เคยสังเกตไหมครับว่าหนังสือที่เราว่า “ดี” นั้นมีลักษณะแบบไหน ใช่ครับ หนังสือดีของแต่ละคนแตกต่างกันไป เพราะความชอบของแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนบอกเล่มนี้ดี แต่พอเรามาอ่านมันก็ไม่เห็นจะดีอย่างที่เขาว่าไว้เลย ก็เพราะสิ่งที่เขาชอบ เราอาจจะไม่ชอบ สิ่งที่เขาเห็นว่าเป็นความคิดใหม่ เราอาจจะเจอมาแล้วหลายรอบ ก็คงไม่มีใครผิดใครถูก
แต่หนังสือดีหลายครั้งจะมีลักษณะอย่างหนึ่งที่ถ้าเราสังเกตดี ๆ จะเห็น คือเป็นหนังสือที่เขียนตรงกับความเชื่อของเรา พูดง่าย ๆ คือเราเชื่อสิ่งนั้นอยู่แล้วเป็นทุนเดิม และหนังสือมาเขียนถึงสิ่งที่เราเชื่อ พอเราอ่านแล้วเราจะพยักหน้าตลอดเล่มว่าใช่ อันนี้แหละใช่เลย พออ่านจบ เราจะรู้สึกสบายใจ และอยากบอกคนอื่นให้รู้ว่าหนังสือเล่มนี้ดีจริง ๆ นะ
ส่วนหนึ่งการอ่านหนังสือที่ยืนยันความเชื่อมันก็ดีครับ มันเหมือนกับเป็นการย้ำเตือนว่าสิ่งที่เราคิดนั้นไม่ผิด เรามาถูกทางแล้ว ยิ่งอ่าน ยิ่งมีกำลังใจ เพียงแต่ว่าการเลือกอ่านหนังสือที่เขียนมาในทิศทางเดียวกันกับความคิดของเราโดยตลอด มันอาจจะทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า Confirmation Bias คือเป็นความลำเอียงในการหาข้อมูลมาสนับสนุนสิ่งที่เราเชื่ออยู่แล้ว ทำให้เรามองข้อมูลแค่ด้านเดียว และหลายครั้งอาจจะทำให้เราพลาดอะไรไปบางอย่างก็ได้
ดังนั้น ผมจึงอยากชวนหาหนังสือที่ “ไม่ดี” มาอ่านบ้าง แต่ให้คำนิยามก่อนนะครับว่าคำว่าไม่ดี ไม่ได้แปลว่าหนังสือนั้นเขียนแล้วอ่านไม่รู้เรื่อง ไม่มีประโยชน์ แบบนั้นนะครับ ไม่ดีในความหมายนี้ คือหนังสือที่เขียนตรงข้ามกับความเชื่อของเรา
ใช่ครับ มันยากมากเลยที่เราจะหยิบหนังสือประเภทนี้ขึ้นมาอ่าน เพราะมันขัดกับความรู้สึกเราจริง ๆ แต่อยากชวนให้ทดลองทำกันดูบ้างเป็นครั้งคราว ไม่จำเป็นต้องทำตลอดก็ได้ครับ และเวลาอ่านหนังสือเล่มนี้ ลองเปิดใจกับข้อความที่เรามักจะแสยะยิ้ม และมองบน และลองคิดดูดี ๆ ว่าสิ่งที่เขาเขียนมีสิทธิที่จะถูกบ้างไหม อย่าเพิ่งไปปิดกั้น หรือใช้ความเชื่อที่เรามีอยู่แล้วไปอธิบายว่าทำไมเขาถึงผิด
ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราไม่ชอบหนังสือประเภทพัฒนาตัวเองแบบที่พิสูจน์ได้ยาก เช่น เราไม่เชื่อเรื่องกฎแรงดึงดูดของหนังสือ The Secret ที่เขาบอกว่า ถ้าเราขอ เชื่อ และ รับ สิ่งดี ๆ จะวิ่งเข้ามาหาตัวเราตลอดคอยสังเกตดูสิ ผมอยากชวนให้เราลองอ่านหนังสือเล่มนี้ดู อ่านทั้ง ๆ ที่ตอนแรกเราไม่เชื่อนั่นแหละครับ
ไม่ได้มาชวนให้เชื่อนะครับ มาชวนให้เราลองมองอีกมุมว่า สิ่งเหล่านี้มีโอกาสเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน ถ้าอ่านแล้ว เปิดใจแล้ว แต่ยังไม่เห็นความเป็นไปได้เลย เราก็ไม่ต้องเชื่อครับ เรายังเชื่อเหมือนเดิมก็ไม่ได้ผิดอะไร แต่การที่เราลองเปิดใจรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างจากความคิดเห็นของเรา แล้วเราตัดสินใจว่าจะไม่เชื่อ ผมว่าน่าจะดีกว่าเราไม่เคยเปิดใจรับฟังสิ่งเหล่านี้เลย แล้วใช้ความรู้สึกของเราตัดสินถูกผิดล้วน ๆ นะครับ
อย่างที่บอก คงไม่ต้องถึงกับว่าต้องไปเลือกหนังสือที่เขียนตรงข้ามความเชื่อของเราตลอดเวลา เอาแค่ว่าลองไปเลือกหาหนังสือที่เราไม่ค่อยอยากอ่าน ไม่ค่อยเชื่อสิ่งที่เขียนมาอ่านสักหน่อย ก็น่าจะช่วยทำให้เราเปิดมุมมองเพิ่มมากขึ้นแล้วล่ะครับ
ลองหาหนังสือที่ “ไม่ดี” มาอ่านกันบ้างนะครับ
ติดตามผลงานอื่น ๆ ได้ทาง Page Nopadol’s Story หรือ Nopadol’s Story Podcast ใน Podbean Soundcloud Apple Podcast Spotify YouTube หรือ Blockdit
No comment yet, add your voice below!