บางทีสิ่งที่ยากที่สุดคือการปล่อยวาง

ต้องบอกว่าเวลาเรามีปัญหา สิ่งที่แรกที่จะเกิดขึ้นกับเราคือความกังวล น้อยคนนักที่จะเจอปัญหาแล้วดีใจ คือถ้าเรารู้สึกดีใจ มันก็คงไม่ใช่ปัญหามาตั้งแต่ต้นแล้วล่ะ เราจะมองว่าเป็นความท้าทาย ความสนุกอะไรก็แล้วแต่ แต่อันนั้นเราคงไม่คิดว่าเป็นปัญหาสำหรับเรา

ความกังวลนี้จะมากหรือน้อยก็คงแล้วแต่แต่ละคน บางคนอาจจะเป็นคนขี้กังวลก็อาจจะทุกข์มากหน่อย บางคนอาจจะไม่ค่อยคิดอะไรมากก็จะกังวลน้อยหน่อย บางคนก็กังวลแป๊บเดียวแล้วก็เลิก บางคนก็อาจจะกังวลนานเลย นอกจากนี้ปัญหาบางอย่าง จริง ๆ แล้ว มันอาจจะยังไม่ใช่ปัญหาด้วยซ้ำ แต่เราแค่กลัวว่ามันจะเป็นปัญหา เราก็เลยกังวลไปล่วงหน้าก็มี

ปัญหาบางอย่าง บางที ไม่ต้องทำอะไร มันก็ผ่านไปเอง และหลายครั้งเราก็กังวลไปฟรี ๆ เพราะในที่สุดมันก็ไม่เกิดขึ้น เช่น เรากลัวว่าเพื่อนจะไม่รับเราเข้ากลุ่ม กังวลมาเป็นสัปดาห์ แต่ก็ไม่ได้เป็นแบบนั้น เราไม่ได้ทำอะไร เพื่อนก็ชวนเราเข้ากลุ่มไปเที่ยวหรือไปทำอะไรด้วยกัน แต่ปัญหาบางอย่าง ถ้าเราไม่แก้ไขมันก็จะยังคาราคาซังอยู่นั่นแหละ หรือเผลอ ๆ ยิ่งปล่อยไว้นาน ยิ่งแก้ยาก ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ที่ต้องปรับความเข้าใจกัน หรือปัญหาด้านสุขภาพก็ตาม

ขั้นตอนต่อไปที่เรามักจะทำก็คือความพยายามแก้ไขปัญหา ถึงแม้ว่าจะมีหลายคนที่อาจจะพยายามจะหลบเลี่ยงไม่อยากพูดถึง หรือผัดวันประกันพรุ่งไปเรื่อย ๆ แต่สุดท้าย ปัญหาประเภทนี้ไม่แก้มันก็ไม่หาย เราก็อาจจะเริ่มหาทางแก้ไขปัญหา ก็คงแล้วแต่สไตล์ไป ถามว่ายากไหม บางทีมันก็ยากกว่าที่คิด แต่บางทีมันก็ง่ายกว่าที่คิดเช่นเดียวกัน

แต่การเริ่มต้นแก้ไขปัญหานี่มีข้อดีประการหนึ่งคือมันมักจะช่วยลดความกังวลไปเยอะ เช่น เราไม่อยากทำงานหนึ่ง แต่ก็กังวลว่าจะทำไม่ทัน ถ้าเราเริ่มหยิบมันขึ้นมาทำ เราจะเริ่มลดความกังวลลงได้ประมาณหนึ่งทีเดียว แต่ก็มีปัญหาหลายประการที่เราพยายามแล้ว พยายามอีก แต่ก็ทำไม่ได้ซะที ตอนนี้แหละครับความกังวลจะเริ่มกลับมาหาเราอีก มันไม่เหมือนกับความกังวลตอนยังไม่ลงมือแก้ไขปัญหาซะทีเดียว ตอนแรกมันเหมือนเรายังทุกข์ใจ ไม่สบายใจ เพราะกลัวอะไรไปสารพัด แต่ตอนนี้ที่เราพยายามแก้แล้วแก้ไม่ได้ มันจะเริ่มออกแนวท้อใจ หรือหมดหวังอะไรทำนองนั้น

