เคยได้ยินคำว่า Ikigai กันไหมครับ คำ ๆ นี้เป็นคำญี่ปุ่น ซึ่งผมไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญหรอกครับ แต่ผมเริ่มสะดุดคำนี้ จาก post ใน Facebook หลังจากนั้นก็เริ่มหาหนังสือที่มีคำว่า Ikigai มาอ่านตลอด จนเข้าใจว่า Ikigai มันคือความลับของการมีชีวิตที่มีความสุข
หนังสือที่เขียนเล่มนี้ได้ดีเล่มหนึ่ง กลับไม่ใช่หนังสือที่คนญี่ปุ่นเขียนนะครับ เป็นหนังสือที่ Hector Garcia และ Francesc Miralles ซึ่งเป็นคนต่างชาติทั้งคู่ แต่ได้ไปศึกษาวิจัยหาคำตอบว่า ทำไมคนญี่ปุ่น โดยเฉพาะคนที่อยู่ในโอกินาวา ถึงได้เป็นกลุ่มคนที่มีอายุยืนที่สุดในโลก
ในหนังสือ Ikigai The Japanese Secret to a Long and Happy Life เขียนเรื่องนี้ไว้หลายอย่างครับ แต่ที่อยากเอามาขยายความคือ มันคือรูปในปกหลังหนังสือเล่มนี้ ที่เป็นตัวบอกว่า Ikigai มันคือพื้นที่ทับซ้อนระหว่าง 4 อย่างได้แก่
- สิ่งที่เรารัก
- สิ่งที่เราเก่ง
- สิ่งที่โลกต้องการ
- สิ่งที่สร้างเงินให้เราได้
สรุปง่าย ๆ ว่าถ้าเราเจอสิ่งนี้ แปลว่าเราเจอ Ikigai ของเราแล้ว
คราวนี้ ผมอยากให้ทุกคนที่เข้ามาอ่านเรื่องนี้ ลองคิดถึงงานที่เรากำลังทำอยู่ครับว่า ถ้าให้คะแนนเต็ม 10 ในแต่ละข้อ จะให้คะแนนเท่าไร เอ้า เริ่มเลยครับ ทำให้เสร็จนะครับ ไม่ยากหรอกครับ
คราวนี้ลองกลับมาดูผลกัน ถ้าเราให้คะแนนสูงในทุกข้อ (เอาเป็นว่าสูงคือตั้งแต่ 8 คะแนนขึ้นไปแล้วกันนะครับ) อันนี้แปลผลง่ายครับ คือเราเจอ Ikigai ของเราแล้ว และเย็นวันศุกร์ คงเป็นวันธรรมดาวันหนึ่งของเรา ไม่ได้ตื่นเต้นดีใจกับวันหยุดเสาร์อาทิตย์เลย (หรือบางที อาจจะออกแนวเซ็งซะด้วยซ้ำ เมื่อไร จะถึงวันจันทร์ซะทีน้า 555)
คราวนี้ ถ้าเราได้คะแนนสูงในส่วนของสิ่งที่เรารัก กับ สิ่งที่เราเก่ง เขาเรียกสิ่งนั้นว่า Passion หรือความลุ่มหลงครับ คือ เราชอบทำมันมาก ๆ แต่ยังไม่สามารถอยู่ได้ด้วยสิ่งนั้น เช่นผมชอบดูฟุตบอลมาก ๆ และรู้จักนักเตะแต่ละคนหมด แต่ไม่รู้จะทำเงินได้อย่างไร และก็ไม่รู้ว่าคนอื่นจะได้ประโยชน์อะไรจากความรู้นี้ อันนี้มันก็แค่ Passion ครับ
ถ้าเราได้คะแนนสูงในส่วนของสิ่งที่เรารัก และ สิ่งที่โลกต้องการ อันนี้สิ่งที่เรามีเขาเรียกว่า Mission ครับ คือเรารักในงานนั้น และงานนั้นมันช่วยเหลือคน เพียงแต่ว่า เรายังไม่เก่งเรื่องนั้นเลย แถมเรายังไม่ได้รับค่าตอบแทนด้วย มันออกแนวงานช่วยเหลือสังคม ทำเพื่อสาธารณะ ซึ่งไม่ใช่ไม่ดีนะครับ แต่มันยังยึดเป็นอาชีพไม่ได้ และความยั่งยืนมันก็น้อย เราคงทำได้ไม่ตลอด
ถ้าเราได้คะแนนสูงในส่วนของสิ่งที่เราเก่งกับสิ่งที่สร้างรายได้ให้เรา อันนี้เขาเรียกว่าอาชีพ หรือ Profession คือเราเก่งในเรื่องนี้ และเราก็สามารถทำรายได้ในเรื่องนี้ได้มาก แต่มันอาจจะไม่ใช่สิ่งที่เรารักและอาจจะไม่ได้ช่วยเหลือโลกสักเท่าไร ก็เช่นงานประจำของเรานั่นแหละครับ จบบัญชีมา ก็เป็นนักบัญชี เราก็มีความรู้ทางด้านนี้นะ สิ้นเดือนก็ได้เงินเดือน แต่ไม่มีเติมเต็มความต้องการเราเลย วัน ๆ ก็คิดว่า อยากลาออกไปตามฝันอะไรทำนองนั้น
ถ้าเราได้คะแนนสูงในส่วนของสิ่งที่เราได้เงินและสิ่งที่ช่วยเหลือโลก อันนี้เราเรียกว่า วิชาชีพ หรือ Vocation เช่นเราเป็นช่างประปา แน่นอนมีคนต้องการช่างประปาแน่ ๆ เราได้ช่วยเหลือเขา และทุกครั้งที่ช่วยเราก็จะได้รับผลตอบแทนมาด้วย เพียงแต่มันก็อาจจะไม่ใช่ความฝันของเราหรือเราก็อาจจะไม่ได้มีความเชี่ยวชาญอะไรมากนัก
ที่สำคัญคือ รู้แล้ว ทำอย่างไรต่อ
ผมแนะนำอย่างนี้ครับ ถ้างานของเรามันมีคะแนนสูงด้านใดด้านหนึ่งแล้ว พยายามหาทางทำให้อีกด้านที่เหลือสูงตาม (ถ้าเป็นไปได้) เช่น ผมชอบเขียนบทความ ตอนแรกมันอาจจะได้คะแนนสูง ในส่วนงานที่รัก แต่ผมยังไม่เก่ง ผมยังเขียนไม่ตอบโจทย์คนอื่น และผมยังไม่สามารถสร้างรายได้ได้ ผมก็ควรจะเริ่ม ไปฝึกฝนฝีมือการเขียน เช่นไปอ่านหนังสือเทคนิคการเขียน ไปเข้าคอร์สเรียนการเขียน (ตอนนี้ผมก็ยังเรียนอยู่เลยครับ) พอเราเริ่มเก่งขึ้น ผมก็อาจจะเริ่มมามองหาว่า เอ แล้วงานเขียนเรามันจะช่วยเหลือคนอื่นได้อย่างไร พยายามเขียนสิ่งที่ช่วยคนอื่นให้มากที่สุด สุดท้ายก็ลองคิดว่า เอ แล้วจะสร้างรายได้ได้อย่างไร เพราะรายได้นี่แหละครับ ที่จะทำให้เราสามารถใช้เวลาเขียนได้มากขึ้นเรื่อย ๆ เช่น ออกหนังสือ ทำคอร์สสอนการเขียน อะไรแบบนี้ และในที่สุดเราก็จะได้ Ikigai ของเรา
แต่ผมเข้าใจครับว่า บางทีมันก็ไม่ง่าย โดยเฉพาะถ้ามิติที่ขาดไปคือสิ่งที่เรารัก เพราะให้เปลี่ยนสิ่งที่เราเก่ง เป็นสิ่งที่เรารักมันทำได้ยาก แต่ ต้องบอกว่า คำว่ายาก ไม่ได้หมายความว่าทำไม่ได้นะครับ ผมยกตัวอย่างอย่างนี้ครับ สมมุติว่า ผมเป็นหมอที่เก่งมาก แต่ผมเบื่ออาชีพหมอมาก อยากเลิกทำ ลองดูนะครับ ถ้าเราสามารถหาหนทางที่จะคิดค้นวิธีการรักษาโรคร้ายแรงได้สำเร็จ ช่วยชีวิตคนได้เป็นจำนวนมาก (สิ่งที่โลกต้องการ) ซึ่งทำให้เราได้ค่าสิทธิบัตรจำนวนมหาศาล (รายได้) และนำให้เราได้รับรางวัลโนเบล บางทีการเป็นหมอก็อาจจะเป็นสิ่งที่เรารักในที่สุด บางทีการทำสิ่งที่เรารักอาจจะไม่ใช่ทางเลือกเดียวเสมอไปนะครับ
อ้อ แล้วทำไมชื่อเรื่องนี้คือ “ตามหา Ikigai ในเย็นวันศุกร์” ตามหาวันอื่นได้ไหม คำตอบคือ ได้เหมือนกันครับ แต่เย็นวันศุกร์นี่แหละครับที่จะเป็นตัววัดที่ดี ใครที่เย็นวันศุกร์ร่าเริงสุด ๆ แต่พอเย็นวันอาทิตย์กลับมาเหงาหงอยเศร้าสร้อย อย่างนี้แปลว่าเรายังไม่เจอ Ikigai ของเราครับ
ลองค้นหากันดูนะครับ ผมเชื่อว่าทุกคนมี Ikigai ของตัวเองครับ ใครยิ่งพบได้เร็ว ก็ยิ่งโชคดีครับ
อ่านบทความอื่น ๆ ได้ที่ www.NopadolStory.com หรือเข้าร่วมกลุ่ม Line@ ได้ที่ https://line.me/R/ti/p/%40nopadolrompho
No comment yet, add your voice below!