เลิกยึดติดกับต้นทุนจมได้แล้ว

ลองจินตนาการดูนะครับว่า สมมุติว่าเราไปกินบุฟเฟต์ที่ร้านอาหารแห่งหนึ่ง จ่ายเงินไปแล้ว 1 พันบาท และเราสามารถกินได้ไม่อั้น ตอนเริ่มแรก ผมว่าทุกคนก็คงเป็นเหมือน ๆ กัน ก็คือเลือกกินสิ่งที่ตัวเองชอบ และเราก็มักจะเลือกอาหารที่เราเชื่อว่ามีราคาแพงด้วย บางคนถึงแม้จะไม่ชอบมาก แต่ถ้าแพง เราก็จะเลือกกินอันที่แพงก่อน เพราะเราอยากที่จะกินให้ “คุ้ม” กับเงิน 1 พันบาทที่จ่ายไปใช่ไหมครับ

ตรงนี้ไม่มีอะไรแปลกครับ ก็เราหิว เราจ่ายเงินมา เราก็ต้องกินให้คุ้ม ใคร ๆ ก็ทำกัน แต่ลองจินตนาการต่อครับว่า เรากินจนเราอิ่มพอควรแล้ว ถ้าเป็นการกินแบบจ่ายเงินตามสั่ง มาถึงจุดนี้ เราคงหยุดสั่งเพิ่ม และคงเรียกเก็บเงินแล้ว เพราะเราอิ่มแล้ว ไม่มีประโยชน์อะไรกับการสั่งมาเพิ่ม แต่พอเป็นบุฟเฟต์ที่กินไม่อั้น ผมเชื่อว่าหลายคนยังกินต่อ เพราะถ้าเราหยุดตรงนี้ เดี๋ยวเราจะกิน “ไม่คุ้ม”

คราวนี้เรามาหยุดลองคิดดูดี ๆ นะครับ คือเงิน 1 พันบาท เราจ่ายไปเรียบร้อยแล้ว ไม่ว่าเราจะกินมาก กินน้อย เราก็จ่ายเงินไปแล้ว 1 พันบาทเท่ากัน เงินส่วนนี้เราไม่ได้คืนแน่ ๆ คราวนี้การหยุดกินหรือการกินเพิ่ม จึงไม่ได้ทำให้เราจ่ายเงินมากขึ้นหรือน้อยลงเลยจริงไหมครับ พูดง่าย ๆ คือเงิน 1 พันที่จ่ายไปแล้ว ไม่ควรเป็นปัจจัยที่ใช้ในการตัดสินใจ เพราะหยุดกินหรือกินเพิ่มก็จ่ายเงินเท่ากัน

สิ่งที่เราควรใช้ในการตัดสินใจคือความสุขของเรามากกว่า ว่า การหยุดกิน หรือ การกินต่อ อะไรทำให้เรามีความสุขมากกว่ากัน ถ้าตอนนั้นเราอิ่มมากแล้ว การหยุดกินควรจะให้ความสุขกับเราได้มากกว่าการกินต่อ ดังนั้นการหยุดกินจึงมีเหตุผลมากกว่า การกินต่อจนเรารู้สึกอึดอัดและไม่สบายตัว

แต่มนุษย์เราไม่ได้มีเหตุผลแบบนี้ครับ เรามักจะเสียดายเงินที่จ่ายไปแล้ว ทั้ง ๆ ที่เงินนั้นไม่ควรนำมาเกี่ยวข้องใด ๆ ในการตัดสินใจ เราเรียกว่า “ต้นทุนจม” หรือ “Sunk Cost” ครับ หลายคนจึงกินบุฟเฟต์แบบไม่บันยะบันยัง กินจนอึดอัด หรือบางคนกินจนป่วย ต้องใช้ยาช่วยย่อย หรือเลยเถิดถึงขนาดต้องไปหาหมอก็ยังมี

เรื่องนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะการกินบุฟเฟต์นะครับ เรามักจะยึดติดกับต้นทุนจมในเกือบทุกสถานการณ์เลยก็ว่าได้ เราเรียนบัญชีมา 4 ปี เราก็เลยรู้สึกว่าเราต้องทำงานเป็นนักบัญชี เหตุผลเพียงเพราะว่า ก็เราอุตสาห์เรียนมาตั้ง 4 ปีนะ ทั้ง ๆ ที่เราก็รู้ว่าเราไม่ได้ชอบบัญชีเลย เวลา 4 ปีที่เราเรียนไป ไม่ว่าเราจะเป็นนักบัญชีหรือไปทำงานอื่นที่เราชอบ เราก็ไม่มีทางได้ 4 ปีนั้นคืนมาอยู่แล้ว การตัดสินใจเลือกอาชีพของเรา จึงควรขึ้นอยู่กับว่าทางเลือกไหนให้ความสุขกับเรามากกว่า ไม่ใช่ว่าเราเคยเรียนอะไรมา

ผมเข้าใจครับว่าบางทีมันยากที่จะทำใจ ส่วนตัวเวลาผมอ่านหนังสือไปครึ่งเล่มแล้ว ไม่ค่อยชอบ ด้วยเหตุผลแล้ว ผมควรจะต้องหยุดอ่าน และเอาเวลาไปอ่านเล่มอื่นที่ชอบมากกว่า แต่ผมก็มักจะทำไม่ได้ เพราะรู้สึกว่าอุตสาห์อ่านมาได้ตั้งครึ่งเล่มแล้ว อ่านให้จบ ๆ ไปเหอะ นี่ก็คือตัวอย่างของการยึดติดกับต้นทุนจมเช่นกัน

เอาเป็นว่า ถ้าอะไรมันใช้เวลาไม่มากนักจะยึดติดกับต้นทุนจมบ้างก็เอาเถอะครับ แต่ถ้าอะไรที่เราต้องใช้เวลาอีกมหาศาล หรือต้องใช้เงินอีกเยอะแยะ อย่าไปมันยึดติดกับต้นทุนจมเลยครับ เอาเวลาหรือเงินที่มีไปทำในสิ่งที่ให้ความสุขดีกว่าครับ

ติดตามผลงานอื่น ๆ ได้ทาง Page Nopadol’s Story หรือ Nopadol’s Story Podcast ใน Podbean Soundcloud Apple Podcast Spotify YouTube หรือ Blockdit

Recommended Posts

No comment yet, add your voice below!


Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *