เปิดใจรับฟังไม่ใช่แค่ได้ยิน

ถ้าใครอ่านหนังสือเยอะ ๆ คงเห็นหนังสือที่แนะนำเกี่ยวกับการพูด การเขียน หรือแม้แต่การอ่าน เยอะแยะ แต่ที่เราไม่ค่อยได้เห็นคือหนังสือที่แนะนำเกี่ยวกับการฟัง

เดาว่าเพราะคนส่วนใหญ่คิดว่าตัวเองฟังเป็น เราฟังกันตั้งแต่เราจำความได้ ไม่เหมือนกับการพูดที่พอโตขึ้นเราต้องรู้วิธีการพูดแบบต่าง ๆ ซึ่งไม่แตกต่างจากการเขียนหรือการอ่าน แต่เราก็มักจะไม่ค่อยได้พัฒนาทักษะการฟังของเรา

ก่อนอื่นเราต้องแยกแยะ 2 คำนี้ก่อนคือการฟังกับการได้ยิน หลาย ๆ ครั้งที่เราคิดว่าเราฟัง แต่จริง ๆ แล้วเราเพียงแค่ได้ยินเท่านั้น สองคำนี้ต่างกันตรงที่ความคิดครับ การได้ยิน มันเกิดขึ้นเมื่อเสียงเข้ามาในหูเรา แต่เราไม่ได้คิดวิเคราะห์ต่อว่าเสียงเหล่านั้นกำลังบอกอะไร เราแค่ดูเหมือนจะเข้าใจแค่คำพูดที่เราได้ยินแบบผิวเผินเท่านั้น

ต่างจากการรับฟัง คือนอกจากเราได้ยินแล้ว เรายังพยายามถอดรหัสคำพูดเหล่านั้นอย่างตั้งใจด้วย การรับฟังนี่แหละครับที่หลายคนไม่ได้ทำอย่างจริงจัง และอาจจะเป็นต้นเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้น

ยกตัวอย่างครับ ถ้าตอนเย็นเราไปรับลูกและเราถามลูกว่า “วันนี้เป็นอย่างไรบ้างลูก” ลูกเราก็อาจจะตอบมาว่า “ผมเบื่อโรงเรียน ไม่อยากไปโรงเรียนแล้วครับ” ถ้าเราแค่ได้ยินแต่ไม่ได้เปิดใจรับฟังจริง ๆ เราก็มักจะตอบกลับไปทำนองว่า โรงเรียนดีอย่างไร มีเด็กอีกมากมายที่อยากเรียนแล้วเขาไม่ได้เรียน สมัยพ่อหรือแม่ตอนเด็ก ๆ นะ… แล้วก็เล่าอะไรยืดยาวสัก 10 นาทีหลังจากนั้น

สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือลูกก็คงนั่งฟัง พยักหน้า แล้วก็เงียบ ๆ ไป หรือไม่ถ้าพ่อแม่ถามว่าเข้าใจไหมลูก ลูกก็คงพยักหน้าแล้วตอบกลับว่าเข้าใจ คือเขาเข้าใจที่เราพูดครับ แต่เรานั่นแหละไม่เข้าใจเขาเลย เพราะอะไรทราบไหมครับ เพราะเราแค่ได้ยินเขาพูด เราไม่ได้ฟังเขาจริง ๆ

ถ้าเราฟังเขา เราจะเริ่มคิดไปด้วยทันทีครับว่า ทำไมเขาถึงเบื่อโรงเรียนจนไม่อยากไปโรงเรียน ดังนั้นแทนที่เราจะรีบตอบกลับบอกเหตุผลมากมายว่าทำไมการไปโรงเรียนถึงดี เราจะถามเขากลับว่า ลูกเล่าให้พ่อแม่ฟังได้นะว่ามีอะไรที่ลูกไม่สบายใจ

แบบนี้เขาจะได้โอกาสเล่าให้ฟังมากขึ้น อาจจะเป็นเรื่องโดนเพื่อนแกล้ง โดนคุณครูดุ เรียนไม่รู้เรื่อง อกหัก หรืออื่น ๆ อีกมากมาย และเมื่อได้ทราบสาเหตุแล้ว ก็อย่าเพิ่งไปเสนอแนะแนวทางออกเร็วเกินไปนะครับ ปล่อยให้เขาพูดออกมาให้หมด เชื่อไหมครับ บางทีสิ่งที่เขาต้องการมากที่สุดคือมีคนรับฟังเขาเท่านั้น เขาอาจจะรู้ทางออกแล้วด้วยซ้ำ เช่น การบ่นว่าการบ้านเยอะ เขาไม่ต้องให้ใครมาบอกหรอกครับว่า ก็รีบทำสิ จะได้เสร็จ เขาทราบครับ เขาแค่อยากระบาย ฟังเยอะ ๆ ครับ ยิ่งฟังจะยิ่งเข้าใจเขามากขึ้น

อีกเรื่องหนึ่งที่เป็นประโยชน์ของการฟัง คือการฟังเป็นการช่วยทำให้เราพัฒนาตัวเราได้ดีขึ้น ใครที่ไม่ค่อยได้ฟังคนอื่น มักจะปิดการพัฒนาตัวเองโดยไม่รู้ตัว การฟังจะทำให้เราได้รู้ว่าใครทำอะไรสำเร็จหรือล้มเหลวอย่างไร ซึ่งเป็นวัตถุดิบชั้นดีเลยครับที่เราจะเลือกนำมาใช้ทำให้ชีวิตเราให้ดีขึ้น

แน่นอนครับ ผมไม่ได้แนะนำให้ฟังอย่างเดียว ห้ามพูดอะไรเลย การสนทนามันก็ต้องมีการแลกเปลี่ยน เพียงแต่ไม่อยากให้ลืมว่าการฟังเป็นอีกทักษะที่สำคัญ และการฟังกับการได้ยินมันไม่เหมือนกันเท่านั้นครับ

ข้อคิด การฟังไม่ใช่การได้ยิน รับฟังเพื่อทำความเข้าใจผู้อื่น

ติดตามผลงานอื่น ๆ ได้ทาง Page Nopadol’s Story หรือ Nopadol’s Story Podcast ใน Podbean Soundcloud Apple Podcast Spotify YouTube หรือ Blockdit

Recommended Posts

No comment yet, add your voice below!


Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *