นักเขียนคนหนึ่งที่ผมชอบงานเขียนเขามาก ๆ คือ Nassim Nicholas Taleb ผู้เขียนหนังสือระดับ Best Seller หลายเล่ม เช่น Fooled by randomness และที่ดังมาก ๆ คือเรื่อง Black Swan ซึ่งเขาได้อธิบายเรื่องเกี่ยวกับว่าเหตุการณ์เดียวที่เกิดขึ้น มันจะเปลี่ยนสิ่งที่เป็นมาทั้งหมดได้เลย
แต่ที่อยากเขียนถึงในงานเขียนนี้คือผลงานเล่มที่ 4 ของเขาครับ คือหนังสือชื่อ Antifragile ซึ่งผมได้อ่านมานานพอสมควรแล้ว และหาโอกาสมาเขียนเล่าให้ฟังไม่ได้สักที
เริ่มจากความหมายก่อนครับ คำว่า Fragile มันแปลเป็นไทยว่า “เปราะบาง” อะไรทำนองนี้ใช่ไหมครับ มันเหมือนกับเรื่องความเสี่ยงที่เราอาจจะเจอ สมมุตินะครับว่าเราเปิดร้านขายกาแฟ ถ้าเราทำไม่ดี เช่น ชงกาแฟไม่อร่อย สุดท้ายลูกค้าไม่เข้าร้าน เราก็เจ๊ง แบบนี้แสดงว่าเรามีจุดเปราะบางอยู่
คนส่วนใหญ่จะมักจะพยายามลดจุดเปราะบางนี้ลง เช่น เราก็ต้องพยายามไปฝึกชงกาแฟให้เก่ง ๆ หรือก่อนที่จะนำกาแฟไปเสริฟ อาจจะต้องมีคนคอยควบคุมคุณภาพ หรือแม้กระทั่งหากลูกค้าไม่พอใจในรสชาติกาแฟ เราก็จะไม่เก็บเงินลูกค้า อะไรทำนองนี้ใช่ไหมครับ
คนส่วนใหญ่จึงคิดว่าคำที่ตรงข้ามกับคำว่า เปราะบาง (Fragile) คือคำว่าทนทาน (Robust) แปลว่า เราจะทำอย่างไรก็ได้ ที่ทำให้ข้อผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นนั้น ส่งผลเสียกับเราน้อยที่สุด นี่คือหลักการที่คนทั่วไปใช้ในการดำเนินธุรกิจ หรือแม้กระทั่งดำเนินชีวิต
แต่ Taleb มาเหนือชั้นกว่านั้นครับ คือเขาบอกว่าจริง ๆ คำที่น่าจะตรงข้ามกับคำว่าเปราะบาง (Fragile) น่าจะเป็นคำว่า Antifragile ซึ่งผมไม่รู้จะแปลเป็นคำไทยว่าอย่างไรดี คือ Antifragile มันไม่ใช่ความทนทานต่อความผิดพลาด (Robust) นะครับ มันกลับทางเลย คือยิ่งมันพลาด มันยิ่งดี
อะไรนะ มันมีเหตุการณ์แบบนี้ด้วยเหรอ มีครับ เอาสมมุติอย่างนี้แล้วกันครับ บทความที่ผมกำลังเขียนนี้ ถ้าผมเขียนได้ดี เผอิญท่านนายกมาอ่านเจอ แล้วไปบอกตอนคุยกับนักข่าวว่า บทความนี้ดีมากไปอ่านกันซะ แบบนี้ บทความผมก็ประสบความสำเร็จ เพราะต้องมีคนมาอ่านมาแชร์กันมหาศาลใช่ไหมครับ
แล้ว Antifragile คืออะไร คืออย่างนี้ครับ ถ้าสมมุติท่านนายกอ่านเสร็จแล้ว ไม่ถูกใจ และบอกนักข่าวว่า พวกคุณอย่าไปอ่านบทความนี้นะ เขียนอะไรไม่ได้เรื่องเลย แย่มาก ๆ เดี๋ยวผมจะแบน ไม่ให้คนอ่านบทความนี้ ถามว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับบทความนี้ที่ผมเขียนครับ
ไม่ใช่ว่า พอท่านนายกบอกห้ามอ่าน (ซึ่งมันคือสิ่งที่มันไม่น่าจะดีกับบทความผมใช่ไหมครับ เพราะบทความนี้ในสายตาของท่านอาจจะไม่ได้เรื่อง) คนก็จะไม่อ่าน ไม่สนใจ แต่ตรงกันข้าม ผมว่าบทความนี้จะดังมาก ๆ เผลอ ๆ ดังกว่า บทความที่ท่านนายกแนะนำให้อ่านด้วยซ้ำ อารมณ์แบบนี้แหละครับที่เรียกว่า Antifragile หรือเข้าข่ายว่า “ยิ่งแย่ ยิ่งดี” นั่นแหละครับ
ก็เหมือนกับดาราเหมือนกันครับ เคยได้ยินมาว่าดาราหลาย ๆ คน ถึงกับบอกว่า มีข่าวซุบซิบในทางเสียหาย บางครั้งมันดีกว่าไม่มีข่าวอะไรเลยซะด้วยซ้ำ ซึ่งจริง ๆ ดูเหมือนแปลก เพราะข่าวซุบซิบในทางเสียหาย มันไม่น่าจะดีใช่ไหมครับ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ดาราเหล่านั้นกลับได้พื้นที่ในสื่อ และก็เป็นที่มาของความสนใจที่เพิ่มสูงขึ้น และหลาย ๆ ครั้ง ทำให้เขาได้งานเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก
เพียงแต่ว่า อย่าให้มันมากเกินไปเท่านั้น เช่น เรื่องบทความ อย่าให้มันล่อแหลมถึงขนาดผิดกฏหมาย (แบบนั้นรับรองว่าแย่แน่ ๆ ) หรือข่าวซุบซิบดาราอย่างให้มันกลายเป็นเรื่องผิดศีลธรรมอย่างรุนแรง (แบบนั้นรับรองว่างานหายหมดแน่)
ที่อยากต่อยอดคือ ทุกคนเวลาทำอะไรแล้ว บางทีเรากลัวความล้มเหลว เพราะเราเชื่อว่าความล้มเหลวมันเป็นสิ่งที่ไม่ดีต่อเรา แต่พออ่านหนังสือเล่มนี้แล้ว บางทีพบว่า หลาย ๆ ครั้ง ความล้มเหลวนั้นนอกจากช่วยสอนเราแล้ว บางทีมันดีกับเราซะด้วยซ้ำ
คราวนี้ ที่อยากฝากให้คิดต่อคือ ในอาชีพของเรานั้น ความล้มเหลวคืออะไร ที่สำคัญคือความล้มเหลวนั้นมันให้ผลดีกับเราอย่างไรได้บ้าง มันจะได้เข้าข่าย Antifragile อย่างที่ผมเล่าให้ฟัง
แหมอยากให้ท่านนายกแบนบทความนี้จริง ๆ เลยครับ 555
อ่านบทความอื่น ๆ ได้ที่ www.NopadolStory.com หรือเข้าร่วมกลุ่ม Line@ ได้ที่ https://line.me/R/ti/p/%40nopadolrompho
No comment yet, add your voice below!