กล้าตัดสินใจ กล้าล้มเหลว และมีความคิดสร้างสรรค์

ไม่ว่าตอนนี้ท่านจะมีอายุเท่าไรก็ตาม ลองคิดย้อนกลับไปแล้วคิดถึง 2 เหตุการณ์ต่อไปนี้ครับ

  1. มีอะไรบ้างที่เคยอยากทำ และได้ทำไปแล้ว แต่ตอนนี้รู้สึกเสียใจว่าไม่น่าจะทำไปเลย
  2. มีอะไรบ้างที่เคยอยากทำ แต่ยังไม่ได้ทำ แต่ตอนนี้รู้สึกเสียดายว่าตอนนั้นน่าจะลองทำดู

ผมว่าตรงนี้แต่ละคนก็อาจจะมีคำตอบที่หลากหลายแล้วแต่คน และก็คงขึ้นอยู่กับอายุด้วยครับ แต่เชื่อไหมครับ หนังสือหลายเล่มบอกว่า สำหรับคนที่มีอายุเยอะๆ คนส่วนใหญ่จะเสียใจที่ไม่ได้ทำ (ข้อที่ 2) มากกว่าเสียใจในสิ่งที่เราได้ลองทำไปแล้ว (ข้อที่ 1)

ตรงนี้ถ้าจะอธิบายเหตุผลในเชิงจิตวิทยาก็คืออะไรที่เราทำไปแล้ว เรารู้ว่าสิ่งนั้นคืออะไรแล้ว เรามักจะมีเหตุผลมาช่วยทำให้เรารู้สึกดีขึ้นได้ เรามักจะไม่ค่อยเสียใจได้ง่ายนัก เช่น เราได้ตัดสินใจลาออกจากงานมาทำธุรกิจแล้ว และถึงแม้ว่าธุรกิจนั้นมันไปไม่รอดในที่สุด แต่เราก็สามารถบอกกับตัวเองได้ว่า ณ เวลานั้นเราเต็มที่แล้ว แต่ที่ไปไม่รอดอาจจะเพราะ COVID-19 หรืออะไรก็ว่าไป

แต่ถ้าเราเคยฝันไว้ว่าอยากทำ แต่เราไม่ได้ทำ เราจะหาเหตุผลมาอธิบายเพื่อทำให้เรารู้สึกสบายใจได้ยากกว่า เพราะการที่เราไม่ทำสิ่งนั้น เราจะไม่รู้เลยว่าจะเกิดอะไรขึ้น พูดง่าย ๆ คือมันจะคาใจไปตลอดนั่นแหละ และยิ่งมีอายุเยอะขึ้นเรื่อย ๆ ความฝันบางอย่างมันอาจจะไม่สามารถทำได้อีกต่อไปด้วยข้อจำกัดทางด้านร่างกาย (เช่นอยากเล่นกีฬาบางอย่าง) ทางด้านสถานภาพ (เช่น ถ้าตอนนั้นได้บอกรักผู้หญิงคนนั้นซะก็ดี แต่ตอนนี้เธอมีครอบครัวมีลูกไปแล้ว) หรืออื่น ๆ

พูดแบบนี้ไม่ได้แปลว่า งั้นอยากทำอะไรก็ทำเลย ไม่ต้องคิดหน้าคิดหลังนะครับ ความกล้าตัดสินใจเป็นสิ่งที่ดี แต่ต้องผ่านการไตร่ตรองเช่นเดียวกัน การที่เราได้ไตร่ตรองมาดีแล้ว จะช่วยให้เราลดความเสียใจหรือเสียดายได้ในภายหลัง เพราะอย่างน้อยเราก็คิดมาดีพอแล้ว ต่อให้เราตัดสินใจจะไม่ได้ทำก็เถอะ

แต่ถ้าเป็นอะไรที่เราอยากทำและทำไปแล้วก็ไม่ได้มีความเสี่ยงใด ๆ เรียกว่า ถึงจะล้มเหลวก็ไม่ได้ทำให้ตัวเราหรือคนอื่นเดือดร้อน แบบนี้ทำไปเถอะ เพราะล้มเหลวก็ล้มเหลว อย่างมากก็เลิกทำ ผมมักจะใช้ข้อคิดนี้ในการดำเนินชีวิตเสมอ

