นี่คืองานในฝัน

ทุกคนก็คงอยากทำ “งานในฝัน” ว่าแต่ว่า งานในฝัน มันคืออะไรนะ เป็น หมอ วิศวกร สถาปนิก นักธุรกิจ หรืออะไร ถ้าถามแบบนี้ คำตอบก็คือ “มันก็แล้วแต่ความชอบ” และบทความนี้ก็คงจบลงตรงนี้ 555

แต่ผมขอตอบ “ลักษณะ” ที่เป็นน่าจะเป็นภาพรวมดีกว่านะครับ แล้วท่านที่สนใจลองคิดถึงงานที่ตัวเองกำลังทำอยู่ ให้คะแนน 1-10 ก็ได้ในแต่ละปัจจัยของงานในฝันอันนี้

Idea มาจากการอ่านหนังสือครับ เล่มหลัก ๆ ก็คือหนังสือที่ชื่อว่า Unscripted เขียนโดย MJ DeMarco และ Scott Thomas ครับ (ใครสนใจไปหาอ่านกันได้นะครับ เขียนมันมาก) แต่ก็ใส่ความเห็นส่วนตัวเข้าไปด้วยเช่นกัน เพื่อให้มันครบถ้วนมากที่สุดครับ

ปัจจัยที่ 1 งานนั้นมีความเป็นอิสระสูง

ปัจจัยอันนี้สำคัญมากนะครับ ผมเชื่อว่างานในฝันของคนส่วนใหญ่ คืองานที่เรามีอิสระเสรีที่จะทำอะไรก็ตาม อย่างที่เราต้องการ และนี่เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนที่ทำงานประจำ อยากออกมาทำกิจการของตัวเอง เพราะเขาเชื่อว่า การทำธุรกิจเอง จะมีอิสระมากกว่าการทำงานประจำ เช่น เวลาเข้างาน มันก็ขึ้นกับเรา ไม่ใช่ว่าต้องไปให้ทัน 8 โมงเช้า เวลาเลิกงานก็อยู่กับเราอีก ไม่จำเป็นต้องอยู่ให้ถึง 5 โมงเย็น (หรืออาจจะดึกกว่านั้น) และถึงแม้ว่า บางทีการทำกิจการของตัวเอง อาจจะใช้เวลาทำงานมากกว่าทำงานประจำซะอีก แต่เขาก็ยังรู้สึกดีกว่า เพียงเพราะว่า เขารับรู้ว่า เขา “มีอิสระ” ที่จะเริ่ม หรือ เลิกเมื่อไรก็ได้

แต่สังเกตไหมครับ พอทำไปสักระยะหนึ่ง กิจการเริ่มดี เริ่มมีลูกน้องเข้ามา “ความเป็นอิสระ” มันจะเริ่มลดลง ไอ้ที่บอกว่าจะเริ่มเมื่อไร เลิกเมื่อไร ก็เริ่มยากขึ้น เพราะลูกน้องอาจจะรองานเราอยู่ ลูกค้ารอว่าเมื่อไรจะส่งของ หรือแม้กระทั่งอยากจะเลิกทำ ก็ไม่ง่ายเหมือนตอนแรก เพราะกลัวลูกน้องจะลำบาก จะตกงานอีก พอถึงตรงนั้น การทำธุรกิจมันก็อาจจะไม่ใช่งานในฝันอีกต่อไปก็ได้

ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร ลองนึกถึงงานที่ท่านทำปัจจุบันดูสักหน่อยครับว่า ท่านมีอิสระอยู่ในระดับใด เรากำหนดเนื้องาน เวลางาน ด้วยตัวเองได้มากเท่าไร ยิ่งมาก ก็ยิ่งแสดงว่างานนั้นมีแนวโน้มที่จะเป็น “งานในฝัน” มากขึ้น

ปัจจัยที่ 2 งานนั้นตรงกับความเชี่ยวชาญของเรา

งานในฝันของคนส่วนใหญ่ ก็คงเป็นงานที่มันตรงกับความรู้ความสามารถของเรา คือเอาง่าย ๆ ก็คืองานที่เราทำได้ดีมาก ๆ นั่นแหละ ลองคิดภาพว่าถ้าเราเป็นนักเขียน แต่เขียนแล้ว ขายหนังสือได้ 50 เล่ม แบบนี้ เราคงอยากเลิกเขียนจริงไหมครับ แต่ถ้าเราเชี่ยวชาญ เราเขียนได้ดี เขียนแล้ว มันคนรู้จักจำนวนมาก ขายหนังสือได้เป็นแสน ๆ เล่ม ผมเชื่อว่างานนั้นก็คงเป็นงานในฝันของเราอีกเช่นกัน เราทำเรื่องใดได้ดี แล้วมันตรงกับงานที่เราทำ อันนี้ก็งานในฝันชัด ๆ เลย

คราวนี้ลองคิดถึงงานที่ท่านทำอยู่ในปัจจุบันดูครับว่า ท่านมีความเก่งในงานนั้นระดับใดนะครับ

ปัจจัยที่ 3 งานนั้นให้ความหมายกับคนจำนวนมาก

อันนี้หมายถึงว่า งานนั้นมันทำให้เกิดประโยชน์สร้างคุณค่าให้กับคน ยิ่งมากยิ่งดีครับ เคยเห็นไหมครับ บางคนที่เขาทำงานที่ไม่ค่อยได้ค่าตอบแทนมากสักเท่าไร จะว่าเป็นงานอิสระก็ไม่ใช่ ต้องทำโน่นนี่เยอะแยะไปหมด แต่เขาก็ดูมีความสุขดี เพราะงานเหล่านั้นมันเป็นงานที่ตรงกับ Value ของเขา เช่น คนที่ทำงานเกี่ยวกับการศึกษา เกี่ยวกับการแก้ปัญหาความยากจน เกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติ อะไรทำนองนี้

ผมไม่ได้หมายความแค่ว่าเป็นงานการกุศลเท่านั้นนะครับ งานประเภทอื่น ๆ ที่มันตรงกับ Value ของเรา มันช่วยเหลือให้ชีวิตความเป็นอยู่ของคนดีขึ้น นักพูดสร้างแรงบันดาลใจจำนวนไม่น้อย เขารักงานเขามาก เพราะหลังจากที่เขาพูด ก็มีคนมาบอกเขาว่า พี่ทำให้ชีวิตผมเปลี่ยนไปเลยนะ มันทำให้ชีวิตผมดีขึ้นเยอะมาก อะไรแบบนี้ ถึงแม้ว่าการพูดนั้นอาจจะไม่ได้ค่าตอบแทนมากมาย แต่ถ้าเขารับรู้ว่าเขามีส่วนช่วยทำให้สังคมดีขึ้น งานนี้มันก็เป็นงานที่จัดว่าเป็นงานในฝันอีกเช่นกัน

คราวนี้ลองคิดถึงงานของเราดูครับว่า งานที่เราทำอยู่ในขณะนี้มีส่วนช่วยเหลือสังคม หรือตรงกับ Value เรามากแค่ไหนนะครับ

ปัจจัยที่ 4 งานนั้นสร้างรายได้ให้กับเราได้ดี

งานในฝัน จะไม่มีเรื่องเงินมาเกี่ยวข้องเลย ก็คงแปลก เงินก็คงเป็นปัจจัยหนึ่งที่หนีไม่พ้นครับ เพราะส่วนใหญ่แล้ว คนก็ยังต้องการเงิน เพื่อไปใช้ดำเนินชีวิตอยู่ และก็คงจริงครับว่า งานที่ให้รายได้ดี ๆ ถึงแม้ว่าจะมีข้อที่ 1-3 ข้างต้นน้อย ก็ยังจัดได้ว่าเป็นงานที่คนส่วนใหญ่ชื่นชอบอีกเช่นกัน เช่น งานที่มีเวลาเข้างานชัดเจน (ไม่เป็นอิสระ) ไม่ค่อยได้ตรงกับความเชี่ยวชาญเราเท่าไร แถมไม่ค่อยได้เกี่ยวกับ Value ของตัวเรา แต่ถ้าเขาให้เงินเดือนเราเดือนละล้าน ผมก็เชื่อว่าหลายคนก็ยังอยากทำงานนี้อยู่ เพราะเงินนี่แหละครับที่เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้วันหนึ่ง เราจะสามารถออกไปหางานที่มีลักษณะในข้อที่ 1-3 ได้ในที่สุด

ลองคิดถึงงานเราดูครับว่า มันตอบโจทย์เรื่องนี้ได้มากน้อยเท่าไร

ถ้าใครคิดดูทั้ง 4 ข้อข้างต้นแล้ว มันมีแต่คำว่า “ใช่เลย” ท่านเจองานในฝันของท่านแล้วล่ะ แต่ถ้าใครที่ตอบว่าใช่บางข้อ ไม่ใช่บางข้อ ก็พยายามมองหาทางดูครับ เช่น งานไม่มีอิสระเลย แต่เงินดีนะ ก็ลองคิดขยับขยายดู เก็บเงินสักหน่อย แล้วมองหางานที่ตอบโจทย์เรื่องความเป็นอิสระได้มากขึ้น หรืองานนี่มันตรงกับความเชี่ยวชาญเราเลย แต่เงินน้อย ก็อาจจะต้องลองหาหนทางในการสร้างรายได้จากความเชี่ยวชาญของเราให้มากขึ้น

แต่ถ้าพบว่า คำตอบคือไม่ใช่สักข้อ ถามตัวเองดี ๆ ครับ ว่าเรายังจะทำงานนี้ต่อไปเพื่ออะไรนะครับ

อ่านบทความอื่น ๆ ได้ที่ www.NopadolStory.com หรือเข้าร่วมกลุ่ม Line@ ได้ที่ https://line.me/R/ti/p/%40nopadolrompho

 

Recommended Posts

No comment yet, add your voice below!


Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *