ทำอย่างไร ถ้าเขียนอะไรไม่ออก (Writer’s Block)

ผมเขียนเรื่องนี้มา เพราะเหตุว่าระยะหลัง เริ่มมีอาการแบบนี้เกิดขึ้นเรื่อย ๆ วันนี้ก็เลยคิดว่า จะเขียนอะไรดีนะ ก็ตอบได้ว่า เรื่องนี้แหละ เพราะคิดว่าถ้าเราเป็นคนอื่นอาจจะเป็นเหมือนกัน

อาการ Writer’s Block คืออาการที่เราอยากจะเขียน แต่ไม่รู้จะเขียนอะไร หรืออาจจะไม่อยากเขียน แต่ต้องเขียน แต่ก็ไม่รู้จะเขียนอะไรเช่นเดียวกัน

ตรงนี้คงไม่ต้องอธิบายกันมาก เพราะถ้าใครเป็นนักเขียน หรือ ชอบเขียนคงจะมีประสบการณ์มาไม่มากก็น้อย

ส่วนตัวผม เดี๋ยวนี้ลามมาเป็น Podcaster’s Block ด้วย เพราะดันจัด Podcast Nopadol’s Story ทุกวัน มันจะมีบางวัน ที่นั่งอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ แล้วคิดในใจว่า เอ วันนี้จะพูดอะไรดีนะ อาการเหมือน Writer’s Block นั่นแหละครับ

เลยขอเอาเทคนิคส่วนตัวมาแบ่งปันด้วยละกันครับ ผมแก้อาการแบบนี้ ตามนี้ครับ

1. อ่านหนังสือหรือบทความ

วิธีนี้ง่ายสุดครับ เวลาเราเขียนไม่ออก ส่วนใหญ่มันมาจากการที่เรามี Input น้อย เพราะฉะนั้นวิธีแก้ที่ตรงไปตรงมาสุด คือต้องเพิ่ม Input จากการอ่านครับ แต่วิธีนี้ ข้อจำกัดคือบางทีมันใช้เวลานาน เช่น ถ้าต้องอ่านหนังสือ มันก็ต้องใช้เวลาพอสมควรล่ะ ถ้าอยากได้เร็ว ๆ หน่อย อาจจะต้องเป็นอ่านบทความแทน แต่ต้องบอกว่า วิธีนี้ใช้ได้ผลมากจริง ๆ ครับ

2. ออกกำลังกาย

อะไรนะ อยากเขียนนะ ไม่ใช่อยากลดน้ำหนัก ไปออกกำลังกายทำไม ใจเย็น ๆ ครับ ถ้าไม่เชื่อลองดูครับ ผมเคยแบบคิดว่าจะเขียนอะไรดี แต่คิดไม่ออก ผมก็ออกไปวิ่งครับ เชื่อไหมครับ พอผมไปวิ่งได้สักพัก Idea มาจากไหนไม่รู้ พรั่งพรูมาเลย แต่ก็วิ่งจนจบตามที่วางแผนไว้นะ กลับเข้ามา รีบเปิดคอมพิวเตอร์ แป๊บเดียวเขียนเสร็จเลย อันนี้ก็อยากลองทำกันดูครับ

3. ฟัง Podcast

ต้องบอกว่า ตอนนี้ Podcast ได้รับความนิยมมาก ๆ ครับ มีหลาย ๆ ช่องที่น่าสนใจ บางที การไปฟัง Podcast ทำให้เราได้ Idea หรือหัวข้อใหม่ ๆ ที่จะทำให้เราสามารถนำไปต่อยอดพูดต่อมากมาย ลองเข้าไปดูชื่อตอนใน Podcast รับรองได้ว่าจะได้ Idea ที่หลากหลายเลยล่ะครับ

4. ตอบคำถามที่มีคนถามมา

ผมโชคดีที่จัด Podcast แล้วมีคนสอบถามเรื่องต่าง ๆ มามากพอสมควร ก็เลยสามารถเอาคำถามที่คนถามนั่นแหละครับ มาเป็นหัวข้อในการเขียน บทความนี้ก็เป็นตัวอย่างครับ ตอนแรกก็จากการที่มีคนถามมาว่า ถ้าเขียนอะไรไม่ออก อาจารย์ทำอย่างไร จนกลายเป็นหัวข้อที่ผมไปคุยใน Podcast และเลยมาเป็นการเขียนบทความนี้เช่นกัน แต่ถ้าใครยังไม่มี คนถามมามากนัก เราเข้าไปใน Page หรือ Group อะไรก็ได้ที่มีคนเยอะ ๆ แล้ว ไปอ่านคำถามเหล่านั้นดู ได้ Idea ดี ๆ อีกเพียบครับ

5. ติดตามกระแสข่าวสารต่าง ๆ 

อ่าน Facebook ตาม Twitter บ่อย ๆ เราจะเห็นว่า ชั่วนี้ เขาชอบคุยเรื่องอะไรกัน เราก็สามารถดึงเอาหัวข้อเหล่านั้นมาเป็นหัวข้อในการเขียนของเราก็ได้ครับ แต่ทำใจหน่อยนะครับ บทความแบบนี้ มันจะอยู่ในความสนใจแค่ระยะเวลาที่กระแสนั้นยังมีอยู่เท่านั้น แป๊บเดียวมันจะค่อย ๆ จางหายไปครับ แต่ถ้าไม่สนใจ ขอให้ได้แค่เขียน และมีคนอ่าน ก็ลุยได้เลยครับ

6. เริ่มเขียน

ข้อนี้ดูย้อนแย้งสักหน่อยครับ ก็มันไม่รู้จะเขียนอะไร แล้วจะให้เขียนได้อย่างไร คืองี้ครับ เวลาเราไม่รู้จักเขียนอะไร มันเหมือนเครื่องที่มันกำลังติด ๆ ดับ ๆ น่ะครับ สิ่งที่เราต้องการคือการวอร์มเครื่อง ดังนั้น ลองแบบนี้ครับ เวลาไม่รู้จะเขียนอะไร ก็เขียนไปแบบนั้นเลยครับ เช่น “วันนี้ ไม่รู้จะเขียนอะไร มันงงไปหมด นึกไม่ออกจริง …” อะไรทำนองนี้ เชื่อไหมครับ เขียนไปสักพัก เครื่องจะเริ่มติด แล้วเดี๋ยวมันออกมาเป็นบทความดี ๆ บทความหนึ่งเลยทีเดียว ผมไม่ค่อยได้ใช้เทคนิคนี้บ่อย แต่ก็เคยใช้แล้วก็ work ดีเหมือนกันครับ

อันนี้เป็นเทคนิคส่วนตัวนะครับ ลองไปใช้กันดูได้ครับ ถ้าไม่ work ก็เลิก ถ้า work ผมก็ดีใจด้วยนะครับ

อ่านบทความอื่น ๆ ได้ที่ www.NopadolStory.com หรือเข้าร่วมกลุ่ม Line@ ได้ที่ https://line.me/R/ti/p/%40nopadolrompho หรือฟัง Podcast Nopadol’s Story ได้ที่ https://nopadolstory.podbean.com/

5 วิธีการออกหนังสือของตัวเอง โดยไม่ต้องใช้เงินสักบาท

ผมเชื่อว่าหลายคนอาจจะมีคำถามว่า ถ้าอยากออกหนังสือ แต่เราไม่มีเงินทุนเริ่มต้นเลย เราจะออกหนังสือได้ไหม ขอตอบสั้น ๆ ว่า “ได้” ครับ อ้าว แล้ว จะทำได้อย่างไร ผมขอไล่ให้ฟังทีละข้อนะครับ

1. เขียนเสร็จไปออกกับสำนักพิมพ์

คือพอเราเขียนเสร็จแล้ว ถ้าเราคิดว่า งานเขียนเราดีพอ ก็ไปนำเสนอกับสำนักพิมพ์เลยครับ จะว่าไปแล้ว นักเขียนส่วนใหญ่ก็ทำแบบนี้กันทั้งนั้นแหละครับ น้อยคนที่จะมาพิมพ์เอง

แต่ทางเลือกนี้ก็ไม่ใช่ง่าย ๆ เพราะเนื่องจากสำนักพิมพ์เขาต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด ดังนั้น เขาคงต้องดูอย่างละเอียดแหละครับว่า งานเราน่าจะขายได้ไหม แต่ก็อย่าท้อใจครับ ถ้าสำนักพิมพ์แรกปฏิเสธ แต่เรายังคิดว่างานเราดี ก็หาต่อไปเรื่อย ๆ ผมว่าก็คงจะต้องมีสักแห่งแหละครับ ที่เขามีความคิดว่างานเราน่าจะเข้าขั้น (คนเขียน Harry Potter ก็ถูกปฏิเสธมากว่า 10 สำนักพิมพ์ จนกระทั้งมีแห่งหนึ่งยอมตีพิมพ์ให้ และก็เป็นตำนานอย่างที่เราทราบกัน)

2. เขียนเสร็จแล้ว ให้คน Preorder

ถ้าไม่อยากไปติดต่อสำนักพิมพ์ เพราะว่า สำนักพิมพ์อาจจะปฏิเสธ หรือ ขอให้เราเปลี่ยนเนื้อหา ซึ่งเราไม่อยากเปลี่ยน ก็ทำเองก็ได้ครับ แต่ถ้าไม่มีเงินทุน เราก็เขียน concept แล้วก็เปิดให้คน Preorder เอาก็ได้ครับ

ทางเลือกนี้อาจจะเหมาะสำหรับคนที่มีคนติดตามมาบ้างพอสมควร เช่นการเปิด Page ใน Facebook (ซึ่งก็ไม่มีค่าใช้จ่ายอะไร) แล้วเขียนเรื่องที่เราชอบ เราเชี่ยวชาญ ถ้าเราเขียนได้ดีจริง และเรื่องนั้นเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่าน สุดท้ายก็จะมีคนติดตามเรามากขึ้นเอง แต่ถ้ายังมีคนตามน้อย ก็แปลว่าเรายังเขียนได้ไม่ดีพอ อาจจะเป็นสัญญาณอย่างหนึ่งซึ่งเตือนเราก็ได้ครับว่า เราอาจจะยังไม่พร้อม

แต่ถ้ามั่นใจ ก็ลุยเลยครับ ประกาศใน Facebook ส่วนตัว หรือใน Page ของเราเลยว่าเราจะเขียนเรื่องนี้ สารบัญเป็นอย่างนี้ ใครสนใจโอนเงินมาได้ จะพิมพ์จำนวนจำกัดเฉพาะผู้ที่โอนเงินมาเท่านั้น ถ้ามีจำนวนมากพอ เราก็นำเงินจำนวนนั้นแหละครับ ไปทำหนังสือ คือไปออกแบบให้สวย และไปพิมพ์ออกมาเป็นเล่ม

อ้อ และเดี๋ยวนี้ มี Platform หลาย ๆ แห่งก็อนุญาตให้เราทำแบบนี้ได้เหมือนกันนะครับ เช่น ของ Ookbee เขามี option print on demand ให้ คือเราแค่ upload file งานไป แล้ววางจำหน่าย ใครสนใจซื้อ เขาก็พิมพ์ให้ตาม demand อะไรแบบนี้ ก็สะดวกดีครับ ใครสนใจลองเข้าไปดูได้ที่ pod.ookbee.com นะครับ

3. เขียนแล้วจำหน่ายเป็น Ebook

คือถ้าไม่ต้องการทำให้สวยเลย ก็ Word ง่าย ๆ นี่แหละครับ แล้วเข้าไป Load เป็น Ebook ซึ่งปัจจุบันก็มี Platform ให้เราเลือกมากมายเช่น Ookbee เป็นต้น หรือใครมีฝีมือหน่อยก็ทำ Graphic หนังสือเราเองก็ได้ครับ หรือไม่ก็เอายอดจำหน่ายช่วงต้น ไปลงทุนทำหนังสือให้สวยขึ้น แล้ว upload file ขึ้นใหม่ก็ได้อีกเหมือนกันครับ

4. เขียนแล้วหาคนลงทุนให้

อันนี้ก็เป็นอีกรูปแบบหนึ่งนะครับ ถ้าเราคิดว่างานเขียนเราดี และอยากพิมพ์หนังสือเอง แต่ไม่อยากไปพิมพ์กับสำนักพิมพ์ ลองเอางานเขียนเราไปให้คนที่พอมีเงินลงทุน จะเป็นญาติเรา เจ้านายเรา หรือใครก็ตามที่คิดว่าเขาอาจจะสนับสนุนเรา และขอเงินมาลงทุน โดยเราอาจจะบอกว่า เมื่อได้ยอดขายมาแล้ว จะนำมาทยอยคืน หรือ แบ่ง % กันอะไรแบบนี้

อันนี้อาจจะรวมถึงการระดมทุนกับเพื่อน ๆ คนรู้จักด้วยนะครับ เพราะบางทีการไปขอเงินลงทุนจากคน ๆ เดียว เป็นจำนวนมาก เขาก็อาจจะลังเล แต่ถ้าบอกว่า ขอคนละพัน คนละหมื่น แบบหุ้นกัน แล้วมียอดขายแล้ว จะนำมาแบ่งคืนกัน บางทีอาจจะเป็นไปได้ แล้วเผลอ ๆ เพื่อน ๆ ที่ช่วยลงทุนนี่แหละครับ จะช่วยเรา promote หนังสือซะด้วย

5. จัดทำ course แล้วนำเงินที่ได้มาทำหนังสือ

หลายคนคงเคยเห็นว่า นักเขียนบางคนหลังจากออกหนังสือ เขาก็ไปทำ course ในเรื่องที่เขาเขียนนั่นแหละครับ และต้องบอกว่า บางที (และส่วนใหญ่ด้วย) รายได้จากการทำ course มักจะสูงกว่ารายได้จากการออกหนังสือซะด้วยซ้ำ

แต่ถ้าเราไม่มีเงินออกหนังสือล่ะ ก็หาเงินจาก course ก่อนก็ได้ครับ ลองดู เช่น ลองประกาศว่าเราจะสอนเรื่องที่เราจะเขียนหนังสือดู ถ้ามีคนสนใจพอสมควร เขาโอนเงินมาแล้ว ก็นำเงินไปจ่ายค่าสถานที่และค่าจัดการอื่น ๆ และนำเงินส่วนที่เหลือมาสะสมไว้ออกหนังสือ ไม่แน่นะครับ บางทีจัด course 2-3 ครั้ง (หรือแม้กระทั่งครั้งเดียว) ก็อาจจะมีเงินพอที่จะนำไปออกหนังสือด้วยตัวเองแล้วครับ

ลองนำไปปรับใช้ดูนะครับ และจริง ๆ ก็ไม่จำเป็นต้องเลือกข้อใดข้อหนึ่งด้วย ทำหลาย ๆ ข้อพร้อม ๆ กัน ก็อาจจะเป็นไปได้ครับ ขอให้ทุกท่านประสบความสำเร็จในการออกหนังสือเอง โดยไม่ต้องใช้เงินตัวเองสักบาทครับ

อ่านบทความอื่น ๆ ได้ที่ www.NopadolStory.com หรือเข้าร่วมกลุ่ม Line@ ได้ที่ https://line.me/R/ti/p/%40nopadolrompho

5 วิธีแก้ปัญหาเมื่อไม่มีเวลาเขียนหนังสือ

ใช่ครับ ผมเคยบอกว่า ไม่มีเวลา จริง ๆ แปลว่า ไม่สำคัญ แต่ผมก็เข้าใจแหละครับ หลายคนอยากจะมีหนังสือ แต่มันก็ต้องทำงาน ต้องูแลลูก ๆ หรืออื่น ๆ อีก มันก็สำคัญไม่แพ้กัน จะให้ทำอย่างไร ผมมีข้อแนะนำดังต่อไปนี้ครับ

1. ไม่ต้องเขียนเยอะครับ

คือถ้าเราตั้งเป้าว่า วันนี้เราจะเขียน 5 บท อะไรแบบนี้ ส่วนใหญ่ เรามักจะหาเวลาทำแบบนั้นไม่ได้ง่าย ๆ หรอกครับ เอางี้ครับ คิดแค่ว่า วันนี้เราจะเขียนแค่ประโยค 2 ประโยคไปก่อน วิธีที่ผมแนะนำในหนังสือคือเปิด Facebook Page ครับ เราอาจจะ share ข้อความสั้น ๆ แนวคิดสั้น ๆ ของเรา ทุกวัน วันไหนเวลาเยอะ ก็เขียนยาวหน่อย เวลาน้อยก็เขียนสั้นหน่อย หรือ แค่ทักทายก็ยังดี

เชื่อไหมครับ ถ้าเราทำอย่างสม่ำเสมอ สุดท้าย เราก็เอาที่เราเขียนแต่ละวันนั่นแหละครับ มาเรียบเรียงใหม่ เราก็จะได้หนังสือมา 1 เล่มแล้ว

2. หาเวลาเขียน

อันนี้แหละครับ ที่ทุกคนบอกว่า ก็ไม่มีเวลาไง คืองี้ครับ เวลามีเท่ากันทุกคนคือ 24 ชั่วโมง ใช่ครับ ตอนนี้หลายคน อาจจะบอกว่า เวลามันเท่ากัน แต่งานมันไม่เท่ากัน ทำงานก็กลับดึกแล้ว เข้าใจครับ แต่ให้ลองพิจารณาดูดี ๆ ว่า เราพอมีเวลาสัก 5-10 นาทีต่อวัน ไม่ต้องเยอะครับ ขอแค่นี้เอง เช่น ตื่นเช้าขึ้นสัก 10 นาทีได้ไหม ก่อนแปรงฟัน อาบน้ำ มาเขียนอะไรสั้น ๆ ทุก ๆ วัน ผมเชื่อในพลังของความสม่ำเสมอครับ ถ้าเราทำทุกวัน เดี๋ยวมันก็จะได้เองแหละครับ

3. Block เวลาไว้ สำหรับกิจกรรมการเขียน

คือถ้าเราไม่ Block เวลาไว้ เวลาเราก็จะถูกใช้ไปกับสิ่งต่าง ๆ เช่น เพื่อนนัดไปดูหนัง หรือไม่ก็เล่น Facebook เอางี้เลยครับ สมมุติว่าเราทำงาน 5 วันต่อสัปดาห์ หยุดวันเสาร์อาทิตย์ Block เวลาไว้เลย ใส่ไว้ในตารางนัดหมายว่า เสาร์เช้า เวลา 9-12 น. เราจะเขียนหนังสือ ถ้าใครนัดเราช่วงนั้น เราก็ต้องบอกว่าไม่ว่าง อะไรทำนองนี้ครับ แล้วพอถึงเวลา เราก็ต้องเขียนนะครับ อย่าเอาไปนอนเล่นซะล่ะ 555

4. ประกาศให้โลกรู้

ผมมักจะทำเช่นนี้ทุกครั้ง เมื่ออยากทำอะไรให้เสร็จ เช่น งานวิจัย ถ้าอยากให้เสร็จ ผมมักจะขอทุนวิจัยเลย ขอทั้ง ๆ ที่รู้ว่ายุ่งนี่แหละ เพราะถ้าไม่ขอ มันก็ไม่เริ่มสักที เชื่อเถอะครับ พอเราขอทุน ยังไงเราก็ต้องทำ เพราะมันมี deadline กำกับอยู่ การเขียนก็เช่นกันครับ เราอาจจะไม่มีทุนให้กับการเขียน (เอาเป็นว่าส่วนใหญ่ไม่มีละกันครับ ถ้าไม่ใช่อาจารย์มหาวิทยาลัย) แต่เราก็สร้าง commitment ได้จากการประกาศให้หลาย ๆ คนรู้ เช่นใน Facebook นี่แหละครับ ประกาศออกไปเลยว่า สิ้นปีนี้ หนังสือต้องเสร็จ ใครอยากเป็นพยานลงชื่อไว้ใน comment ถ้าไม่เสร็จ จะเลี้ยงข้าวทุกคน อะไรแบบนี้ ผมรับรองว่ามันจะมีพลังผลักดันเรามากขึ้นเอง

5. เขียนช่วงวันหยุด

วันหยุดยาวนี่แหละครับ ที่เป็นโอกาสทองของนัก (อยาก) เขียน คือบางทีวันธรรมดามันหาเวลาไม่ได้ ก็เอาช่วงหยุดยาว เช่น เทศกาลปีใหม่ เทศกาลสงกรานต์ หรือ ไม่ต้องหยุดยาวก็ได้ครับ วันเสาร์ วันอาทิตย์นี่แหละครับ หยิบ Notebook ขึ้นมา แล้วพิมพ์ลงไปเลยครับ เชื่อเถอะครับ พอเราเริ่มแล้ว เดี๋ยวเราก็ทำได้เองแหละครับ

เอา 5 ข้อนี้ไปปรับใช้ดูนะครับ ผมเชื่อว่าทุกคนทำได้ครับ กำลังรออ่านผลงานของทุกท่านอยู่นะครับ

อ่านบทความอื่น ๆ ได้ที่ www.NopadolStory.com หรือเข้าร่วมกลุ่ม Line@ ได้ที่ https://line.me/R/ti/p/%40nopadolrompho

10 วิธีที่ช่วยให้เราเขียนหนังสือได้สำเร็จ

ขออนุญาต share เรื่องเทคนิคการเขียนหนังสือนะครับ
ขอบอกก่อนนะครับว่าเป็นประสบการณ์ส่วนตัว ที่คิดว่าใช้แล้ว work ในมุมมองของผมเอง

แต่ถ้าเทียบกับนักเขียนชั้นนำของประเทศหรือนักเขียนชื่อดังทั้งหลาย รวมถึงอาจารย์อาวุโสและผู้เชี่ยวชาญหลาย ๆ ท่าน ผลงานท่านเหล่านั้นอาจจะมากมายกว่าผมนัก และท่านอาจจะมีเทคนิคที่แตกต่างกันไปนะครับ เอาเป็นว่าถือว่าแลกเปลี่ยนกันแล้วกันครับ

ก่อนอื่นขอบอกผลงานก่อนนะครับ ตอนนี้ ผมมีหนังสือรวมทั้งหมด 10 เล่ม เป็นหนังสือในแนว Pocket Book และแนวตำราวิชาการ รวมถึงบทความที่ตีพิมพ์ใน International Journal และวารสารวิชาการในประเทศไทย รวม ๆ กันน่าจะใกล้ ๆ 100 บทความครับ

เทคนิคที่ผมใช้มีดังต่อไปนี้ครับ

1. เขียนเรื่องที่ชอบ

อันนี้น่าจะเป็นข้อแรก ๆ เลยครับ ที่จะเป็นแรงผลักดันทำให้เราอยากเขียน ถ้าเขียนเรื่องที่เราไม่ชอบ ยิ่งเขียน ยิ่งเบื่อครับ ผมว่ากว่าจะจบสักเล่ม คงยากลำบากน่าดู แต่พอได้เขียนเรื่องที่ชอบ มัน flow ครับ เขียนไปได้เรื่อย ๆ ไม่รู้สึกเบื่อ

ผมชอบเรื่องการวัดผล การวิเคราะห์ข้อมูล ฟุตบอล การลงทุน 2 เรื่องแรกเป็นเรื่องที่สอนหนังสือด้วย ก็เลยมีตำราวิชาการออกมาเยอะ (แต่ก็เขียนอีก version ที่ทำความเข้าใจง่าย ๆ ) ส่วน 2 เรื่องหลัง เรื่องฟุตบอลกำลังเป็น Project สำหรับงานเขียนของผมครับ ส่วนเรื่องการลงทุนก็เคยเขียนไปแล้ว 2 เล่มครับ

2. เขียนเรื่องที่รู้

อันนี้ก็เป็นอีกอันที่ช่วยให้เราเขียนได้ดีครับ คือยิ่งเรารู้มากเท่าไร มันทำให้การเขียนมันง่ายและค่อนข้างมั่นใจ แต่ถ้าเรารู้เรื่องนั้นน้อยเวลาเขียนมันมักจะติดขัด ไม่แน่ใจไปหมด แต่ส่วนใหญ่ข้อที่ 1 กับข้อนี้ มันมักจะไปด้วยกันครับ คือพอเราชอบ เราก็จะอยากค้นคว้าอยู่กับสิ่งนั้นไปเรื่อย ๆ เดี๋ยวเราก็รู้เองครับ

3. เขียนวันละนิด

ใครที่คิดว่าจะหาเวลาหยุดสัก 3 เดือนมาเขียนหนังสือให้เสร็จ 1 เล่ม ผมว่าส่วนใหญ่จะไม่ค่อยได้เขียนหรอกครับ เอาแค่โอกาสจะได้หยุด 3 เดือนรวดมาเขียนหนังสือ ผมว่ายังยากเลย ค่อย ๆ เขียนไปทีละหน้า ถ้าทำได้ทุกวัน ปีหนึ่งก็ได้ 365 หน้า หนังสือเล่มหนึ่งแล้วนะครับ

4. เขียนเค้าโครงหนังสือก่อนที่จะเขียน

ข้อนี้ผมใช้เป็นประจำครับ คือถ้าไม่มีเค้าโครง พอเขียนแล้วมันจะสะเปะสะปะ แล้วบางทีมันซ้ำไปซ้ำมา เทคนิคที่ผมใช้คือผมเขียนจาก PowerPoint ที่ผมใช้สอนนั่นแหละครับ เพราะ PowerPoint ที่ใช้สอน มันถูกปรับและเรียบเรียงมาค่อนข้างดีแล้ว คือผมสอนมาหลายครั้งจนกระทั่งรู้ว่า Flow แบบนี้คนเรียนจะเข้าใจได้ดี พอเขียนหนังสือผมก็ยึดตามนั้นแหละครับ

5. หาคนอ่านงานเขียน

หลายคนอาจจะนึกว่า แหม ใครเขาจะมาอ่านให้ บอกอีกเคล็ดลับให้ครับ Facebook Page หรือ Blog นี่แหละครับ
เป็นเครื่องวัดความสามารถในงานเขียนเราได้เป็นอย่างดีเลยครับ

ทุกวันนี้ ผมเขียนบทความเกือบทุกวันใน Page หรือ Blog ต่าง ๆ มันทำให้เราทราบครับว่า บทความเรื่องใดน่าสนใจ
เรื่องใดน่าเบื่อ ดูจากจำนวน people reached ใน post ทุก post มันเป็นข้อมูลที่ดีมากครับ

พอเราทราบว่าบทความแบบไหนเป็นที่สนใจ ก็พยายามเขียนให้ได้แนวนั้นแหละครับ บทความไหน Post ไปแล้วเงียบ ๆ ก็ลองดูว่าเป็นเพราะอะไร มันจะปรับปรุงงานเขียนเราได้นะครับ

ข้อที่ 5 นี้ ใช้ร่วมกับข้อที่ 3 ได้เลยครับ เรา Post วันละบทความ ปีหนึ่งก็ได้หนังสือเล่มหนึ่งแล้วครับ

6. หาแรงจูงใจในการเขียน

ถึงแม้เราจะเขียนเรื่องที่ชอบหรือเรื่องที่รู้ มันก็อาจจะมีบางช่วงที่มันดูเบื่อ ๆ แล้วอยากจะเลิกเขียน
พยายามหาแรงจูงใจครับ การเขียนใน Facebook Page หรือ Blog ผมก็ว่าเป็นแรงจูงใจที่ดีนะครับ
ส่วนหนึ่งคือมันเหมือนเราเขียนเสร็จปั๊บ มีคนอ่านทันที

ถ้าเขียนใน Word เงียบ ๆ คนเดียวมันก็เหงา ๆ แล้วไม่นานก็เบื่อ แต่ใน Facebook Page หรือ Blog เขียนเสร็จแล้วมีคนอ่าน มีคนถาม มีคนชอบ ผมว่ามันจูงใจดี อีกอย่างจำนวน Like ของ Page หรือคนที่ติดตามใน Blog พอมันเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ มันก็มีกำลังใจในการเขียนเพิ่มขึ้น

Page หลาย ๆ Page จริง ๆ ผมก็เปิดมานานนะครับ แต่ก่อนก็ไม่ได้เขียนทุกวัน ออกแนวเอาข้อมูลจาก Web ต่าง ๆ มา share ซะมากกว่าจำนวน Like ก็แค่หลักร้อยเกือบ ๆ พัน อยู่อย่างนั้นมาตั้งนาน

พอเริ่มเขียนจริง ๆ จัง ๆ จากหลักร้อย ตอนนี้เป็นหลักหลายหมื่น Likes แล้วครับ
ยิ่งอยากเขียนใหญ่ เพราะเหมือนเราได้เขียนให้คนหลายหมื่นคนได้อ่าน(ถึงจะรู้ว่าส่วนใหญ่อาจจะไม่ได้เห็น Post ด้วยซ้ำ แต่เข้าข้างตัวเองไว้ก่อนครับ 5555)

7. เขียนเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อผู้อ่าน

คือนอกจากเป็นสิ่งที่เราชอบและรู้แล้ว ต้องมองในมุมผู้อ่านด้วยนะครับว่าเขาจะได้ประโยชน์อย่างไร บางทีในบทความเราอาจจะต้องสรุปให้เห็นว่าประโยชน์ที่ได้รับจากบทความนี้ เอาไปใช้อะไรได้บ้าง

จากประสบการณ์ผมนะครับ ถ้าบทความไหน อ่านแล้วผู้อ่านรู้สึกว่าได้ประโยชน์มาก ๆ บทความนั้นมักจะถูก Like และ Share จำนวนมาก ลองเอามาเป็นตัวอย่างในการเขียนรอบต่อไปครับ

8. เขียนให้เข้าใจง่าย ๆ และน่าสนใจ

ถ้าหลีกเลี่ยงได้อย่าใช้ศัพท์เทคนิคที่ยากเกินความจำเป็น การใช้ตัวอย่างประกอบในการเขียน จะทำให้คนอ่านเข้าใจได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ตัวอย่างนี่แหละครับ จะเพิ่มความน่าสนใจในงานเขียนของเรา

อ้อ อีกอย่างครับ พยายามเขียนให้สั้นเข้าไว้ (อย่างข้อเขียนนี้ผมก็ว่ายาวไปสักหน่อย) ลองอ่านงานเขียนเราดูครับ
แล้วพยายามตัดคำที่มันฟุ่มเฟือยไม่จำเป็นออก

ตัวอย่างนะครับ (มีตัวอย่างละ 5555) ผมมักจะติดเขียนคำว่า “ทำการ” เช่น เราจะต้อง “ทำการ” วิเคราะห์ จริง ๆ คำนี้ ตัดออกไปก็ไม่ได้ทำให้ความหมายเปลี่ยนไปเลย “เราจะต้องวิเคราะห์” ก็ได้ความหมายเหมือนเดิม จริงไหมครับ

อีกนิดครับ ระวังเรื่องตัวสะกด การพิมพ์ต่าง ๆ ด้วยครับ ถ้าเล็กน้อยก็คงไม่เป็นไร แต่ถ้าเจอบ่อย ๆ คนอ่านจะพาลเบื่อเอาได้นะครับ

9. อ่านเยอะ ๆ

ผมว่าการอ่านหนังสือมีความสัมพันธ์กับการเขียนหนังสือโดยตรงเลยครับ ยิ่งเราอ่านเยอะเท่าไร เรายิ่งมี Idea ในการเขียนมากเท่านั้น ถ้ารู้สึกว่าไม่รู้จะเขียนอะไรดี ลองกลับมาอ่านหนังสือดูครับ เดี๋ยวก็ได้ Idea มาเขียนครับ

10. อยู่ในกลุ่มนักเขียนหรือคนที่ชอบเขียนหนังสือ

ผมโชคดีที่ในที่ทำงานก็รู้จักกับอาจารย์ที่มีผลงานทางวิชาการอย่างต่อเนื่อง เขียนหนังสือคนละหลาย ๆ เล่ม
และนอกจากนั้นผมยังไปสัมมนา เรียนหนังสือเกี่ยวกับการเขียน นอกจากจะได้ทราบเทคนิคการเขียนใหม่ ๆ แล้ว
ยังรู้จักกลุ่มเพื่อนใหม่ ๆ ที่ชอบในการเขียน พอเห็นคนอื่นเขียน มันก็จะมีแรงจูงใจในการเขียนเพิ่มมากขึ้นครับ

คงประมาณนี้ครับ ถ้าเห็นเป็นประโยชน์จะ share ให้ท่านอื่น ๆ ด้วยก็ยินดีนะครับ 🙂 ขออนุญาตกลับไปเขียนหนังสือต่อละครับ 🙂

อ่านบทความอื่น ๆ ได้ที่ www.NopadolStory.com หรือเข้าร่วมกลุ่ม Line@ ได้ที่ https://line.me/R/ti/p/%40nopadolrompho

6 วิธีที่ทำให้คนส่งต่อข้อความที่เราต้องการ

เคยอยาก Post อะไรแล้ว อยากให้คน share เยอะ ๆ ไหมครับ หรือมี Product อะไร ที่ต้องการให้บอกกันปากต่อปากโดยอาจจะไม่ต้องจ่ายเงินโฆษณาซะด้วยซ้ำ

วันนี้ผมมีข้อสรุปปัจจัย 6 ประการที่ทำให้คนส่งต่อข้อความ โดยข้อมูลเหล่านี้มาจากหนังสือ Contagious ที่
แต่งโดยอาจารย์จาก Wharton Business School ครับ

ปัจจัย 6 ประการนี้มีตัวย่อว่า STEPPS

1. S = Social Currency

คนเราจะส่งต่อข้อความก็ต่อเมื่อ การส่งต่อนั้น ทำให้เขารู้สึกว่าเขาเป็นคนสำคัญ บางทีข้อความที่ดูเหมือนเป็นความลับหรือเป็น Trick ต่าง ๆ ก็ยิ่งทำให้คนส่งต่อมากขึ้น

2. T = Trigger

คนเราส่งต่อข้อความ เพราะมีบางอย่างกระตุ้นให้เรานึกถึง ทางการตลาด เขาจึงพยายาม Link สิ่งต่าง ๆ ที่พบเห็น
ในชีวิตประจำวัน เข้ากับ Brand ของตัวเอง เช่น Beer Budweiser พยายามทำ Campaign ที่มีคำว่า “What’s up”
เพราะพอคนทักทายกันด้วยคำนี้ เขาก็จะนึกถึง Budweiser ทันที

3. E = Emotional

When we care, we share ข้อความที่เราต้องการให้เกิดการส่งต่อ ต้องเป็นข้อความที่กระตุ้นทำให้เกิดอารมณ์ จะเป็นอารมณ์ทางบวกหรือลบก็ได้ แต่ต้องเป็นอารมณ์ที่ทำให้คนอ่าน เกิดแรงกระตุ้น เช่น ตื่นเต้น ดีใจ หรือโกรธ

4. P = Public

คนเราชอบการเลียนแบบ แต่เขาจะเลียนแบบไม่ได้ถ้าเขาไม่เห็น ดังนั้น ถ้าต้องการให้เกิดการบอกต่อ เราจะต้องทำให้คนอื่นสังเกตเห็นสิ่งที่เราต้องการแบ่งปันให้ได้ นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมร้านอาหารหลายร้านจึงทำผนังให้เป็นกระจก เพื่อให้คนเดินผ่านไปมาเห็นว่ามีคนมากินอาหารที่ร้านมากขนาดไหน และเกิดการบอกต่อ

5. P = Practical Value

เรา share ข้อความต่าง ๆ เพราะว่ามันจะมีประโยชน์กับผู้อื่น ดังนั้นถ้าต้องการสร้างข้อความที่ต้องการให้เกิดการส่งต่อ
ลองคิดดูว่า ข้อความเหล่านั้นจะมีประโยชน์กับผู้อื่นได้อย่างไรนะครับ

6 S = Story

คนส่วนใหญ่ชอบการเล่าเรื่องราว และชอบแบ่งปันเรื่องราวต่าง ๆ เช่น นิทานอีสป ที่อยู่มาหลายร้อยปี เพราะมันเป็นเรื่องราว ถ้าอีสป เขียนหนังสือออกมาเป็นกฎ 100 ข้อในการดำเนินชีวิต ผมว่าป่านนี้ก็คงไม่มีใครพูดถึงแล้ว จริงไหมครับ

ลองนำ 6 ข้อนี้ไปปรับใช้ดูนะครับ

อ่านบทความอื่น ๆ ได้ที่ www.NopadolStory.com หรือเข้าร่วมกลุ่ม Line@ ได้ที่ https://line.me/R/ti/p/%40nopadolrompho

10 วิธีหาเวลาอ่านหนังสือ

ขอมาคุยเรื่องการอ่านหนังสือนะครับ ระยะหลังได้รับคำถามว่าทำไมผมถึงได้อ่านหนังสือได้เยอะจัง

ต้องขอออกตัวก่อนนะครับ จริง ๆ หากเทียบโดยเฉลี่ยอาจจะเยอะนะครับ
คือถ้าหนังสือไทย แบบ pocket book น่าจะประมาณสัปดาห์ละ 2-3 เล่ม
ถ้าเป็นหนังสือภาษาอังกฤษ ประมาณสัปดาห์ละเล่ม แต่ถ้าเทียบกับนักอ่านหนังสือตัวจริง
เขาอ่านได้เยอะกว่าผมมากมายครับ

ผมว่าผมเน้นการซื้อหนังสือซะมากกว่า 5555

แต่เอาเป็นว่ามา share เทคนิคต่าง ๆ แล้วกันนะครับ ถือว่าแลกเปลี่ยนกัน

ผมมีเทคนิคที่บางอันอาจจะเหมือน บางอันอาจจะต่างจากท่านอื่น ๆ แต่ผมใช้แล้ว work มา share ครับ

1. ต้องอ่านในสิ่งที่ชอบและสนใจ

ผมว่าข้อนี้สำคัญมากครับ อ่านสิ่งที่เราไม่ชอบ ไม่มีทางอ่านได้เยอะ และอ่านได้เร็วครับ อ่านสิ่งที่เราชอบ บางทีอ่านรวดเดียว 2 ชั่วโมงจบเลยครับ หาอ่านสิ่งที่ชอบครับ อะไรก็ได้ ดีหมดแหละครับ

2. ต้องหาเวลาที่สงบในการอ่าน

ผมจะมี lot เวลาการอ่านหนังสืออยู่ 2 lot เวลา ใน 1 วันครับ คือก่อนเข้านอน ตอนลูก ๆ ทำการบ้านกันเสร็จแล้ว และกำลังดูการ์ตูนหรือเล่นกันอยู่ เป็นช่วงที่เขาไม่ได้ต้องการเรามากนัก ช่วงนี้ สงบเงียบครับ แล้วอ่านก่อนนอน มีหลายท่านบอกว่า มีประโยชน์มากครับ (ทั้ง ๆ ที่เราหลับ จิตใต้สำนักก็รับข้อมูลไปใช้เป็นประโยชน์อะไรประมาณนี้)

กับอีก Lot เวลาหนึ่งคือช่วงเช้ามืดครับ (ผมตื่นประมาณตีห้าทุกเช้า) ช่วงนี้ เงียบมาก และสำหรับผมเหมาะมากในการอ่านหนังสือ อ่านแล้วได้ Idea ใหม่ ๆ ก่อนเริ่มวันใหม่ สดชื่นพอ ๆ กับการออกกำลังกายตอนเช้าเลยครับ

3. มีหนังสือเตรียมไว้ทุกที่ ที่เราอยู่

ในห้องนอน ห้องนั่งเล่น ห้องทำงาน ในรถ ผมจะมีหนังสืออย่างน้อย 1 เล่มเสมอ ยิ่งเวลาที่เราต้องไปรออะไร เช่น รอรับลูกกลับจากโรงเรียน การอ่านหนังสือจะทำให้เวลารอนั้นเป็นไปได้อย่างเพลิดเพลินมาก อ่านได้ไม่กี่หน้า เดี๋ยวก็หมดเล่ม เชื่อผม แต่ก็ต้องเป็นหนังสือที่เราชอบนะครับ

