เวลาที่ลูกเราทำอะไรได้สำเร็จ เช่น เรียนแล้วได้เกรด A หรือสอบเข้าได้ สิ่งที่พ่อแม่มักจะพูดกันก็คือ เก่งมากลูก สุดยอดเลยลูก ซึ่งฟังดูก็น่าจะเป็นเรื่องปกติจริงไหมครับ การชมแบบนี้เป็นการ ชมลูกที่ผลลัพธ์ ซึ่งก็ไม่ได้เป็นเรื่องแปลกอะไร เพราะเมื่อเขาทำอะไรได้สำเร็จ เราก็ควรชื่นชมความสำเร็จของเขาจริงไหมครับ
การชื่นชมความสำเร็จมีข้อดี คือมันเป็นการเพิ่มแรงจูงใจให้กับเขา เขาจะรู้สึกดี เมื่อเขารู้สึกดี เขาก็น่าจะอยากทำสิ่งนั้นอีก ไม่ต้องอะไรไกลครับ ตัวเรานี่แหละ เวลาที่เราทำอะไรสำเร็จ แล้วมีคนมาชมเรา เราก็มักจะปลื้มและมีความสุขจริงไหมครับ
แต่การชื่นชมที่ผลลัพธ์มันก็มีข้อเสียเช่นกัน เพราะส่วนใหญ่แล้ว ผลลัพธ์มักจะไม่ได้อยู่ภายใต้การควบคุมของลูกเราทั้งหมด ดังนั้น เวลาเราชมเขาว่า ลูกเก่งจังเลยที่ได้เกรด 4 หมดทุกวิชา มองอีกมุมหนึ่ง เขาอาจจะแปลความหมายออกมาว่า พ่อแม่จะรักและชื่นชมเรา เมื่อเราได้เกรด 4 แต่ถ้าเราไม่ได้เกรด 4 พ่อแม่อาจจะรักเราน้อยลง
พอเขาคิดแบบนี้ เขาจะเริ่มไม่กล้าทำอะไรที่ยากและท้าทายแล้วครับ ถ้าเป็นวิชาเลือก เขาก็อาจจะเลือกวิชาที่ให้เกรดง่าย มากกว่าวิชาที่เขาอยากเรียน วิชาไหนยาก ๆ ถึงแม้ว่าจะเป็นประโยชน์ เขาก็อาจจะพยายามหลีกเลี่ยง ส่วนหนึ่งมันเริ่มมากจากคำชมที่เราไปเน้นเฉพาะผลลัพธ์ที่เขาได้นี่แหละครับ
เราสังเกตนักกีฬาก็ได้ครับ มีนักกีฬาบางคนที่เวลาได้รับเหรียญทองโอลิมปิกแล้ว เขาจะหลีกเลี่ยงที่จะลงแข่งในรายการที่ง่ายกว่าโอลิมปิก เช่น ซีเกมส์ หรือ เอเชี่ยนเกมส์ แล้ว เหตุผลเพราะว่า เขากลัวที่จะเสียหน้า กลัวที่จะไม่ได้รับเหรียญ ส่วนหนึ่งก็เกิดจากการที่เขาได้รับการยกย่องว่าเขาคือระดับสุดยอดของโลกแล้ว มันเป็นการยกย่องที่ผลลัพธ์ของเขา
สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อมา คือเมื่อเขาไม่ได้ลงแข่งในรายการอื่น ๆ ฝีมือเขาก็ตกลง เพราะโอลิมปิกมันมีแค่ครั้งเดียวในรอบ 4 ปี นักกีฬาเหล่านี้จึงมักจะประสบความสำเร็จแค่ครั้งเดียว และก็จะหายไปเลย จะเรียกว่าดังแบบพลุก็ได้ครับ คือทีเดียวแล้วจบเลย
ต่างจากนักกีฬาระดับตำนาน คนกลุ่มนี้มาถึงจุดสูงสุดเหมือนกัน ได้เหรียญทองโอลิมปิกเหมือนกัน แต่เขาก็ยังกลับมาแข่งในรายการที่ดูไม่ได้ยิ่งใหญ่เท่าโอลิมปิกต่อไปอีก อาจจะมีบางครั้งที่เขาแพ้ แต่นั่นไม่ใช่ปัญหา เขายังฝึกฝน พัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง และก็เป็นคนกลุ่มนี้แหละครับ ที่มักจะกลับไปยิ่งใหญ่ได้อีกหลายรอบ จนกลายเป็นตำนานนั่นแหละครับ
แล้วถ้าการชมที่ผลลัพธ์มันมีข้อเสียอยู่ แบบนี้แปลว่า เวลาลูกเราทำอะไรสำเร็จ เราไม่ควรชมเลยหรือ ไม่ใช่ครับ เราชมได้ แต่เราควรชมที่ความพยายามของเขาครับ Carol Dweck ซึ่งเป็น Professor ที่ Stanford แนะนำในหนังสือ Mindset ไว้ว่า การชื่นชมความพยายาม จะทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า Growth Mindset หรือกรอบแนวคิดที่ทำให้เราเติบโต
ลองคิดดูนะครับ สมมุติว่าลูกเราได้เกรด 4 มา แล้วเราบอกลูกว่า พ่อหรือแม่ชื่นชมในความพยายามของลูกมาก ๆ นะ ลูกเราจะรับทราบว่าสิ่งที่พ่อกับแม่ของเขาให้คุณค่า คือความพยายามของเขา ไม่ว่าเขาจะได้เกรดอะไรก็ตาม ถ้าเขาพยายามเต็มที่แล้ว พ่อแม่ชื่นชมเสมอ แบบนี้ เขาจะไม่กลัววิชาที่ยาก ถ้าเขาอยากเรียน เขาจะเรียน เพราะตราบใดก็ตาม ถ้าเขาพยายาม พ่อแม่ชื่นชมเขาแน่ ๆ
คนที่มีกรอบแนวคิดแบบนี้มักจะเป็นประสบความสำเร็จได้ง่ายกว่า กรอบแนวคิดที่เรียกว่า Fixed Mindset ที่คิดว่าความพยายามไม่ได้มีความสำคัญใด ๆ เราเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้หรอก เอาเป็นว่า ถ้าวันหลังจะชมลูก ลองปรับมาชมความพยายามของเขาให้มากขึ้นกว่าการไปชื่นชมที่เน้นผลลัพธ์อย่างเดียวนะครับ
ติดตามผลงานอื่น ๆ ได้ทาง Page Nopadol’s Story หรือ Nopadol’s Story Podcast ใน Podbean Soundcloud Apple Podcast Spotify YouTube หรือ Blockdit
No comment yet, add your voice below!