ปัจจัยที่จะทำให้ชีวิตเรามีความสุขมักจะหนีไม่พ้น 3 สิ่งนี้คือ มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง มีเงิน และมีเวลาอิสระที่จะทำอะไรก็ได้ ถ้าใครมี 3 อย่างนี้พร้อมกัน โอกาสที่เราจะมีความสุขก็สูงขึ้น
แต่ความยากคือในแต่ละช่วงชีวิตเรา ปัจจัยทั้ง 3 ประการนี้มักจะมาไม่พร้อมกัน ตอนที่เราเด็ก ๆ อยู่ เรามักจะมีสุขภาพแข็งแรง และมีเวลา แต่เราก็มักจะไม่ค่อยมีเงินสักเท่าไร ต่อมาเราเติบโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ทำงาน ในตอนนั้นสุขภาพเราก็ยังแข็งแรงอยู่ เงินก็เริ่มมีพอสมควร แต่เรากลับไม่มีเวลา เพราะต้องมัวยุ่งอยู่กับการทำงาน
ต่อมาเราแก่ตัวลง อาจจะเกษียณแล้ว ตอนนั้นเราอาจจะมีเงินแล้ว เวลาก็มีเยอะแล้ว เพราะไม่ต้องทำงานอีกแล้ว แต่สุขภาพร่างกายอาจจะเริ่มถดถอย ไม่แข็งแรงเหมือนเมื่อก่อนอีกแล้ว
ลองดูตัวอย่างนี้ก็ได้ครับ สมมุติว่าความฝันของเราก็คือการเดินทางไปเที่ยวทั่วโลก ตอนเด็ก ๆ เราเดินทางไปได้สบายเลย เวลาก็มี แต่การเดินทางไปเที่ยวต้องใช้เงินเยอะ เรายังไม่มีเงินก็เลยอดไป ต่อมาเราทำงาน เป็นผู้ใหญ่แล้ว เงินเดือนก็มี ร่างกายก็แข็งแรงเดินทางได้ไม่มีปัญหา แต่ตอนนั้นอย่าว่าลางานไปเที่ยวทั่วโลกเลย แค่วันเสาร์อาทิตย์ หัวหน้ายังตามไปทำงานอยู่เลย จะเอาเวลาที่ไหนไปเที่ยว
ต่อมาเกษียณอายุเรียบร้อย มีเงินเก็บมากทีเดียวจากการที่ขยันทำงานมานาน และแทบไม่ได้ไปเที่ยวที่ไหน เวลาใช้เงินยังไม่มีเลย เวลาตอนนี้ก็มีเหลือเฟือเพราะว่าเกษียณมาแล้วเรียบร้อย แต่ปัญหาคือไม่มีแรงไปแล้ว สุขภาพอาจจะไม่เอื้ออำนวยในการไปเที่ยวแบบที่ผจญภัยหน่อย ต้องใช้แรงมากหน่อย
สรุปแล้วทั้งชีวิตก็เลยไม่ได้ทำอะไรตามที่ฝันไว้เลย
แล้วเราจะทำอย่างไรดี เพราะถ้าจบแค่นี้ ก็แปลง่าย ๆ ว่าต้องรับสภาพ ซึ่งก็คงไม่มีประโยชน์สักเท่าไร
เนื่องจากผมเป็นคนชอบวิชาคณิตศาสตร์ ผมเลยขอเปรียบเทียบความสุขโดยใช้ตัวเลขมาอ้างอิงแล้วกันนะครับ คือความสุขของเราจะมากที่สุดได้เท่าที่ปัจจัยที่มีค่าน้อยที่สุดใน 3 ปัจจัยดังกล่าว
เช่น ถ้าสมมุติว่าแต่ละปัจจัยคะแนนเต็ม 100 (100 แปลว่าดีที่สุด 0 แปลว่าแย่ที่สุด) ดังนั้นถ้าเรามีแรง 100 คะแนน มีเงินเต็ม 100 แต่มีสุขภาพแค่ 10 แบบนี้ความสุขเราจะอยู่แค่ระดับ 10 เท่านั้น เพราะต่อให้มีแรง มีเงิน แต่สุขภาพไม่เอื้ออำนวย เราก็จะได้ความสุขเท่าที่สุขภาพเราไปได้