4. อ่านหนังสือหลาย ๆ เล่มพร้อม ๆ กัน

อันนี้อาจจะไม่ได้เหมือนกับคนอื่น ๆ นะครับ ผมชอบอ่านหลาย ๆ เล่มพร้อม ๆ กัน เพราะบางที อ่านเรื่องเดียวติด ๆ กัน
มันก็มีเบื่อบ้าง ผมก็จะเปลี่ยนไปอ่านเล่มอื่น มันก็กลับสนุกขึ้นมา แต่ถ้าชอบเล่มไหนมาก ผมก็อ่านเล่มนั้นรวดจนจบก็มี
อันนี้สำหรับคนเบื่อง่ายครับ อ่านหลายเล่ม คนละแนวกัน ช่วยได้เยอะครับ

5. อ่าน E-Book ในมือถือหรือ Tablet

อันนี้เป็นอีกเทคนิคหนึ่งที่จะทำให้เราอ่านหนังสือได้เยอะ ในมือถือและ Tablet ผมมีหนังสือซื้อจาก Amazon มาหลายเล่ม แทนที่จะอ่านข้อความใน Facebook เล่น Line ผมอ่าน Kindle ในมือถือ เพลินดีครับ แล้วกลับมาอ่านใหม่ง่ายอีกต่างหาก เพราะมันเปิดหน้าล่าสุดที่เราอ่านเลย

6. ฟัง Audio book ในรถ

อันนี้เหมาะมากกับสภาพจราจรในกรุงเทพครับ ลองคิดดูนะครับว่าวัน ๆ หนึ่งเราอยู่ในรถกี่ชั่วโมง หนังสือบางเล่มใช้เวลาฟังไม่กี่ชั่วโมงก็จบเล่มแล้วครับ ข้อจำกัดอย่างหนึ่งคือ Audio book ส่วนใหญ่เป็นภาษาอังกฤษ ใครที่คล่องภาษาก็ง่ายหน่อย แต่มองอีกมุม ถ้าไม่คล่อง ผมว่า ก็เป็นการฝึก Listening ไปในตัวเลยนะครับ แต่เดี๋ยวนี้ก็มีเป็นภาษาไทยเยอะขึ้นแล้วนะครับ ลองหาอ่าน เอ้ย ฟังกันดูได้ครับ

7. คบเพื่อน ๆ ที่อ่านหนังสือเยอะ

อันนี้เป็นแรงบันดาลใจครับ ผมมีกลุ่มที่เป็นนักเขียน นักคิด และลูกศิษย์หลายคนที่เขาอ่านหนังสือกันเป็นล่ำเป็นสัน
ชอบพูด ชอบคุยกันเรื่องหนังสือตลอด หนังสือหลายเล่มที่ซื้อมาอ่าน ก็เพราะได้เข้าไปคุยเรื่องหนังสือนี่แหละครับ

8. อ่านแล้วคิดว่าใช้ประโยชน์กับชีวิตเราได้อย่างไร

อันนี้ก็ทำให้เราอยากอ่านหนังสือครับ มันเหมือนกับว่าเราได้รู้อะไรบางอย่างที่จะทำให้เราดีขึ้น ลองพยายามคิดว่าสิ่งที่เราอ่านจะมีประโยชน์กับเราอย่างไร แล้วมันจะทำให้การอ่านของเราสนุกขึ้นเยอะครับ

9. ยิ่งงานยุ่ง ยิ่งต้องอ่าน

อันนี้ดูขัดกับความเป็นจริงนะครับ เพราะผมว่าคนส่วนใหญ่จะยุ่งมากจนไม่มีเวลาอ่าน เพราะเรามองการอ่านเป็นงานอดิเรกที่มาอันดับท้าย ๆ เสมอ และอะไรที่อยู่ท้าย ๆ มักจะเป็นอะไรที่ไม่ได้ทำ แต่เราไม่เคยยุ่งจนไม่ได้กินข้าวติดกัน 3 วันใช่ไหมครับ เพราะเราเชื่อว่า ไม่กินข้าว เราแย่แน่ แต่เราไม่คิดว่า การไม่อ่านหนังสือจะทำให้เราแย่อย่างไร

อยากแชร์เรื่องนี้ครับ แต่ก่อนผมก็คิดว่างานเยอะมาก ทั้งสอน ทั้งวิจัย ยังทำแทบไม่ทัน จะเอาเวลาที่ไหนมาอ่าน
แต่พอปรับความคิด และ set เวลาอ่านหนังสือ เหมือน set เวลากินข้าว งานไม่เสร็จยังไง ก็ต้องอ่านตามเวลาที่กำหนด

สิ่งที่เกิดขึ้นคือหนังสือก็ได้อ่าน งานก็เสร็จและที่น่าประหลาดใจคืองานเสร็จมากขึ้น เร็วขึ้น เมื่อเทียบกับก่อนหน้านี้ที่ผมไม่ได้อ่านอีกครับ

ทำไม เป็นเช่นนั้นครับ เพราะหนังสือหลายเล่มมีประโยชน์มาก ทำให้เราจัดลำดับการทำงานได้ดีขึ้น เอาแค่ Eat That Frog ของ Bryan Tracy เล่มเดียว ที่พูดถึงเทคนิคการจัดการเวลา ผมก็ว่าคุ้มแล้วครับ

10. เลือกหนังสืออ่าน

เรามีเวลาจำกัดครับ เราอ่านหนังสือไม่ได้หมดทุกเล่มหรอกครับ เลือกอ่านที่เราชอบ เราสนใจ และมีประโยชน์
อะไรที่ไม่ใช่ อย่าเสียเวลาไปอ่านเลยครับ เราจะได้มีเวลาอ่านเยอะครับ

คงมีประมาณนี้ครับ ขอบคุณครับที่เสียเวลาอ่านหนังสือ มาอ่านเรื่องนี้ ถ้าเห็นว่ามีประโยชน์จะ share ให้ท่านอื่น ๆ ด้วย ก็ยินดีนะครับ ขอให้อ่านหนังสือกันให้สนุกนะครับ

อ่านบทความอื่น ๆ ได้ที่ www.NopadolStory.com หรือเข้าร่วมกลุ่ม Line@ ได้ที่ https://line.me/R/ti/p/%40nopadolrompho