ปัญหาของหลาย ๆ คนที่เป็นหัวหน้างานคือมีลูกน้องที่ดูเหมือนไม่ค่อยอยากทำงาน ไม่มีความกระตือรือร้น สั่งอะไรไป ก็ไม่ตั้งใจทำ หรือทำมาผิด ๆ ซึ่งปัญหาแบบนี้เป็นกันทั่ว เหตุเกิดเพราะเขาขาดความผูกพันในงานหรือที่เรียกชื่อภาษาอังกฤษว่า Employee Engagement
จริง ๆ ผมว่าไม่มีใครหรอกครับที่อยากทำงานแบบเซ็ง ๆ ไม่สนุก ตัวพนักงานเองเขาก็อยากมีความผูกพันในงานเหมือนกัน แต่มันน่าเบื่อนี่ แล้วจะให้รู้สึกสนุกได้อย่างไร ผมได้มีโอกาสอ่านหนังสือที่ชื่อว่า The Truth about Employee Engagement ซึ่งเขียนโดย Patrick Lencioni เขาพูดถึงปัจจัย 3 ประการที่จะทำให้เรามีความผูกพันในงานเพิ่มมากขึ้น
ปัจจัยแรกคือความมีตัวตน คือ ถ้าเราไปทำงานแล้ว ไม่มีใครรู้จักเราเลย เราจะมาหรือไม่มา ก็ไม่มีใครสน เวลาเขาประชุมกัน เขาก็ไม่เชิญเราเข้าร่วม ไปกินข้าวกลางวันก็ไปคนเดียว ถ้าเป็นแบบนี้ ถามว่าเราอยากจะมาทำงานไหม คำตอบของคนส่วนใหญ่ก็คงจะไม่ ดังนั้นถ้าเราอยากให้ทีมงานเรารู้สึกผูกพันในงาน เราต้องทำให้เขารู้สึกถึงความมีตัวตนให้ได้ เช่น อย่างน้อยหัวหน้างานก็ควรจำชื่อทีมงานให้ได้ จะให้ดี ถ้าเราพอจะรู้จักเรื่องในมุมส่วนตัวของเขา ที่มันไม่ได้เป็นเรื่อง Sensitive เช่น เรารู้ว่าเขาเชียร์ทีมกีฬาอะไร ชอบดูหนังประเภทไหน เวลาพูดคุยกับเขา ก็จะทำให้เขารู้สึกว่าเรารู้จักเขาดี แบบนี้เขาจะรู้สึกถึงความมีตัวตนมากขึ้น และจะทำให้เขาอยากมาทำงานมากขึ้น
ทางฝ่ายของพนักงานก็เช่นกัน ถ้าเราจะรอให้หัวหน้าเรามาคุยกับเราตลอดเวลาก็อาจจะยาก บางทีเราอาจจะต้องเปิดเผยตัวตนมากกว่านี้ เข้าใจครับว่ามีบางคนอาจจะมีลักษณะ Introvert คือไม่ชอบคุยกับใครมากนัก ก็ไม่ต้องถึงกับว่าเราจะต้องพูดคุยตลอดเวลา แต่เราอาจจะต้องเริ่มทักทายคนอื่นบ้าง ยิ้มแย้มบ้าง แบบนี้คนก็อยากจะรู้จักเรามากขึ้น เขารู้จักเรามากขึ้น เราก็รู้สึกว่าเรามีตัวตนมากขึ้น แค่นี้ก็จะช่วยทำให้เราอยากมาทำงานมากขึ้นแล้ว
ปัจจัยที่สองคือการรับรู้ว่างานที่เราทำนั้นไปช่วยเหลือคนอื่นได้อย่างไร ลองนึกภาพอีกครับว่าเราทำงานไป แต่เราไม่รู้ว่างานนั้นทำไปทำไม ส่งผลดีต่อองค์กรอย่างไร เราคงไม่ค่อยอยากทำงานนั้นสักเท่าไร หรือถ้าสมมุติเราไปรู้มาว่างานที่เราทำทั้งวันนั้น จริง ๆ แล้ว ทำไปก็ไม่ได้มีใครเอาไปใช้อะไรเลย แบบนี้ยิ่งไม่อยากทำเลยจริงไหมครับ ดังนั้นคนที่เป็นหัวหน้างานควรจะต้องบอกพนักงานให้ทราบว่างานที่เขาทำนั้นมันทำให้เกิดประโยชน์อย่างไร ถูกนำไปใช้อะไรบ้าง
ในส่วนของพนักงานเองก็สามารถไปถามหัวหน้าหรือเพื่อนร่วมงานก็ได้ หากยังไม่ค่อยชัดเจนว่างานนี้ใครนำไปใช้อะไรอย่างไร เพื่อจะทำให้เรามีความเข้าใจว่างานเรามีความสำคัญ และจะยิ่งดีขึ้นมากถ้าเราสามารถเชื่อมโยงต่อไปได้อีก เช่น นอกจากที่เราทราบว่างานที่เราทำนั้น นอกจากทำให้คนในแผนกอื่นทำงานได้แล้ว ยังส่งผลกระทบต่อชีวิตลูกค้าได้อย่างไร อะไรแบบนี้ จะช่วยทำให้เรามีความผูกพันในงานเพิ่มขี้น
ปัจจัยที่สามคือการวัดผล ถ้าเราทำงานแล้วเราไม่รู้เลยว่าสิ่งที่เราทำนั้นดีไม่ดีอย่างไร เราทำไปไม่เห็นความก้าวหน้าในงาน แบบนี้ เราก็คงไม่ค่อยอยากทำงานนั้นสักเท่าไร ดังนั้นหัวหน้างานควรมีการสร้างตัววัดผลงานที่เหมาะสม โดยการวัดนี้ จุดมุ่งหมายไม่ใช่เพื่อการประเมินผล แต่แค่เป็นการบอกให้รู้ว่าพนักงานทำงานแล้วผลลัพธ์เป็นอย่างไร นึกถึงตอนวิ่งก็ได้ครับ ที่เราวิ่งแล้วมันสนุกขึ้นมาส่วนหนึ่งคือมันมีนาฬิกาในการบอกว่า ตอนนี้วิ่งไปได้แล้วกี่กิโลเมตร ความเร็วเท่าไร อะไรแบบนี้จริงไหม ถ้าวิ่งไปเรื่อย ๆ ไม่รู้ว่าวิ่งได้ไกลแค่ไหน เร็วแค่ไหน เราก็คงเบื่อ
ถ้าหัวหน้าไม่มีอะไรวัดผลการทำงานของเรา ในฐานะพนักงาน เราลองสร้างตัววัดการทำงานของเราขึ้นมาเองก็ได้ครับ เอาที่มันตรงกับงานที่เราทำ เก็บข้อมูลง่าย ๆ ผมเชื่อว่าการทำงานเราจะสนุกมากขึ้นและเราก็จะมีความผูกพันในงานเพิ่มมากขึ้น
ลองนำเอาแนวคิดนี้ไปใช้ในการสร้างความผูกพันในงานของทีมงานรวมทั้งของตัวเราเองกันดูนะครับ
ติดตามผลงานอื่น ๆ ได้ทาง Page Nopadol’s Story หรือ Nopadol’s Story Podcast ใน Podbean Soundcloud Apple Podcast Spotify YouTube หรือ Blockdit
No comment yet, add your voice below!