เอาจริง ๆ ไม่มีใครอยากเสียดายเวลาหรือเงินหรอกครับ เราใช้เงิน เราก็อยากจะได้สิ่งตอบแทนที่คุ้มค่า เราใช้เวลาไปกับเรื่องใด เราก็ย่อมหวังว่าเรื่องนั้นจะประสบความสำเร็จ
แต่บางครั้งเราก็อาจจะเลือกไม่ได้ บางทีสิ่งที่เราลงเงิน ลงเวลามาแล้ว ผลลัพธ์กลับไม่ได้เป็นไปอย่างที่คาดหวัง
คำถามคือเราควรจะทำต่อไป หรือควรจะหยุดอยู่แค่นี้
คำถามนี้คือคำถามที่ตอบไม่ง่าย แล้วจริง ๆ ก็คงแล้วแต่กรณี ซึ่งเราต้องมีข้อมูลมากกว่านี้ถึงจะตอบได้ว่าเราควรไปต่อหรือพอแค่นี้
แต่ประเด็นคือ หลายครั้งที่ข้อมูลดูเหมือนกับว่าเราควรจะพอแค่นี้ แต่เรากลับไปต่อ ด้วยเหตุผลสั้น ๆ ว่า “เราเสียดายเวลาหรือเงินที่ลงไปแล้ว”
จริง ๆ เขามีศัพท์เรียกเลยครับ อาการแบบนี้คือการหลงไปกับ “ต้นทุนจม” หรือภาษาอังกฤษเรียกว่า “Sunk Cost”
ต้นทุนจม คือ เงินหรือเวลาที่เราเสียไปเรียบร้อยแล้ว และมันไม่ควรนำมาใช้ในการตัดสินใจว่าเราควรจะทำต่อไปไหม
ผมยกตัวอย่างง่าย ๆ ว่าถ้าเราซื้อหุ้นสักตัวหนึ่ง ต้นทุน 10 บาท ตอนนี้หุ้นตัวนี้มีราคา 8 บาท ถามว่าเราควรขายหรือควรถือต่อ
จะขายหรือถือต่อ มันต้องคิดว่า เราคาดว่าหุ้นตัวนี้ “ในอนาคต” จะขึ้นหรือลง ใช่ครับ ไม่มีใครรู้อนาคต แต่เราก็ต้องพยายามหาข้อมูลมาช่วยตัดสินใจ ถ้าเราคิดว่ามันน่าจะขึ้น เราก็ถือต่อ ถ้าคิดว่ามันน่าจะลง เราก็ควรต้องขาย
แต่หลายคนไม่ขาย ด้วยเหตุผลว่า เดี๋ยวจะขาดทุน เพราะเขากลับไปดูต้นทุนที่ซื้อมาที่ 10 บาท ขาย 8 บาท มันขาดทุนนะ เราถือมาตั้งนาน ไม่เอาล่ะ ถือต่อไปดีกว่า
คุ้น ๆ กันไหมครับ แบบนี้แหละครับที่เราไปยึดติดกับต้นทุนจม ไม่ใช่แค่เรานะครับ ผมเคยเห็นผู้เชี่ยวชาญหลายท่าน พอมีคนมาปรึกษาว่าหุ้นตัวนี้ดีไหม ผมควรซื้อหรือควรขาย คำถามเขาคือ แล้วต้นทุนคุณอยู่ที่เท่าไรล่ะ
ถ้าต้นทุนต่ำกว่าราคาปัจจุบัน ขายเลยครับ แต่ถ้าต้นทุนสูงกว่าราคาปัจจุบัน แนะนำให้ถือต่อ อ้าวกลายเป็นว่าจะขายหรือถือต่อขึ้นอยู่กับสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตไปแล้วซะอย่างนั้น จริง ๆ แล้ว จะขายหรือถือต่อ มันต้องขึ้นกับการคาดการณ์ในอนาคตสิครับ ว่าคิดว่าหุ้นนี้มีโอกาสจะขึ้นหรือลงมากกว่ากัน ไม่ใช่ต้นทุนเราเท่าไร
ผมยกตัวอย่างให้ชัด ๆ นะครับ ถ้าเรารู้ว่าพรุ่งนี้หุ้นตัวนี้จะเจ๊งแน่นอน แบบนี้ เราจะมานั่งถามไหมครับว่าคุณซื้อมาราคาเท่าไร ไม่ถามหรอก เราจะขายทันที ขาดทุนก็ขาย ดีกว่าจะเสียเงินไปเปล่า ๆ จริงไหมครับ แปลว่าต้นทุนที่เกิดขึ้นในอดีตนั้นมันไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องเลย
แต่มันน่าเสียดายนะ เพราะเราถือหุ้นนี้มาตั้งนาน เราลงทุนไปตั้งเยอะ
ลองถามตัวเอง เวลาเราเริ่มมีความเสียดายกับสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตว่า “เราจะเสียดายเงินหรือเวลาที่ผ่านมาในอดีต” หรือ “เราควรจะเสียดายเงินหรือเวลาที่เรากำลังจะเสียไปอนาคต” ดีครับ
ผมไม่ได้บอกว่าแปลว่าเราต้องเลิกทำทุกอย่าง ในทุกกรณี มันขึ้นอยู่กับสถานการณ์ แต่ระวังอย่าให้ความเสียดายเงินเวลาในอดีตเป็นเหตุทำให้เราเสียดายเงินและเวลาที่เราจะเสียเพิ่มอีกมากมายในอนาคตละกันครับ
เหมือนกับที่วอร์เรน บัฟเฟตต์ นักลงทุนระดับโลกเคยบอกว่าไว้ว่า “เมื่อคุณตกอยู่ในหลุม สิ่งแรกที่คุณควรทำหรือหยุดขุดหลุมนั้นให้ลึกลงไปอีก”
ลองนำไปพิจารณากันดูนะครับ
ติดตามผลงานอื่น ๆ ได้ทาง Page Nopadol’s Story หรือ Nopadol’s Story Podcast ใน Podbean Soundcloud Apple Podcast Spotify YouTube หรือ Blockdit
No comment yet, add your voice below!