สุดท้าย ถ้าเราทำเต็มที่แล้ว เราพยายามแล้ว และมันก็แก้ไม่ได้ สิ่งที่เราต้องทำก็คือการยอมรับ ยกตัวอย่างเช่น เรากังวลว่าคนรักเรา เขาจะไม่รักเราแล้ว (กังวลตอนแรก) เราอาจจะพยายามปฏิเสธว่าไม่จริงหรอกเราคิดมากไปเอง (หลอกตัวเอง) ไม่ยอมพูดคุยกัน จนถึงจุดหนึ่งเรารู้สึกว่าไม่ได้ละ เราคงต้องคุย ปรากฏว่าพอเราเริ่มคุยกัน เราเข้าใจว่าเราต้องปรับตัว (พยายามแก้ไขปัญหา) แต่สุดท้ายแล้ว ไม่ว่าเราจะทำอะไรก็ตาม เขาก็ไม่รักเราเหมือนเดิมแล้ว (กลับมากังวลอีกครั้ง)

สุดท้ายเราคงต้องยอมรับว่า ความสัมพันธ์นี้อาจจะไปไม่ได้อย่างที่เราคิด ผมว่าขั้นนี้แหละครับที่ทำใจยากที่สุด ยากกว่าตอนที่จะเริ่มแก้ปัญหา ยากกว่าตอนที่กำลังดำเนินการแก้ปัญหาซะอีก ยิ่งเราทุ่มเทและใช้เวลากับสิ่งที่เราคิดว่าเป็นปัญหามากเท่าไร เราก็จะยิ่งยึดติดกับสิ่งนั้นมากขึ้นเท่านั้น

แต่อยากให้มองแบบนี้ครับ ถ้าเราพยายามเต็มที่แล้ว ไม่ว่าเราจะยอมรับหรือไม่ยอมรับ ผลลัพธ์ก็ไม่ได้เปลี่ยนไปหรอกครับ ถ้าเป็นเรื่องความสัมพันธ์ ถ้าเขาจะไปจากเราเขาก็ไป ไม่ว่าเราจะยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นหรือไม่ก็ตาม เพียงแต่การยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นมันทำให้เรามีความสุขได้มากกว่าการไม่ยอมรับเท่านั้นเอง

ไม่ใช่แค่ความสัมพันธ์เท่านั้นนะครับ การทำธุรกิจ งาน เงิน หรือเรื่องอื่น ๆ เราทำได้เท่าที่เราทำได้ พยายามให้ดีที่สุด เสร็จแล้วคงต้องปล่อยวาง ยอมรับผลที่เกิดขึ้น เราทำอะไรไม่ได้มากไปกว่านี้แล้ว ถ้าเราทำใจได้ในระดับนี้ความสุขเราน่าจะเพิ่มขึ้นหรืออย่างน้อย ๆ ถ้าจะทุกข์ก็ทุกข์ไม่มากหรือไม่นาน

คำว่าปล่อยวางจะเป็นขั้นตอนสุดท้ายหลังจากพยายามแล้วนะครับ ไม่ได้ให้ปล่อยวางแบบไม่ทำอะไรเลย อะไรที่คิดว่าควรทำและทำได้ ทำไปเลยครับ ทำให้สุดทาง แล้วก็ปล่อยวาง ส่วนใหญ่แล้วเกือบทุกเรื่อง เราเริ่มต้นใหม่ได้เสมอ เป็นกำลังใจให้ทุกท่านนะครับ

ติดตามผลงานอื่น ๆ ได้ทาง Page Nopadol’s Story หรือ Nopadol’s Story Podcast ใน Podbean Soundcloud Apple Podcast Spotify YouTube หรือ Blockdit

Recommended Posts

No comment yet, add your voice below!


Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *