทำงาน ถ้าเราหวังดี กับเขา ลองคุยกับเขาดูว่า เขามีปัญหาอะไรหรือเปล่าที่ไม่ได้ทำงาน ให้เราช่วยอะไรไหม ก็น่าจะดีกว่าการบอกว่าเธอต้องเป็นคนไม่เอาถ่านแน่นอน
บางคนก็อาจจะบอกว่า อะไรกัน ถามแค่นี้ เซ็นซิทีฟจริง ๆ พูดนิดพูดหน่อยก็ไม่ได้ วันหลังจะได้ไม่แนะนำ คือ ถ้าแนะนำแบบนี้ ผมว่าสู้ไม่แนะนำจะดีซะกว่า คือข้อแรกมันเป็นข้อแนะนำที่ไม่ได้มีข้อมูลครบถ้วนเลย ข้อสองนอกจากไม่มีข้อมูลที่ครบถ้วนแล้ว คำพูดเหล่านี้ยังไปทำร้ายคนอื่นอีก และลองสังเกตดูดี ๆ ครับว่าจริง ๆ คำพูดที่ตัดสิน มันแทบจะไม่มีคำแนะนำที่มีประโยชน์ตามมาเลยด้วยซ้ำ เช่น เธอมันไม่ได้เรื่อง แล้วจบตรงนั้นเลย
บางคนก็อาจจะบอกว่า เราเป็นคนตรง คิดยังไงก็พูดยังงั้น แต่ปัญหามันอยู่ตรงที่ไม่ได้คิดนี่แหละ ถ้าคิดให้รอบคอบก็คงไม่พูดอะไรที่ไม่มีข้อมูล และไปตัดสินคนอื่นแบบนั้นจริงไหม คนตรงกับคนที่พูดโดยไม่คิด ผมว่ามันก็ไม่เหมือนกันอีกนั่นแหละ
อีกอย่างคือคนที่ชอบตัดสินคนอื่นมักจะเป็นคนที่ไม่เคยผ่านประสบการณ์แบบนั้นมาก่อนด้วย เขาจะคิดไม่ออกเลยว่าสถานการณ์มันเป็นอย่างไร คนที่บอกว่าเด็กโดดเรียนคือเด็กขี้เกียจ หลายคนคือคนรวย ที่มีพร้อมทุกอย่าง นึกไม่ออกเลยว่า จะมีคนโดดเรียนเพราะไม่มีข้าวจะกิน คนที่บอกว่าคนไม่ทำงานคือคนไม่เอาถ่าน ก็มักจะเป็นคนที่มีความพร้อม มีคนคอยดูแลพ่อแม่ครอบครัวครบถ้วน ก็เลยตัดสินคนอื่นเลยว่า ถ้าไม่ทำงานก็ต้องเป็นคนไม่ได้เรื่องเท่านั้น
แต่สุดท้ายตัวผมเองก็ต้องเตือนตัวเองครับว่า อย่าไปตัดสินคนที่ตัดสินคนอื่นเช่นกัน เพราะเขาอาจจะมีเหตุผลที่ผมไม่ทราบก็ได้ทำให้เขาต้องตัดสินคนอื่น เอาเป็นว่าลองฝากไปคิดดูก็ได้ครับว่าเราทำอะไรแบบนี้จริงหรือเปล่า ถ้าจริง และคิดว่ามันไม่ดีก็เลิกซะก็ดีครับ แต่ถ้าคิดว่ามันดี อันนี้คงแล้วแต่จะคิดกันนะครับ เราเห็นแตกต่างกันได้อยู่แล้วล่ะครับ
ติดตามผลงานอื่น ๆ ได้ทาง Page Nopadol’s Story หรือ Nopadol’s Story Podcast ใน Podbean Soundcloud Apple Podcast Spotify YouTube หรือ Blockdit
No comment yet, add your voice below!