ถ้ามองเห็นประเด็นนี้แล้ว เราจึงทำให้ปัจจัยที่มีคะแนนที่น้อยที่สุดมีคะแนนเพิ่มขึ้น โดยโยกคะแนนมาจากปัจจัยที่ได้คะแนนมาก ๆ นั่นเอง เพราะอย่างตัวอย่างข้างต้น แทนที่จะมีแรง 100 มีเงิน 100 แล้วมีสุขภาพแค่ 10 (คะแนนรวมทั้ง 3 ปัจจัย 210) ซึ่งเราจะมีความสุขเพียงแค่ 10 แต่ถ้าเรามีแรง 70 มีเงิน 70 และมีสุขภาพ 70 (คะแนนรวมทั้ง 3 ปัจจัยยังคงเป็น 210 เท่าเดิม) แต่แบบนี้เราจะมีความสุขรวมเพิ่มขึ้นเป็น 70 เลย
เราลองมาวิเคราะห์ในแต่ละช่วงเวลากันดีกว่าครับ ถ้าเรายังเด็ก ๆ อยู่ ปัจจัยเรื่องแรง ได้เต็ม 100 เลย คือมีพลังเหลือเฟือ เรื่องเวลาอาจจะได้คะแนนเต็ม 100 เหมือนกัน เพราะยังแทบไม่ต้องมีอะไรต้องรับผิดชอบมากนัก ส่วนเงินอาจจะได้แค่ 10 คะแนน เพราะตอนนั้นยังไม่มีรายได้เลย แบบนี้ความสุขรวมจะอยู่แค่ 10 เอง จริงไหมครับ
กลยุทธ์ที่เป็นไปได้ คือช่วงเด็ก ๆ เราลองเอาเวลาและพลังแรงกายมาสร้างรายได้กัน (อันนี้ไม่ได้รวมถึงเด็กมาก ๆ ที่อยู่ในวัยเรียนนะครับ เพราะอันนั้นคงผิดกฎหมายเรื่องการใช้แรงงานเด็ก) เช่นคนที่เพิ่งเริ่มทำงาน เราอาจจะหารายได้จากงานที่ 2 งานที่ 3 ใช้เวลาวันหยุดมาหารายได้ เพื่อเพิ่มปัจจัยเรื่องเงินเพิ่มขึ้น และเราจะได้สามารถใช้เงิน แรง และเวลาที่มีไปสร้างความสุขในชีวิต
ต่อมาเราอยู่วัยกลางคน เป็นผู้ใหญ่ ตอนนี้เรามีเงิน ยังมีแรงอยู่ แต่ไม่มีเวลา กลยุทธ์คือพยายามเอาเงินที่มีไปแลกเวลาคืนมา อะไรที่พอจะจ้างคนอื่นที่เชี่ยวชาญในงานนั้น ๆ ได้ลองจ้างดู แบบนี้เราจะมีเวลาเพิ่มขึ้นสมดุลกับเงินและแรงที่เรามี ความสุขในชีวิตก็จะเพิ่มขึ้น อีกอย่างการที่เรามีเวลาเพิ่มขึ้นแล้ว (เพราะเอาเงินไปจ้างให้คนอื่น ๆ ทำงานแทนเรา) เอาเวลามาดูแลสุขภาพเราด้วยนะครับ เพราะเราจะมีอายุเพิ่มมากขึ้นเรื่อย สุขภาพต้องการการลงทุนในระยะยาว
พอเราแก่ตัวลง เงินมี เวลามี แต่สุขภาพเริ่มจะไม่ค่อยดีเหมือนเดิม กลยุทธ์ตรงนี้คือพยายามใช้เงินที่มีดูแลสุขภาพ เอาเวลาที่มีออกกำลังกาย และถ้าตอนเราอยู่วัยกลางคน เราดูแลสุขภาพเรามาตลอด สุขภาพเราก็น่าจะยังดีอยู่ระดับหนึ่งเช่นกัน แบบนี้ความสุขเราก็จะน่าจะอยู่ระดับที่สูงอยู่
ข้อแนะนำแบบนี้เป็นแบบภาพรวมนะครับ ชีวิตแต่ละคนอาจจะแตกต่างกัน ไม่จำเป็นต้องเป็นตามแบบแผนนี้เท่านั้น ลองถามตัวเองดูว่า แรง เงิน เวลา ตอนนี้เราขาดอะไรอยู่ พยายามเอาสิ่งที่เรามีอยู่เยอะมาใช้เพื่อเพิ่มปัจจัยที่มีน้อยที่สุด แค่นี้ผมก็เชื่อว่าเราจะสามารถยกระดับความสุขเราได้ระดับหนึ่งแล้วล่ะครับ
ติดตามผลงานอื่น ๆ ได้ทาง Page Nopadol’s Story หรือ Nopadol’s Story Podcast ใน Podbean Soundcloud Apple Podcast Spotify YouTube หรือ Blockdit
No comment yet, add your voice below!