ผมเชื่อว่าถ้าเราเอาแต่กลัวความล้มเหลว จะทำให้เราไม่กล้าทำอะไรสักอย่าง เพราะทุกอย่างมันมีโอกาสล้มเหลวทั้งนั้น ขออย่างเดียวคือถ้าจะล้ม เราต้องไม่เจ็บมาก ผมเคยอยากทำ Podcast แต่ถ้าตอนนั้นผมกลัวว่าจะล้มเหลวคือทำแล้วไม่มีใครฟัง ผมก็คงไม่ได้เริ่มทำ และคงไม่มี Nopadol’s Story Podcast มาจนถึงปัจจุบัน ตอนนั้น ผมก็ถามตัวเองว่า สมมุติว่าทำ Podcast แล้วล้มเหลวคือไม่มีใครฟัง ผมเดือดร้อนไหม คำตอบคือไม่ เพราะมันไม่ได้ใช้เงินทองมากมายใด ๆ แล้วผมจะทำให้คนอื่นเดือดร้อนไหม ก็คงไม่อีกนั่นแหละ ผมไม่ได้ลาออกมาทำ Podcast สักหน่อย ไม่มีคนฟัง ก็ไม่เห็นมีใครเดือดร้อน คิดแบบนี้เสร็จแล้ว ผมก็ตัดสินใจทำทันที

แต่ก็ไม่ได้แปลว่าจะทำอะไร ไม่ต้องวางแผน เราก็คงอยากทำแล้วสำเร็จกันทุกคน จริงไหมครับ ถึงแม้ว่าจะหลบเลี่ยงความล้มเหลวไม่ได้ก็เถอะ ดังนั้น เราจึงควรคิดไปด้วยเช่นกันว่าจะทำอะไรที่แตกต่าง ทำอะไรที่คนชอบ สิ่งเหล่านี้จะเรียกว่าความคิดสร้างสรรค์ก็ใช่

ขอยกตัวอย่าง Podcast อีกครั้ง ผมก็เริ่มจากสิ่งที่ผมถนัดและชอบคือการอ่านหนังสือ และช่วงที่ผมเริ่มทำนั้น ก็ยังไม่ค่อยเห็นมีใครเอาหนังสือที่ตัวเองอ่านมา Review กันอย่างเป็นเรื่องเป็นราวสักเท่าไร และผมคิดว่ามีคนจำนวนมากที่อยากจะยังไม่ได้มีโอกาสอ่านหนังสือ ผมก็เลยจัด Podcast โดยเอาหนังสือที่ผมอ่านมา Review ให้ฟัง ถึงแม้ว่าการ Review หนังสืออาจจะไม่ใช่สิ่งใหม่เลย ถ้าเราพูดถึงการทำ Blog หรือ ทำ Page แต่สำหรับ Podcast แล้ว ณ เวลาที่ผมเริ่มทำก็ยังไม่มีมากนัก

ความคิดสร้างสรรค์ไม่ได้แปลว่าจะต้องทำอะไรที่คนอื่นไม่เคยทำมาก่อนเลยในโลกนี้ ขอเพียงแค่ว่าเราได้ส่งต่อคุณค่าที่มีความแตกต่างให้คนผู้รับก็พอแล้ว การ Review หนังสือของผม ต่อให้ผ่าน Podcast ก็ไม่ได้เป็นช่องเดียวหรอกครับ มีหลาย ๆ ท่านก็ทำ แต่คุณค่าที่ผมสามารถส่งต่อไปได้ คือแนวทางการ Review แบบของผมเอง ซึ่งก็ไม่ได้แปลว่าผมเก่งกว่าใครนะครับ เพราะแต่ละคนก็มี Style ที่แตกต่างกัน แต่สิ่งนี้ทำให้คนติดตาม Nopadol’s Story ชื่นชอบแค่นี้ก็พอแล้วล่ะครับ

ไม่ได้แปลว่าทุกคนต้องมาทำ Podcast กันหมดนะครับ ทำอะไรก็ได้ที่เราอยากทำ หากสิ่งนั้นไม่ได้ทำให้ตัวเองและผู้อื่นเดือดร้อน กล้าตัดสินใจ กล้าล้มเหลว และลองคิดอะไรใหม่ ๆ อยู่เสมอ แค่นี้แต่ละวันของเราก็จะมีความหมายขึ้นเยอะแล้วล่ะครับ

ข้อคิด หากทำอะไรแล้วถึงล้มเหลวก็ไม่ได้ทำให้ตนเองและคนอื่นเดือดร้อน เริ่มตัดสินใจทำ เรียนรู้จากความล้มเหลว และหาหนทางใหม่ ๆ เพื่อทำให้ประสบความสำเร็จ

ติดตามผลงานอื่น ๆ ได้ทาง Page Nopadol’s Story หรือ Nopadol’s Story Podcast ใน Podbean Soundcloud Apple Podcast Spotify YouTube หรือ Blockdit

Recommended Posts

No comment yet, add your voice below!


Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *